ช่องคลอดแห้ง ทำไงดี ให้น้องสาวกลับมาแฮปปี้อย่างเคย

          เมื่อน้องสาวแห้งผาก ขาดความชุ่มชื้น จะรักษาช่องคลอดแห้งยังไงได้บ้าง เรื่องนี้สาว ๆ ต้องรู้


          ภาวะช่องคลอดแห้ง เจอได้บ่อยในผู้หญิงวัยทอง เนื่องจากฮอร์โมนที่เคยมีอยู่อาจลดน้อยลงไป หรือไม่ผลิตอีกเลย ทว่าในบางเคสเราก็เจอช่องคลอดแห้งในสาว ๆ ที่ยังไม่หมดประจำเดือนด้วยเช่นกัน และนอกจากอาการแห้งผากของน้องสาวแล้ว อาจจะมีอาการตกขาว คัน เป็นสิ่งที่กวนใจอีกด้วย โอ๊ย...จะคืนความสุขให้น้องสาวแฮปปี้ยังไงได้บ้างนะ

ช่องคลอดแห้ง

ช่องคลอดแห้ง เกิดจากอะไร

          ปกติช่องคลอดจะผลิตสารหล่อลื่นตามธรรมชาติ มีลักษณะเป็นมูกใส ๆ เหนียว หนืด และจะยิ่งมีเยอะขึ้น หนืดขึ้น ในช่วงตกไข่ โดยสารหล่อลื่นนี้มีไว้เพื่อช่วยให้เชื้ออสุจิเข้าไปผสมกับไข่ได้ง่ายขึ้น รวมถึงทำหน้าที่ลดการเสียดสีเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ทว่าในร่างกายบางคนก็ขาดสารหล่อลื่นตัวนี้ไป ทำให้ช่องคลอดแห้ง ซึ่งสาเหตุของช่องคลอดแห้งก็มีได้หลายปัจจัย ดังนี้เลยค่ะสาว ๆ

          - ฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลงตามวัย มักพบได้บ่อยในวัยหมดประจำเดือน

          - ฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลงจากผลข้างเคียงของยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคความดันเลือดสูง ยารักษาโรคทางจิตเวช ยารักษาโรคภูมิแพ้ ยาที่มีกลไกต้านฮอร์โมนเอสโตรเจน ที่ใช้รักษาภาวะเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ หรือช็อกโกแลตซีสต์ รวมไปถึงเคมีบำบัด 

          - การติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อรา

          - การสวนล้างช่องคลอดบ่อย ๆ ทำให้ช่องคลอดสูญเสียความเป็นกรดและเกิดภาวะแห้ง

          - แพ้สบู่หรือน้ำยาทำความสะอาดจุดซ่อนเร้น รวมไปถึงน้ำยาทำความสะอาดชุดชั้นใน แผ่นอนามัย และกางเกงชั้นใน

          - เกิดผื่นผิวหนังบริเวณปากช่องคลอด และช่องคลอด

          - การใช้ถุงยางอนามัยที่มีสารโนน็อกซินอล 9 (Nonoxynol-9) อาจเพิ่มความเสี่ยงภาวะช่องคลอดแห้งได้

          - ป่วยโรค Sjogren’s Syndrome หรือโรคที่ระบบภูมิคุ้มกันต่อต้านตัวเอง ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการปากแห้ง ตาแห้ง และช่องคลอดแห้ง

ช่องคลอดแห้ง อาการเป็นยังไง

ช่องคลอดแห้ง

          - รับรู้ได้ว่าช่องคลอดแห้งก็ตอนมีเพศสัมพันธ์แล้วเจ็บ

          - ความต้องการทางเพศลดลง เพราะภาวะช่องคลอดแห้งทำให้ขาดความสุขในเรื่องนี้

          - รู้สึกแสบร้อนบริเวณช่องคลอด หรือระคายเคือง

          - มีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์

          - ปัสสาวะบ่อย แสบขัด มีภาวะปัสสาวะเล็ด หรือกลั้นปัสสาวะไม่ได้

          - ช่องคลอดอักเสบ ตกขาวบ่อย แบบเป็น ๆ หาย ๆ

          - เมื่อตรวจภายในจะพบว่าช่องคลอดซีด แห้ง มีจุดเลือดออก ลูกคลื่นของช่องคลอดหายไป และปากมดลูกอาจแบนไปกับช่องคลอด

          - ปัสสาวะมีเม็ดเลือดแดงปนเปื้อน ซึ่งมักจะพบเมื่อตรวจปัสสาวะ แต่ทั้งนี้ต้องวินิจฉัยแยกโรคในทางเดินปัสสาวะด้วย

ช่องคลอดแห้ง รักษาอย่างไร

ช่องคลอดแห้ง

     การรักษาภาวะช่องคลอดแห้ง มีอยู่หลายแนวทางด้วยกัน ดังนี้

          - ใช้ฮอร์โมนทดแทน เพื่อเพิ่มฮอร์โมนเอสโตรเจน โดยเฉพาะในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน

          - รักษาด้วยการทาฮอร์โมนเอสโตรเจนในช่องคลอด ซึ่งมีทั้งชนิดครีม ชนิดเม็ด และยาสอด แต่การใช้ยาควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ โดยเฉพาะคนที่มีปัญหาการใช้ฮอร์โมนในการรักษา เนื่องจากยาอาจจะเพิ่มระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในเลือด

