งูสวัด กับ 20 คำถามคาใจ โรคนี้เป็นอย่างไรได้รู้กัน

          งูสวัด อาการทางผิวหนังที่คนมีความเชื่อว่าหากเป็นรอบตัวแล้วจะทำให้เสียชีวิต แต่จริง ๆ แล้วโรคนี้เป็นอย่างไรกันแน่ มาเรียนรู้กันผ่าน 20 คำถามนี้

งูสวัด

          โรคงูสวัด โรคผิวหนังที่ใครต่อใครต่างหวาดกลัวเนื่องจากมีความเชื่อมาตั้งแต่โบราณแล้วว่าหากเป็นงูสวัดแล้ว มีตุ่มน้ำใส ๆ ขึ้นจนเต็มรอบเอวอาจจะทำให้เสียชีวิตได้ ทั้ง ๆ ที่จริงแล้วเจ้าโรคนี้ไม่ได้อันตรายหรือร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต ได้เวลาทำความรู้จักกับโรคงูสวัดให้มากขึ้นอีกนิดผ่าน 20 คำถามที่น่าสนใจ จะอ่านไว้ประดับความรู้ ไว้สังเกตอาการ หรือจะไว้ป้องกันก็ล้วนแต่ดีกับตัวเองทั้งนั้น ได้รู้กันมากขึ้นจะได้เลิกกลัวความเชื่อเก่า ๆ กันเสียทีเนอะ

1. งูสวัด คืออะไร ?

          โรคงูสวัด (Herpes Zoster, Shingles) เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่ง ซึ่งมีสาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสชนิดเดียวกับไวรัสที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว มักจะเกิดขึ้นกับผู้ที่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน อีกทั้งยังมักจะเกิดขึ้นในช่วงที่ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำ

2. งูสวัด สาเหตุเกิดจากอะไร ?

          งูสวัด เกิดจากเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่าเชื้อไวรัสวาริเซลล่า ซอสเตอร์ (varicella zoster virus) โดยเชื้อไวรัสดังกล่าวสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ผ่านทางการหายใจ หรือการสัมผัสกับตุ่มน้ำโดยตรง ซึ่งเมื่อเชื้อไวรัสนี้เข้าสู่ร่างกายในครั้งแรกแล้วจะทำให้เกิดโรคอีสุกอีใสก่อน และเมื่อหายแล้ว เชื้อไวรัสชนิดนี้ก็จะยังคงหลบซ่อนอยู่ในปมประสาทของร่างกาย เพื่อรอเวลาที่ร่างกายภูมิคุ้มกันลดลงต่ำกว่าปกติเพื่อแพร่กระจายเชื้ออีกครั้ง กลายเป็นโรคงูสวัดนั่นเอง

3. งูสวัด ใครเสี่ยงบ้าง ?

          ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง คือกลุ่มคนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำกว่าปกติ หรือในช่วงที่ร่างกายอ่อนเพลียสะสมเป็นเวลานานและพักผ่อนไม่เพียงพอ นอกจากนี้ ผู้สูงอายุ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี หรือผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับยากดภูมิต้านทานก็ยังเป็นอีกกลุ่มเสี่ยงที่อาจจะเกิดงูสวัดได้ง่ายกว่าคนทั่วไป

งูสวัด

4. งูสวัด อาการเป็นอย่างไร ?

          งูสวัด อาการเริ่มต้นจะเริ่มจากในช่วงก่อนเกิดผื่น 1-3 วัน ผู้ป่วยจะมีปวดแปลบ มีอาการคันหรือแสบร้อนบริเวณเส้นประสาทเป็นพัก ๆ บางรายก็อาจจะเกิดอาการนี้ตลอดเวลา โดยเฉพาะบริเวณชายโครง ใบหน้า แขน หรือขาเพียงข้างเดียว ในช่วงแรกอาจจะทำให้สับสนว่าเป็นอาการปวดกล้ามเนื้อ แต่แท้จริงแล้วนั่นเป็นอาการของเส้นประสาทอักเสบจนทำให้เกิดอาการปวดบริเวณผิวหนังที่ติดกับเส้นประสาทนั่นเอง ทั้งนี้บางรายอาจจะมีอาการไข้ หนาวสั่น คลื่นไส้ และท้องเสียร่วมด้วย

          หลังจากนั้นตุ่มน้ำจะเริ่มขึ้นบริเวณที่ปวดก่อนหน้า ซึ่งจะทยอยขึ้นมาเป็นจำนวนมากในช่วง 4 วันแรกที่เป็นงูสวัด แล้วจะค่อย ๆ แห้งตกสะเก็ดไปภายใน 7-10 วัน เมื่อสะเก็ดแผลหลุดออก อาการปวดก็จะเริ่มบรรเทาลง แต่ถ้าหากเป็นผู้ป่วยสูงอายุหรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำมาก ๆ ก็อาจจะมีอาการกินเวลานานเป็นเดือนกว่าจะหายเป็นปกติ

5. งูสวัด เริม อีสุกอีใส ต่างกันอย่างไร ?

