
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แนะประชาชนกินเจ ให้เหมาะสมตามวัย เตือนผู้ป่วยที่มีภาวะแพ้อาหารอยู่แล้วเสี่ยงแพ้อาหารเจได้ง่าย แม้แต่คนที่ทานอาหารชนิดเดิมซ้ำ ๆ จำนวนมากและเป็นเวลานานก็เสี่ยง โดยเฉพาะอาหารประเภทนมถั่วเหลือง แป้งสาลี และถั่ว
เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2558 รศ.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล หัวหน้าหน่วยโรคภูมิแพ้ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงการรับประทานอาหารเจในช่วงเทศกาลกินเจว่า โดยทั่วไปการรับประทานเจต้องเลือกปฏิบัติให้เหมาะสมตามวัย อายุและสภาพร่างกายของแต่ละคน อย่างไรก็ตามอาหารเจอาจมีผลต่อภาวะภูมิแพ้อาหารได้ โดยผู้ป่วยที่มีภาวะแพ้อาหารอยู่แล้ว อาจเสี่ยงต่อการแพ้อาหารเจได้ง่ายหรือผู้ที่บริโภคอาหารชนิดเดิมซ้ำ ๆ จำนวนมาก เป็นเวลานานก็อาจกระตุ้นให้แพ้อาหารชนิดนั้นได้ ถึงแม้ว่าไม่เคยแพ้มาก่อนโดยเฉพาะอาหารประเภทนมถั่วเหลือง แป้งสาลี และถั่ว
รศ.พญ.อรพรรณ ระบุว่า ที่ผ่านมาพบผู้ป่วยที่แพ้นมวัวมักจะแพ้นมถั่วเหลืองร่วมด้วย ร้อยละ 15-30 นอกจากนี้ในเนื้อสัตว์เทียมของอาหารเจก็ทำจากแป้งกลูเตน ซึ่งเป็นไกลโคโปรตีนที่ผลิตจากแป้งข้าวสาลี ซึ่งเป็นอาหารที่คนไทยแพ้ได้บ่อยเช่นกัน ดังนั้นจึงควรระวังการบริโภคอาหารเจในผู้ป่วยกลุ่มที่แพ้อาหาร โดยเฉพาะผู้ที่แพ้นมวัว นมถั่วเหลือง หรือแพ้แป้งสาลี ในกรณีต้องการบริโภคอาหารเจ อาจเลี่ยงไปบริโภคอาหารประเภทแป้งที่ทำจากข้าวเจ้า ข้าวเหนียว แป้งข้าวโพด ที่ไม่ก่อให้แพ้และได้พลังงานเช่นกัน
"ข้อแนะนำในการบริโภคอาหารเจสำหรับผู้ป่วยที่แพ้อาหารคือ กรณีที่แพ้นมวัวควรระวังในการบริโภคนมถั่วเหลืองเพราะอาจพบว่าแพ้นมถั่วเหลืองร่วมด้วยได้ โดยอาหารที่มีถั่วเหลืองเป็นส่วนผสม ได้แก่ นมถั่วเหลือง น้ำเต้าหู้ เต้าหู้ ซีอิ๊ว อาหารที่ปรุงรสด้วยซีอิ๊ว ซอสปรุงรสต่าง ๆ ราดหน้าใส่เต้าเจี้ยว น้ำจิ้มข้าวมันไก่ หอยจ๊อที่ห่อด้วยฟองเต้าหู้ ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์แปรรูปสำหรับทำอาหารเจอย่างโปรตีนเกษตร (ของพวกนี้ทำจากถั่วเหลืองแทบทั้งสิ้น) เป็นต้น สำหรับอาหารที่มีแป้งสาลีเป็นส่วนผสม ได้แก่ อาหารที่ใช้แป้งเป็นส่วนประกอบอย่างพวก ขนมปัง เส้นพาสต้าต่าง ๆ เค้ก ขนมอบ เบเกอรี่ต่าง ๆ อาหารชุบแป้งทอดหรือเกล็ดขนมปัง เป็นต้น ดังนั้นจึงควรระวังในการบริโภคอาหารกลุ่มนี้ในผู้ป่วยที่แพ้อาหาร" รศ.พญ.อรพรรณ กล่าว





อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
งานสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์