x close

วิธีดื่มน้ำแบบอายุรเวท ดื่มให้เป็นก็ห่างไกลโรค

วิธีดื่มน้ำแบบอายุรเวท

          ประโยชน์ของการดื่มน้ำ ช่วยรักษาโรคได้ แต่เชื่อไหมหลายคนยังดื่มน้ำไม่เป็น จนเสี่ยงต่ออาการเจ็บป่วยได้ง่าย !

          โรคพื้นฐานที่เจอกันบ่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดหัว อาการอ่อนเพลีย เซื่องซึม หรือรู้สึกง่วงนอนตลอดเวลา จริง ๆ แล้วอาจเป็นเพราะเราดื่มน้ำไม่ถูกวิธี หรือเรียกง่าย ๆ ว่าดื่มน้ำไม่เป็นนั่นแหละ ซึ่งจะว่าไปแค่การดื่มน้ำก็ดูเป็นรื่องพื้นฐานง่าย ๆ ที่เราทำกันมาจนเคยชิน แต่กลับลืมนึกถึงความสำคัญจนพาตัวเองไปเสี่ยงต่อโรค และอาการเจ็บป่วยอื่น ๆ ดังนั้นเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้นของทุกคน นิตยสาร Lisa จึงขออาสาพาทุกคนไปเรียนรู้การดื่มน้ำแบบอายุรเวท แค่ดื่มน้ำให้เป็นก็ห่างไกลโรคได้ง่าย ๆ

          โรคพื้นฐานปัจจุบันมักเกิดขึ้นจากการใช้ชีวิตและการรับประทานอาหารผิด ๆ มากไปกว่านั้น ที่น่าตกใจก็คือคนส่วนใหญ่ยังดื่มน้ำไม่เป็น ! นี่เป็นเรื่องง่ายที่เรามักละเลยจนกลายเป็นเรื่องยาก เรื่องธรรมชาติที่เรามักไปฝืนธรรมชาติ และกว่าจะรู้ตัวก็เป็นโรคเสียแล้ว ซ้ำร้ายพอรู้ตัวว่าไม่สบาย เรากลับไปหาหมอ เสียเงินซื้อยามารับประทาน แต่ลืมหันกลับไปมองอาการว่าโรคที่เป็นมีสาเหตุมาจากอะไร และการรู้จักแก้ที่ต้นเหตุสำคัญมากเพียงใด

วิธีดื่มน้ำแบบอายุรเวท

          เมื่อเป็นโรค บางทีเราอาจต้องใช้หลักธรรมชาติมาช่วย เช่นเดียวกับหลักธรรมชาติที่มีมานานหลายพันปีอย่างศาสตร์อายุรเวท ที่เชื่อในการรักษาความสมดุลของธาตุทั้ง 5 ในร่างกายเพื่อให้เราสุขภาพดี ทั้งธาตุดิน (เนื้อหนัง, อวัยวะ), ธาตุน้ำ (เลือด, น้ำเหลือง), ธาตุลม (อากาศธาตุ), ธาตุไฟ (ความร้อน พลังงาน) และความว่างเปล่า

          ธาตุทั้งหมดจะทำงานร่วมกันตามสถานการณ์และช่วงเวลาที่แตกต่างกันไป แต่ที่สุดแล้วการทำงานของทุกธาตุต้องอยู่บนความพอดี ไม่มากไม่น้อย ไม่เช่นนั้นแล้วเราจะเกิดการเจ็บไข้ได้ป่วย ซึ่งวิธีแก้ก็คือ การทำให้ธาตุนั้น ๆ ฟื้นฟูขึ้นมาอีกครั้ง ผ่านการปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย การกินสมุนไพร และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งแน่นอนว่าการดื่มน้ำเป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญ หากยังไม่เชื่อลองมาดูจากอาการเหล่านี้

          //img.kapook.com/image/icon/48be2683.gif สิ่งที่เราทำ : ดื่มกาแฟเย็น ชาเย็นตอนเช้า

          //img.kapook.com/image/icon/48be2683.gif สิ่งที่เป็น    : รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่สดชื่นไปทั้งวัน

          เป็นเรื่องชินตากันใช่ไหม ที่หนุ่มสาวออฟฟิศเดินถือแก้วกาแฟเย็น ชาเย็น หรือนมเย็นในช่วงเช้า ๆ ก่อนเข้าออฟฟิศ กินคู่กับขนมปังสักก้อน หรือข้าวเหนียวหมูปิ้งให้พออิ่มท้อง ปากบอกว่ารู้สึกดี อร่อยถูกใจ แต่พอผ่านไปกลับรู้สึกไม่สบายตัว ไม่สบายท้อง ไม่กระปรี้กระเปร่า ซึ่งในทางอายุรเวทช่วงเวลาเช้า ๆ แบบนี้ คือช่วงเวลาที่ร่างกายต้องการความอบอุ่น การเติมน้ำเย็นเข้าสู่ร่างกายจึงเป็นเรื่องที่ควรหลีกเลี่ยง