          เนื่องจากโรคอีสุกอีใสและโรคงูสวัดเกิดจากเชื้อไวรัสชนิดเดียวกันอาจจะทำให้คนที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับโรคเข้าใจผิดได้ ส่วนโรคเริมก็ยังมีลักษณะตุ่มน้ำคล้ายกับงูสวัด จึงมีวิธีการสังเกตความแตกต่างดังนี้ค่ะ

          - โรคอีสุกอีใส - อาการเริ่มแรกจะมีไข้ร่วมกับผื่นแดง และตุ่มน้ำใส ๆ กระจายตามลำตัว ใบหน้าตั้งแต่วันแรกที่มีไข้ ทั้งนี้อาจมีอาการคันร่วมด้วย

          - โรคงูสวัด - ตุ่มน้ำจะเกิดขึ้นหลังจากมีอาการปวดแสบปวดร้อนบริเวณแนวเส้นประสาท 1-3 วัน โดยอาจะมีอาการไข้ร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้ แต่จะมีอาการคันบริเวณตุ่มน้ำ

          - โรคเริม - โรคเริมเป็นอาการที่สังเกตได้ง่าย โดยจะมีตุ่มน้ำใสขึ้นหลายเม็ดเป็นหย่อม ๆ หรือเป็นกลุ่มเล็ก ๆ มักเกิดขึ้นที่บริเวณเดียว ได้แก่ ริมฝีปาก แก้ม จมูก หู ตา ก้น หรืออวัยวะเพศ มักจะเกิดขึ้นซ้ำซาก และจะหายไปเอง หรือต้องทายาเพื่อให้ตุ่มน้ำยุบลง

6. งูสวัด กี่วันหาย ?

          โดยปกติแล้วโรคงูสวัดจะสามารถหายไปได้ด้วยตัวเองภายในเวลา 10-15 วัน นับตั้งแต่เริ่มสำแดงอาการ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของผู้ป่วย ถ้าหากมีภูมิคุ้มกันที่ไม่แข็งแรงพอก็อาจจะทำให้อาการของโรคยาวนานขึ้น บางรายแม้ตุ่มน้ำจะยุบไปแล้วก็อาจจะมีอาการปวดตามแนวเส้นประสาทตามมา ซึ่งต้องใช้เวลาหลายเดือนหรืออาจจะยาวนานนับปีกว่าจะหายสนิทค่ะ

7. งูสวัด อันตรายไหม อาการแทรกซ้อนมีอะไรบ้าง ?

          โรคงูสวัดเป็นโรคที่ไม่อันตราย แต่ก็มีกรณีที่น่าเป็นห่วงเช่นกัน นั่นก็คือในกรณีที่มีภาวะแทรกซ้อน ซึ่งภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยก็คือ อาการปวดตามแนวเส้นประสาท หลังจากการติดเชื้อ โดยส่วนใหญ่จะพบได้ในผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป บางรายอาจจะใช้เวลาไม่นานก็หาย แต่บางรายที่มีอาการรุนแรงอาจมีอาการปวดเรื้อรังหลายปี นอกจากนี้ก็ยังอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้อีก เช่น การติดเชื้อแบคทีเรีย ตาอักเสบ แผลที่กระจกตา ภาวะแทรกซ้อนที่หู ขณะที่ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำมาก ๆ อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงมากกว่าและแพร่กระจายได้ เช่น สมองอักเสบ หรือปอดอักเสบ แต่ก็เป็นอาการที่พบได้น้อย

8. งูสวัด รักษาอย่างไร?

