ไตวายเฉียบพลัน อาการแทรกซ้อนอันตราย รักษาไม่ทัน อาจถึงชีวิต !

          ไตวายเฉียบพลัน อาการแทรกซ้อนสุดอันตรายที่ต้องเฝ้าระวัง หากรักษาไม่ทันเวลา อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

ไตวายเฉียบพลัน

          ระบบไต เป็นระบบการทำงานสำคัญที่ช่วยกรองของเสีย ไม่ว่าจะเป็นสารพิษหรือสารเคมีต่าง ๆ ออกจากเลือด แต่หากไตทำงานหนักมากเกินไปก็อาจทำให้เกิดภาวะไตวายได้ ที่น่ากลัวคือภาวะไตวายเฉียบพลัน ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วมักจะเกิดจากการที่เลือดไปเลี้ยงไตไม่เพียงพอ หรือการสูญเสียน้ำและเลือดมากเกินปกติ โดยอาการไตวายเฉียบพลันนี้เราไม่สามารถป้องกันได้ 100% แต่เราสามารถเรียนรู้สาเหตุและเฝ้าระวังได้ วันนี้กระปุกดอทคอมจะพาไปทำความรู้จักกับอาการนี้ให้มากขึ้น เผื่อในอนาคตพบคนใกล้ตัวมีอาการไตวายเฉียบพลันจะได้ไม่แตกตื่นจนเกินไปค่ะ

ไตวายเฉียบพลัน เกิดจากอะไร ?

          ไตวายเฉียบพลันเป็นอาการที่สามารถเกิดได้ในทันที โดยเกิดขึ้นได้จากหลาย ๆ สาเหตุ ถือเป็นอาการแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้ในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดหัวใจและทรวงอก และในกลุ่มผู้ป่วยที่เสียน้ำหรือเลือดมากผิดปกติ ซึ่งสาเหตุสำคัญ ๆ มีดังนี้

          1. สูญเสียน้ำและเกลือแร่อย่างรุนแรง อาทิ ท้องเสียมากผิดปกติจนความดันโลหิตต่ำ เกลือแร่และน้ำในร่างกายต่ำ อาการนี้นอกจากทำให้เกิดไตวายแล้วยังอาจจะทำให้ช็อกได้อีกด้วย

          2. สูญเสียเลือดมาก ไม่ว่าจะเป็นจากโรค อาการบาดเจ็บ หรือการผ่าตัด และได้รับเลือดทดแทนไม่ทันเวลา สามารถทำให้ร่างกายเกิดภาวะช็อกและทำให้ไตวายเฉียบพลันได้ เนื่องจากเลือดมีปริมาณไม่เพียงพอสำหรับการส่งไปเลี้ยงไต นอกจากนี้การป่วยเป็นไข้เลือดออกในระยะที่เกิดอาการเลือดออกในร่างกาย ก็สามารถทำให้เป็นไตวายเฉียบพลันได้เช่นกัน

          3. ได้รับสารบางชนิดที่เป็นพิษกับไตโดยตรง เช่น ยาแก้ปวดบางชนิด สารเคมีในยาฆ่าหญ้า หรือแม้แต่การติดเชื้อมาลาเรีย และการถูกแมลงสัตว์รุมกัดต่อย อาทิ ต่อ ผึ้ง แตน เป็นสาเหตุที่ทำให้ร่างกายได้รับสารที่เป็นพิษกับไต เมื่อสารเหล่านี้เข้าไปสู่ไตแล้วก็อาจจะทำให้เกิดไตวายเฉียบพลันได้ค่ะ

          4. ติดเชื้อรุนแรงจนช็อก อาการติดเชื้ออย่างรุนแรงนอกจากจะส่งผลต่อระบบการทำงานของร่างกายส่วนอื่น ๆ แล้ว ก็ยังส่งผลต่อไตด้วย เพราะเชื้อไวรัส หรือเชื้อแบคทีเรียบางชนิดเมื่อเดินทางเข้าไปในไตแล้วก็จะทำให้ระบบไตเกิดการแปรปรวนจนทำให้เกิดไตวายเฉียบพลันได้ ซึ่งถ้าหากรักษาไม่ทันอาจเป็นอันตรายได้

          นอกจากนี้อาการไตวายเฉียบพลันยังอาจเกิดจากนิ่วในไต ภาวะหัวใจล้มเหลวหรือหัวใจวาย ระบบการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ล้มเหลว หรืออาการแพ้อย่างรุนแรงได้อีกด้วยค่ะ


ไตวายเฉียบพลัน

ไตวายเฉียบพลัน อาการเป็นอย่างไร ? 