          พูดให้ถูกต้องก็คือ ยามเมื่อร่างกายตื่น ควรที่จะค่อย ๆ ขยับลุกจากเตียง ดื่มน้ำอุณหภูมิห้องสักแก้วหลังตื่น (ก่อนแปรงฟัน) หรืออาจดื่มน้ำอุ่นบีบมะนาวเล็กน้อยสักแก้วเพื่อช่วยดีท็อกซ์ร่างกาย และเพื่อให้ขับถ่ายดีขึ้น จากนั้นจึงอาบน้ำ แล้วอย่าลืมที่จะรับประทานอาหารเช้า ซึ่งมื้อเช้าก็ควรมีสารอาหารครบทุกหมู่ เพื่อเติมพลังให้พร้อมใช้ได้ทั้งวัน ตามด้วยน้ำไม่เย็นสักเล็กน้อย หรือน้ำอุ่นเพื่อส่งเสริมการย่อย หรืออยากจะดื่มกาแฟหรือชาอุ่น ๆ สักแก้วหลังจากที่อาหารย่อยสักพักก็ไม่ว่ากัน

วิธีดื่มน้ำแบบอายุรเวท

          ทั้งนี้ ชาและกาแฟไม่เหมาะอย่างยิ่งในช่วงท้องว่าง เพราะจะเร่งให้ร่างกายหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร การดื่มหลังอาหารจึงเป็นเรื่องที่ถูกแนะนำมากกว่า

          การดื่มน้ำเย็นจัดในช่วงเช้าไม่เพียงทำให้ร่างกายต้องเผาผลาญมากขึ้นเท่านั้น แต่น้ำเย็นจะเข้าไปจับไขมันของอาหารที่เรากินและทำให้ย่อยยากอีกด้วย มากไปกว่านั้น ไขมันเหล่านี้จะไปเกาะตามทางเดินอาหาร โดยเฉพาะตามรอยหยักของลำไส้ ซึ่งเป็นผลให้ดูดซึมสารอาหารไม่เต็มที่ เกิดไขมันตกค้าง และเป็นสาเหตุที่ทำให้เรารู้สึกไม่สดชื่น อ่อนเพลีย ขาดความกระปรี้กระเปร่านั่นเอง ดังนั้นการดีท็อกซ์ลำไส้จึงถูกออกแบบมาเพื่อสิ่งนี้ แตกต่างจากคนที่มีลำไส้เป็นปกติที่มักจะมีความแข็งแรงและสดชื่นมากกว่า

          //img.kapook.com/image/icon/48be2683.gif สิ่งที่เราทำ : ดื่มนมและน้ำก่อนนอน

          //img.kapook.com/image/icon/48be2683.gif สิ่งที่เป็น    : นอนฝันร้าย ตื่นแล้วรู้สึกอ่อนล้า

          เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันเสมอว่าการดื่มน้ำก่อนนอนเป็นเรื่องที่ควรทำหรือไม่ คำตอบคือ ศาสตร์อายุรเวทเชื่อในเรื่องนาฬิกาของร่างกาย ที่เราควรทำให้ร่างกายตื่นตัวในช่วงพระอาทิตย์ขึ้น และควรผ่อนคลายในช่วงพระอาทิตย์ตก เท่ากับว่าการรับประทานอาหารเย็นไม่ควรเกินเวลา 18.00 น. เพราะร่างกายกำลังเข้าสู่ช่วงการพักผ่อน  คือให้กระเพาะอาหารได้ย่อยสัก 2-3 ชั่วโมง แล้วหลังจากนั้นก็ควรหยุดรับอาหารทุกชนิดเพื่อให้ระบบย่อยพักการทำงาน และให้การนอนหลับเข้าสู่ภวังค์อย่างเต็มที่

          แนวทางสมัยใหม่ที่เราคุ้นหูอาจแนะนำต่างไปว่า ก่อนนอนนั้นควรดื่มน้ำให้มาก เพื่อให้พร้อมกับการขับถ่ายตอนตื่น แต่อายุรเวทไม่ได้มองเช่นนั้น เพราะแทนที่ธาตุไฟจะได้พัก กลับต้องตื่นมาทำงานในการย่อย นอกจากนั้นแทนที่จะได้ฟื้นฟูตัวเองตามเวลาที่นาฬิการ่างกายกำหนดไว้ ซึ่งก็คือเวลาประมาณสี่ทุ่ม ก็ยังต้องทำงานหนักและกระตุ้นให้เราลุกขึ้นมาปัสสาวะระหว่างนอน ทำให้การพักถูกขัดจังหวะไปด้วย ทางที่เหมาะกว่าจึงเป็นการหยุดดื่มน้ำก่อนนอน (หากกระหายจริง ๆ การจิบน้ำอุ่นเพียงเล็กน้อยนั้นทำได้) เพื่อให้ร่างกายได้หลับลึก และให้ร่างกายใช้ช่วงเวลานี้ซ่อมแซมตัวเองอย่างเต็มที่ ก่อนที่จะตื่นมาแล้วดื่มน้ำตามปกติ