          โรคงูสวัดสามารถรักษาได้ด้วยยาต้านเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่าอะซัยโคลเวียร์ (acyclovir) ซึ่งเป็นยาที่สามารถรักษาได้ทั้งผู้ป่วยโรคอีสุกอีใส งูสวัด และโรคเริม โดยยาดังกล่าวมีทั้งแบบยาเม็ดแคปซูล ยาทา และยาฉีด ซึ่งจะต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างเคร่งครัด เนื่องจากยาชนิดนี้มีระยะเวลาออกฤทธิ์ที่สั้น และซึมเข้าสู่ร่างกายได้น้อย จึงจำเป็นต้องได้รับยาชนิดนี้ถี่กว่ายาทั่วไป โดยในการรักษาจะต้องได้รับยาอะซัยโคลเวียร์ขนาด 800 มิลลิกรัม วันละ 5 ครั้ง ในทุก ๆ 4 ชั่วโมง ยกเว้นเวลากลางคืน และต้องใช้ยาชนิดนี้ติดต่อกัน 7-10 วัน ส่วนยาฉีดนั้นก็จะต้องได้รับวันละ 5 ครั้ง ครั้งละ 500 มิลลิกรัมเข้าทางหลอดเลือดดำโดยตรง ระยะเวลาก็เท่ากับการรับประทานยาค่ะ

          นอกจากนี้ยังมียาอีก 2 ชนิดที่สามารถรักษาอาการงูสวัดได้โดยรับประทานน้อยครั้งกว่า นั่นก็คือยาวาลาซิโคลเวียร์ (valaciclover) และยาแฟมซิโคลเวียร์ (famciclovir) เป็นยาที่มีกลไกในการออกฤทธิ์เช่นเดียวกับอะซัยโคลเวียร์ แต่รับประทานแค่เพียงวันละ 3 ครั้ง ส่วนยาต้านไวรัสชนิดทานั้น สามารถรักษาได้แค่เพียงอาการเริมเท่านั้น แต่ไม่ได้ผลกับผู้ที่ป่วยเป็นอีสุกอีใสหรืองูสวัดค่ะ

          ทั้งนี้หากต้องการให้การรักษามีประสิทธิภาพควรรีบไปพบแพทย์เพื่อให้แพทย์สั่งยาอะซัยโคลเวียร์มารับประทานตั้งแต่เริ่มมีอาการแรก ๆ คือในช่วงก่อนมีตุ่มน้ำใสขึ้น จนระยะก่อนที่ตุ่มน้ำใสจะแตก หรือจะให้ดีที่สุดควรใช้หลังจากพบตุ่มน้ำใสไม่เกิน 2-3 วัน จึงจะได้ผลดีที่สุดค่ะ เพราะจะทำให้ยับยั้งการเพิ่มขึ้นของเชื้อไวรัสและลดการลุกลามของอาการค่ะ

          นอกจากการรักษาทางการแพทย์แล้ว อีกตัวช่วยหนึ่งที่จะช่วยให้งูสวัดหายเร็วขึ้นก็คือการดูแลตัวเองให้ดี โดยหลักในการดูแลตัวเองในขณะที่เป็นงูสวัดมีง่าย ๆ ดังนี้

          - ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันปกติ หากมีอาการปวดก็สามารรถรับประทานยาแก้ปวดได้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องสอบถามแพทย์ให้ดีก่อนว่ายาแก้ปวดชนิดใดที่ปลอดภัยกับตนเอง
          - ประคบแผลด้วยน้ำเกลือวันละ 3-4 ครั้ง ครั้งละประมาณ 10 นาที จะช่วยให้แผลแห้งเร็วขึ้น
          - ในกรณีที่มีอาการปากเปื่อยลิ้นเปื่อย ควรบ้วนปากด้วยน้ำเกลือเพื่อรักษาอาการ
          - อาบน้ำให้สะอาด ตัดเล็บให้สั้น ห้ามแกะเกาบริเวณแผลที่ตกสะเก็ด เพราะอาจจะทำให้ติดเชื้อและกลายเป็นแผลเป็นได้
          - ผู้ป่วยควรแยกของใช้ส่วนตัวทุกอย่างออกจากของใช้ส่วนรวม โดยเฉพาะหลีกเลี่ยงการใช้ของร่วมกับผู้ที่ไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน
          - หากผู้ป่วยมีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือเป็นโรคงูสวัดแบบแพร่กระจาย ที่สามารถแพร่กระจายได้ทางการหายใจ ควรแยกให้ผู้ป่วยอยู่ห่างจากคนที่ไม่เคยมีเชื้อ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์และผู้สูงอายุ
          - ห้ามใช้ของแหลมคมเจาะตุ่มน้ำโดยเด็ดขาด เพราะอาจจะทำให้เกิดการติดเชื้อจากอุปกรณ์ที่ไม่สะอาด และอาจจะทำให้เป็นแผลเป็นได้
          - หากเกิดอาการคันควรใช้ยาทาแก้คันหรือคาลามายด์ทาเพื่อบรรเทาอาการ หรืออาจจะรับประทานยาแก้คันร่วมด้วย แต่ทั้งนี้ก็ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนค่ะ
          - สวมใส่เสื้อผ้าที่โปร่งสบาย ไม่อึดอัด เพราะการสวมเสื้อผ้าที่แนบเนื้ออาจจะทำให้เนื้อผ้าไปโดนกับตุ่มน้ำจนเกิดการอักเสบได้