          อาการของไตวายเฉียบพลันที่เห็นได้ชัดคือการทำงานของไตจะลดลงจนทำให้ร่างกายไม่สามารถกรองของเสียออกจากเลือดและไตได้ โดยจะสามารถตรวจวินิจฉัยได้ด้วยการตรวจเลือดและปัสสาวะ ซึ่งอาการไตวายเฉียบพลันนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ระยะใหญ่ ๆ ดังนี้

1. ระยะก่อไตวาย (Prerenal Failure)

          ในระยะดังกล่าว โดยผิวเผินแล้วจะมีอาการคล้ายกับภาวะร่างกายขาดสารน้ำ (Hypovolemia) ซึ่งจะสังเกตได้ว่ามีอาการกระหายน้ำ ปัสสาวะลดลง และน้อยกว่า 400 มิลลิตรต่อวัน เวียนหัว ความดันเลือดต่ำ ทั้งนี้ยังอาจจะมีอาการหายใจลำบาก และอาการเหนื่อยเฉียบพลันขณะหลับอีกด้วย อาการในระยะนี้หากทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที ไตก็จะกลับมาทำงานได้ตามปกติภายในเวลา 24-72 ชั่วโมง แต่ถ้าหากเข้ารับการรักษาช้าก็จะทำให้อาการเข้าสู่ระยะที่สอง หรือที่เรียกว่าระยะไตวาย

2. ระยะไตวาย (Intrinsic Renal Failure)

          ในระยะนี้ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายคนไตวายเรื้อรัง ได้แก่ อาการบวมน้ำ ความดันโลหิตสูง ปัสสาวะเป็นเลือด นอกจากนี้ก็ยังเกิดภาวะหลอดเลือดฝอยในไตถูกทำลาย เนื่องจากขาดเลือดไปหล่อเลี้ยงเป็นเวลานานอีกด้วย ทั้งนี้ระยะไตวายยังอาจทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย และภาวะเม็ดเลือดแดงแตกได้อีกด้วย

3. ระยะหลังไตวาย (Postrenal Failure)

          หลังจากเกิดภาวะไตวายเฉียบพลันแล้ว อาจจะเกิดอาการอุดตันของทางเดินปัสสาวะได้ โดยเฉพาะในกลุ่มชายสูงอายุก็อาจจะพบอาการต่อมลูกหมากโตจากภาวะอุดตันในต่อมลูกหมากได้เช่นกัน นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดนิ่วในไตที่มาจากการตกผลึกของสารบางชนิดที่ร่างกายไม่สามารถขับออกมาได้
ไตวายเฉียบพลัน

ไตวายเฉียบพลัน กับ ไตวายเรื้อรัง แตกต่างกันอย่างไร

          ไตวายเฉียบพลันเป็นอาการที่มักจะเกิดขึ้นอย่างกะทันหันโดยไม่ทันตั้งตัว แต่สามารถรักษาให้หายเป็นปกติได้ ต่างจากไตวายเรื้อรัง ที่กว่าจะสำแดงอาการก็ต้องมีการสะสมของอาการเป็นเวลานาน และถ้าหากเกิดขึ้นแล้วก็จะรักษาไม่หาย ทำได้แค่เพียงรักษาตามอาการและควบคุมปริมาณยาหรืออาหารที่รับประทานเข้าไปเท่านั้น ทว่าหากเป็นในระยะสุดท้ายก็จำเป็นที่จะต้องมีการฟอกไตเข้ามาร่วมด้วย

          หากต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับไตวายเรื้อรังก็สามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่ ไตวายเรื้อรัง เกิดจากอะไร ?