          การทำงานของร่างกายนั้นซับซ้อน หากเราสังเกตตัวเองและหมั่นฟังเสียงภายในร่างกาย และการดื่มน้ำก็เป็นเรื่องใกล้ตัวอย่างมากที่เราสามารถปรับเปลี่ยนได้ ดื่มให้พอดีกับขนาดร่างกาย ดื่มมากขึ้นได้หากออกกำลังกายหรือกระหาย รวมทั้งจิบน้ำระหว่างวันบ่อยหน่อยให้เลือดไหลเวียนดี ทั้งหมดนี้ก็เพื่อพื้นฐานสุขภาพที่ดี โรคภัยเล็กน้อยจะได้ไม่มากวนใจ

          //img.kapook.com/image/icon/48be2683.gif สิ่งที่เราทำ : ดื่มน้ำมาก ๆ ระหว่างมื้ออาหาร

          //img.kapook.com/image/icon/48be2683.gif สิ่งที่เป็น    : ปวดหัว คอ บ่า ไหล่

          ในทางอายุรเวท ธาตุที่จะทำงานหลัก ๆ หลังมื้ออาหารคือธาตุไฟ มีหน้าที่ย่อยอาหารและแปรเปลี่ยนเป็นพลังงานต่อไป (ลองสังเกตดูสิ เวลาเราหิวตัวจะร้อน เพราะธาตุไฟเตรียมอุ่นตัวเองก่อนเริ่มทำงาน) คล้ายเตาปฏิกรณ์และส่งพลังงานให้ร่างกายไว้ใช้ระหว่างวัน แปลว่าหากเราทำลายการทำงานของไฟ (ด้วยน้ำมาก ๆ หรือน้ำเย็น ๆ) ร่างกายก็จะเสียความสมดุลในทันที ซึ่งในที่นี้ไม่ต่างจากการเอาน้ำต้มไฟนั่นเอง ทั้งยังเป็นเรื่องที่เราทำกันจนเสียนิสัยอีกด้วยกับการดื่มน้ำมาก ๆ หลังอาหาร รวมทั้งการดื่มน้ำเย็นจัด หรือน้ำอัดลมระหว่างมื้อ

วิธีดื่มน้ำแบบอายุรเวท

          หากเรายังดื่มน้ำเย็นอะไรจะเกิดขึ้นหรือ ? ผลก็คือร่างกายจะหยุดการย่อยไว้ก่อน คล้าย ๆ กระเพาะช็อกเกร็งจากความเย็น แล้วให้ธาตุไฟอุ่นน้ำ และอาหารในท้องทั้งหมดก่อน จากนั้นค่อยเริ่มกระบวนการย่อย ซึ่งเท่ากับว่าระหว่างที่รอให้ท้องอุ่นนั้น อาหารอาจเกิดการบูดเน่า ทำให้เกิดแก๊สและลม ดังนั้นร่างกายที่มีลมกระจายอยู่ทั่วร่างกาย อาจถูกระบายออกด้วยการผายลมบ้าง เรอบ้าง และบางส่วนที่ระบายออกไม่ได้ก็จะกระจายไปตามเส้นต่าง ๆ ซึ่งสิ่งนี้เองที่เป็นสาเหตุของการปวดหัว บ่า ไหล่ แบบไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งน้อยคนที่จะรู้ว่าลมในร่างกายทำให้เราป่วยได้ การรักษาในแผนตะวันออกจึงมีเรื่องการนวดรีดเส้นเข้ามาช่วยนั่นเอง

          เมื่อรู้แล้วว่าร่างกายต้องการไฟในการย่อย การดื่มน้ำระหว่างหลังมื้อที่เหมาะสมจึงเป็นการดื่มน้ำอุณหภูมิปกติ และดื่มเล็กน้อยแค่พอช่วยย่อย จากนั้นทิ้งให้ร่างกายอบอุ่นและให้ไฟทำงานตามธรรมชาติ เมื่อการย่อยทำงานตามปกติแล้วค่อยดื่มน้ำมาก หรือดื่มน้ำเย็นระหว่างวันแทน ส่วนคนที่มีอาการปวดแบบนี้บ่อย ๆ อาจลองสังเกตการดื่มน้ำของตนเองดูว่า ดื่มน้ำมากหรือดื่มน้ำเย็นระหว่างมื้อหรือไม่ รวมทั้งคนที่ท้องอืด ท้องเฟ้อบ่อย ๆ ควรปรับเปลี่ยนวิธีดื่มน้ำ เพราะลมเกิดขึ้นนั้นมีสาเหตุจากการดื่มน้ำไม่เป็น พอ ๆ กับระบบย่อยที่ผิดปกตินั่นเอง

          ทั้งนี้การดื่มน้ำเย็นนั้นทำได้ แต่ควรเป็นระหว่างวัน ทางที่ดีที่สุดนั้นควรดื่มน้ำอุณหภูมิปกติให้ได้ไปทั้งวันเพื่อสุขภาพที่สมดุลแข็งแรง


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
   

              
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิธีดื่มน้ำแบบอายุรเวท ดื่มให้เป็นก็ห่างไกลโรค อัปเดตล่าสุด 15 กันยายน 2558 เวลา 08:54:09 44,516 อ่าน
TOP