โรคงูสวัด

10. งูสวัด ติดต่อหรือไม่ ?

          งูสวัดมีสาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัสชนิดเดียวกันกับโรคอีสุกอีใสซึ่งสามารถติดต่อกันได้จากการหายใจ สัมผัสกับตุ่มน้ำใสที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยโดยตรงได้เช่นกัน แต่ทั้งนี้หากผู้ที่รับเชื้อเข้าไปแล้วยังไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน อาการที่แสดงออกมาก็จะเป็นเพียงโรคอีสุกอีใส แต่ถ้าหากเคยเป็นโรคอีสุกอีใสแล้วเชื้อนี้ก็อาจจะเข้าไปหลบซ่อนอยู่ในปมประสาทของร่างกายและแสดงอาการเป็นงูสวัดต่อไปเมื่อผู้รับเชื้อมีระบบภูมิคุ้มกันที่ต่ำกว่าปกติ

11. งูสวัด พันรอบตัวทำให้เสียชีวิตได้จริงหรือไม่ ?

          ในเรื่องความเชื่อที่ว่าถ้าหากงูสวัดขึ้นรอบตัวแล้วจะทำให้เสียชีวิตนั้น เป็นเพียงแค่ความเชื่อผิด ๆ ค่ะ เพราะถึงแม้ว่ารอยโรคของงูสวัดจะเป็นกลุ่มตุ่มน้ำใส ๆ เรียงกันเป็นกลุ่มตามแนวยาวของเส้นประสาท แต่ก็เกิดขึ้นกับแค่เฉพาะซีกใดซีกหนึ่งของร่างกายเท่านั้น เว้นแต่ในกรณีที่ผู้ป่วยมีร่างกายอ่อนแอก็อาจจะมีอาการลุกลามที่มากกว่าปกติ แต่ยังไม่มีการพบว่าโรคงูสวัดสามารถทำให้ผู้ป่วยถึงแก่ชีวิตได้แต่อย่างใด

12. วิธีป้องกันงูสวัด ต้องทำอย่างไรบ้างนะ ?

          การป้องกันงูสวัดต้องเกิดขึ้นจากทั้งสองฝ่ายไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยหรือผู้ที่อยู่ใกล้ชิด โดยผู้ป่วยหากอยู่ในช่วงที่เป็นงูสวัดควรรักษาความสะอาดของตัวเองให้มากขึ้น หมั่นล้างมือทุกครั้งที่สัมผัสกับตุ่มน้ำ เพื่อไม่ให้เชื้อแพร่กระจาย วิธีที่ดีที่สุดก็คือไม่ควรสัมผัสบาดแผลโดยตรง เพราะอาจจะทำให้เชื้อติดมาที่มือและเผลอนำเชื้อไวรัสไปสัมผัสกับผู้อื่นโดยไม่รู้ตัว

          ส่วนผู้ที่อยู่ใกล้ชิด และผู้คนทั่วไปที่ไม่ได้เป็นงูสวัด หากไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน ควรระมัดระวัง ตัวหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับบาดแผลของผู้ป่วย ถ้าหากเคยเป็นโรคอีสุกอีใสแล้ว ควรดูแลสุขภาพของตัวเองให้แข็งแรงอยู่เสมอ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และพักผ่อนให้เพียงพอ หมั่นออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง ก็จะช่วยป้องกันโรคงูสวัดได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนี้การฉีดวัคซีนป้องกันงูสวัดก็เป็นวิธีป้องกันที่ดีและมีประสิทธิภาพมาก ซึ่งในปัจจุบันก็สามารถหาฉีดได้ตามโรงพยาบาลทั่วไป

13. วัคซีนป้องกันงูสวัด คืออะไร ?