ไตวายเฉียบพลัน

ไตวายเฉียบพลัน มีวิธีรักษาอย่างไรบ้าง

          เมื่อเกิดภาวะไตวายเฉียบพลันขึ้น สิ่งที่ต้องรีบทำให้เร็วที่สุดก็คือการหาสาเหตุและรีบทำการรักษาที่ต้นเหตุเพื่อทำให้ไตสามารถกลับมาทำงานได้เต็มประสิทธิภาพอีกครั้ง และป้องกันไม่ให้ของเหลวและของเสียที่อยู่ในเลือดนั้นส่งผลต่อระบบอวัยวะส่วนอื่น ๆ ซึ่งในช่วงที่มีอาการนี้จำเป็นที่จะต้องจำกัดการดื่มน้ำ เพื่อลดปริมาณปัสสาวะที่จะถูกขับออกมา ลดการทำงานของไต และจำเป็นต้องได้รับอาหารในกลุ่มคาร์โบไฮเดรตมากเป็นพิเศษ ลดโปรตีน เกลือ และโพแทสเซียมลง

          ทั้งนี้แพทย์อาจจะมีการให้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อ และยาขับปัสสาวะ เพื่อให้ร่างกายขับของเหลวออกมา รวมทั้งยาบางชนิดเพื่อเข้าไปควบคุมระดับโพแทสเซียมในร่างกาย

          นอกจากนี้ แพทย์ยังอาจล้างไต และนำไตเทียมมาใช้ร่วมด้วย เพื่อให้เลือดในร่างกายไม่เป็นพิษจากสารพิษที่ตกค้าง ลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหากับระบบอวัยวะอื่น ๆ ตามมา โดยส่วนใหญ่แล้วหากรีบทำการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็จะใช้เวลาเพียงไม่นาน ระบบการทำงานของไตก็จะฟื้นฟูขึ้นมาเป็นปกติ แต่ถ้าหากรักษาไม่ทันกาลก็จะทำให้กลายเป็นภาวะไตวายเรื้อรังได้ ดังนั้นจึงควรรีบทำการรักษาในทันทีค่ะ

ไตวายเฉียบพลัน

วิธีการป้องกัน อาการไตวายเฉียบพลัน

          เนื่องจากอาการไตวายเฉียบพลันเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้โดยไม่คาดคิด และสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ บางครั้งเราก็อาจจะไม่สามารถป้องกันอาการไตวายเฉียบพลันได้ 100% ฉะนั้นควรหมั่นสังเกตอาการและหมั่นตรวจเลือดและตรวจปัสสาวะบ่อย ๆ รวมทั้งตรวจการทำงานของไตด้วย หากเกิดความผิดปกติจะได้หาทางแก้ไขกันได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ นอกจากนี้ยังควรดูแลรักษาสุขภาพตนเองไม่ให้เกิดภาวะเสียน้ำหรือเกลือแร่มากผิดปกติ รวมทั้งระมัดระวังไม่ให้เกิดความดันโลหิตสูง เพราะนั่นอาจจะทำให้ภาวะไตวายเฉียบพลันมาจู่โจมโดยไม่รู้ตัว
 
          ไตวายเฉียบพลันอาจจะดูร้ายแรง และส่งผลถึงชีวิตได้หากได้รับการรักษาที่ไม่ทันท่วงที แต่ก็อย่าเพิ่งเป็นกังวลเพราะสมัยนี้วิวัฒนาการทางการแพทย์กว้างไกล หากเข้ารับการตรวจจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญตั้งแต่เริ่มสงสัยว่าจะเป็นไตวายเฉียบพลันแล้วละก็ การรักษาให้หายเป็นปกติก็สามารถเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอนค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไตวายเฉียบพลัน อาการแทรกซ้อนอันตราย รักษาไม่ทัน อาจถึงชีวิต ! อัปเดตล่าสุด 15 ธันวาคม 2563 เวลา 09:25:20 132,708 อ่าน
TOP
x close