          - ใช้สารเพิ่มความชุ่มชื้นที่ไม่ใช่ฮอร์โมน (Moisturizer)  ซึ่งมีทั้งแบบน้ำและแบบเจล รวมไปถึงชนิดเม็ดสอด

          - รักษาด้วยเลเซอร์ชนิด Fractional CO2 เพื่อกระตุ้นเซลล์ไฟโบรบลาสต์ ซึ่งเป็นเซลล์ที่ช่วยกระตุ้นการผลิตและจัดเรียงเส้นใยคอลลาเจน ทำให้เซลล์ช่องคลอดผลิตสารคัดหลั่งเพิ่มขึ้น โดยวิธีนี้ใช้เวลาไม่นาน ไม่ต้องดมยาสลบ และสามารถทำกิจกรรมได้ปกติหลังรักษาเสร็จ

          - บรรเทาด้วยวิตามินหรืออาหารเสริม แต่ทั้งนี้ยังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจนว่า วิตามิน E และวิตามิน D ใช้ได้ผลในการรักษาภาวะช่องคลอดแห้ง

          - ใช้เจลหล่อลื่น ก่อนมีเพศสัมพันธ์ โดยทาบริเวณช่องคลอดหรืออวัยวะเพศชาย

          อย่างไรก็ตาม ภาวะช่องคลอดแห้งตามวัย ที่ไม่เกิดปัญหาใด ๆ อย่างอาการคัน ตกขาว หรือติดเชื้อ และไม่ติดปัญหาในการมีเพศสัมพันธ์ อาจไม่จำเป็นต้องรักษาก็ได้ เว้นแต่เมื่อมีอาการผิดปกติกับช่องคลอด จากการติดเชื้อหรือสาเหตุอื่น ๆ ก็ค่อยไปพบสูตินรีแพทย์เพื่อรักษาตามอาการที่เป็นอยู่

ช่องคลอดแห้ง ป้องกันได้นะ

ช่องคลอดแห้ง

     สาว ๆ สามารถลดโอกาสเกิดภาวะช่องคลอดแห้งก่อนวัยอันควรได้โดยวิธีป้องกัน ดังนี้

          - รักษาสุขอนามัย และควรป้องกันการอับชื้น เช่น ไม่สวมใส่กางเกงรัดรึงจนเกินไป และหลังเข้าห้องน้ำควรล้างด้วยน้ำสะอาด ตามด้วยการซับเบา ๆ ด้วยทิชชู หรือผ้าสะอาด

          - ทำความสะอาดช่องคลอดแค่ภายนอกก็พอ ไม่ควรสวนล้างเข้าไปด้านในช่องคลอด เพราะจะเป็นการชะล้างสารหล่อลื่นตามธรรมชาติของร่างกาย และรบกวนสมดุลกรดและด่างในช่องคลอด

          - เลือกใช้กางเกงชั้นในที่ทำมาจากเส้นใยธรรมชาติ เพื่อป้องกันการแพ้

          - ควรทดสอบการแพ้กับน้ำยาทำความสะอาดช่องคลอด หรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดช่องคลอดทุกครั้งก่อนใช้

          - หากเป็นประจำเดือน ควรเปลี่ยนผ้าอนามัยทุก ๆ 6 ชั่วโมง หรือหากประจำเดือนมามาก ควรเปลี่ยนให้บ่อยกว่านั้น

          - หากมีคนรัก ให้หมั่นมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน เพื่อกระตุ้นการผลิตสารหล่อลื่นตามธรรมชาติ

          - หลีกเลี่ยงการใช้ถุงยางอนามัยที่มีสาร โนน็อกซินอล 9 (Nonoxynol-9)

          - หากมีความผิดปกติเกี่ยวกับช่องคลอด เช่น คัน ตกขาวมาก ตกขาวมีสีหรือกลิ่นผิดปกติ หรือมีตุ่มคัน ควรรีบปรึกษาแพทย์

          - เช็ก 15 อาการตกขาวผิดปกติ สาว ๆ ต้องกังวลหรือไม่

ดูแลน้องสาวกันหน่อย

ช่องคลอดแห้ง

          นอกจากป้องกัน และรักษาเมื่อมีอาการผิดปกติแล้ว เราก็อยากแนะนำให้สาว ๆ หมั่นดูแลสุขภาพจุดซ่อนเร้นของเราให้ดี โดยมีหลากหลายวิธีด้วยกัน

          - จุดซ่อนเร้นของผู้หญิงในแต่ละวัย อายุเท่าไร เปลี่ยนไปอย่างไร รู้ไหม ? 

          - 5 อาหารเพื่อสุขภาพช่องคลอด กินเท่านี้น้องสาวก็แฮปปี้ 


* หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 11 มิถุนายน 2563


ขอบคุณข้อมูลจาก
โรงพยาบาลสมิติเวช
โรงพยาบาลพญาไท
รายการพบหมอรามา
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ช่องคลอดแห้ง ทำไงดี ให้น้องสาวกลับมาแฮปปี้อย่างเคย อัปเดตล่าสุด 8 พฤษภาคม 2566 เวลา 15:01:13 369,129 อ่าน
TOP
x close