          วัคซีนป้องกันโรคงูสวัด คือวัคซีนที่สามารถช่วยป้องกันการสำแดงของโรคงูสวัดที่เกิดจากเชื้อไวรัสวาริเซลล่าซอสเตอร์ (varicella zoster virus) โดยวัคซีนชนิดนี้เป็นวัคซีนที่ป้องกันได้แต่เพียงโรคงูสวัดเท่านั้น เนื่องจากเป็นวัคซีนที่มีความเข้มข้นสูงกว่าวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสถึง 14 เท่า ดังนั้นถ้าหากไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน ไม่ควรฉีดวัคซีนป้องกันงูสวัด แต่ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส นอกจากนี้ควรทำความเข้าใจก่อนว่าถึงแม้จะฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสก็มีโอกาสที่จะเกิดโรคงูสวัดได้ เพียงแต่อาการจะไม่รุนแรงเท่าคนที่ไม่ได้รับวัคซีน

          ทั้งนี้กลุ่มเสี่ยงที่ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัดก็คือผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป และเคยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน เพราะผู้ป่วยสูงอายุจะมีอาการรุนแรงกว่าคนทั่วไป ระยะเวลาของอาการก็จะยาวนานหลายเดือน และอาจมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้ง่ายอีกด้วย การป้องกันไม่ให้เกิดจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดค่ะ

14. งูสวัดเป็นได้กี่ครั้ง โอกาสเป็นซ้ำมีหรือไม่ ?

          แม้ว่าเชื้อไวรัสวาริเซลล่า ซอสเตอร์ (varicella zoster virus) จะทำให้ผู้ที่ป่วยเป็นโรคอีสุกอีใสมาก่อน เป็นโรคงูสวัดได้ในภายหลัง แต่ถ้าหากผู้ป่วยเป็นโรคงูสวัดแล้ว โอกาสที่จะติดเชื้อดังกล่าวและกลับมาเป็นโรคงูสวัดอีกครั้งนั้นมีน้อยมาก ซึ่งถ้าหากมีการกลับมาเป็นซ้ำอาการจะไม่ใช่การเกิดผื่นหรือตุ่มน้ำใส แต่จะเป็นอาการปวดตามแนวเส้นประสาทเสียมากกว่าค่ะ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยด้วย หากภูมิคุ้มกันแข็งแรงก็จะไม่มีการกลับมาเป็นซ้ำแน่นอน

15. งูสวัดหายแล้วจะเป็นแผลเป็นไหม ?

          งูสวัดก็เช่นเดียวกับโรคอีสุกอีใส ถ้าหากเราดูแลตัวเองดี ไม่เกาที่แผลและไม่นำเข็มหรือของปลายแหลมมาจิ้มตุ่มน้ำใสให้แตกเพราะอยากบรรเทาอาการแสบคันละก็ ไม่มีทางที่จะแผลเป็นอย่างแน่นอน ฉะนั้นถ้าหากมีอาการคันไม่ควรไปยุ่งกับบริเวณแผล แต่ควรรับประทานยาแก้คันแทนค่ะ

16. ผู้ป่วยติดเชื้อ HIV สามารถเป็นงูสวัดได้หรือไม่ ?

          ผู้ป่วยติดเชื้อ HIV จะมีระบบภูมิคุ้มกันที่ต่ำกว่าคนทั่วไป เนื่องจากเชื้อ HIV จะเข้าไปทำลายระบบภูมิคุ้มกัน ดังนั้นหากผู้ป่วยติดเชื้อ HIV คนดังกล่าวเคยมีประวัติในการเป็นโรคอีสุกอีใสก็สามารถเป็นงูสวัดได้ง่ายกว่าปกติ หรือถ้าหากไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใส ก็มีโอกาสที่จะเป็นทั้งสองโรคได้ง่ายเช่นกัน นอกจากนี้ยังอาจจะเสี่ยงกับภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ และอาจมีการเกิดซ้ำของงูสวัดได้อีกด้วยค่ะ

17. งูสวัด ห้ามกินอะไรบ้าง ?

          ข้อห้ามในการรับประทานอาหารของผู้ป่วยงูสวัดนั้น แทบจะไม่มีเลยล่ะค่ะ เพราะงูสวัดนั้นจะสามารถหายได้เร็วขึ้นถ้าหากร่างกายแข็งแรงขึ้น ดังนั้นจึงควรที่จะรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และสำหรับคนที่สงสัยว่า งูสวัด กินไข่ได้ไหม ขอบอกว่ากินไข่ได้ค่ะ แถมยังจะดีต่อร่างกายเสียด้วยซ้ำ แต่ถ้าเป็นเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ละก็ อันนี้ควรหลีกเลี่ยงค่ะ ผู้ป่วยงูสวัดควรหลีกเลี่ยงของหมักดองทุกชนิด รวมทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจจะทำให้เกิดการติดเชื้อเพิ่มขึ้นในร่างกายได้ค่ะ

18. งูสวัด สมุนไพรรักษาหายได้จริงหรือ ?

          เราอาจจะเคยได้ยินกันว่ามีสมุนไพรทั้งไทยและจีนที่สามารถรักษาอาการงูสวัดได้โดยไม่ต้องพึ่งยาต้านเชื้อไวรัสของแพทย์แผนปัจจุบัน แต่ต้องชี้แจงว่า ณ วันนี้ ยังไม่มีการยืนยันใด ๆ จากทางการแพทย์ว่าสมุนไพรช่วยรักษาได้จริงหรือไม่ แถมการนำสมุนไพรหรือยาจีนมาประคบบริเวณที่เป็นงูสวัดยังอาจจะทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อแบคทีเรีย แม้ว่าอาจจะช่วยบรรเทาอาการได้บ้าง แต่ว่าก็ไม่คุ้มเลย ถ้าหากต้องแลกกับอาการติดเชื้อแบคทีเรียที่เป็นอาการแทรกซ้อน ทางที่ดีควรไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบันจะปลอดภัยที่สุดค่ะ

19. งูสวัด กับ คนท้อง อันตรายหรือไม่

          การเกิดโรคงูสวัดในขณะที่ตั้งครรภ์เป็นเรื่องทีเกิดขึ้นได้ แต่ก็เกิดขึ้นในอัตราที่น้อย หากหญิงตั้งครรภ์ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ แต่ในกรณีที่หญิงตั้งครรภ์เกิดเป็นงูสวัดขึ้นมาก็ไม่ต้องกังวลไป เพราะก็มีผู้เชี่ยวชาญมากมายออกมายืนยันแล้วว่าการเป็นงูสวัดไม่ส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์อย่างแน่นอน แต่ถ้าหากหญิงที่ตั้งครรภ์เป็นงูสวัดในช่วงก่อนคลอดบุตร 5-21 วันก็อาจจะทำให้เด็กเป็นโรคอีสุกอีใสได้ แต่จะมีอาการเพียงไม่กี่วันแล้วก็จะหายไปค่ะ ทั้งนี้สตรีที่เป็นงูสวัดในช่วงตั้งครรภ์ก็ควรอยู่ภายใต้การดูแลของหมออย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันผลกระทบหรือภาวะแทรกซ้อนที่คาดไม่ถึงได้

          ส่วนในเรื่องการรักษา ยาที่นำมาใช้ในการรักษางูสวัด เป็นยาที่ปลอดภัยสำหรับหญิงตั้งครรภ์ ทำให้สามารถรักษางูสวัดได้ในช่วงระหว่างตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งกังวลเรื่องผลข้างเคียงของยา

งูสวัด

20. งูสวัดขึ้นตา อันตรายหรือเปล่านะ ?

          อาการงูสวัดขึ้นตาถือเป็นภาวะแทรกซ้อนอย่างหนึ่งของโรคงูสวัดที่มีความอันตราย เพราะเมื่องูสวัดขึ้นตาแล้ว อาจจะทำให้เกิดอาการกระจกตาและม่านตาอักเสบ นอกจากนี้ยังอาจจะทำให้เกิดแผลที่บริเวณกระจกตาหรือเป็นต้อหินได้ และอาจมีบางรายที่อาการรุนแรงจนทำให้สายตาพิการได้อีกด้วย

          ได้รู้จักกับโรคงูสวัดกันมากขึ้นแล้ว ก็ต้องขอย้ำอีกครั้งว่าโรคผิวหนังชนิดนี้ไม่ใช่โรคที่น่ากลัวแต่อย่างใด แถมยังสามารถหายไปเอง แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสุขภาพของเราอีกด้วย ถ้าไม่อยากจะพบเจอกับงูสวัดก็แค่ดูแลร่างกายให้แข็งแรง นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เท่านี้ก็รับประกันได้เลยว่าไม่มีทางที่จะเป็นงูสวัดกันได้ง่าย ๆ อย่างแน่นอนค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
งูสวัด กับ 20 คำถามคาใจ โรคนี้เป็นอย่างไรได้รู้กัน อัปเดตล่าสุด 5 กรกฎาคม 2564 เวลา 16:03:36 246,706 อ่าน
TOP
x close