x close

คิดเสียบ้างก็ดีนะ...แต่คุณ คิดมาก เกินไปหรือเปล่า?

คิดมาก

คิดเสียบ้างก็ดีนะ...แต่คุณ คิดมาก เกินไปหรือเปล่า? (Lisa)

          โดยเฉพาะถ้าคิดแต่เรื่องแง่ลบ ก็อาจทำให้ชีวิตของคุณจมดิ่งสู่ความมืดและไร้ความสุขได้

          ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะมีปัญหาจากความคิดในเชิงลบมากกว่าผู้ชาย ซึ่งอาจเป็นธรรมชาติของผู้หญิงที่มีหน้าที่ดูแลคนอื่น ผู้หญิงจึงมีแนวโน้มที่จะวิตกกังวลและหงุดหงิดมากเกินไป ทั้งในเรื่องคนอื่นและเรื่องของตัวเอง และเมื่อความวิตกกังวลและความคิดในเชิงลบทั้งหลายเกิดขึ้นมากเกินไป ก็อาจทำให้คุณจมอยู่ในวังวนของความกลัวและไม่สามารถก้าวไปข้างหน้า เพื่อมีชีวิตของตัวเองต่อไปได้ มาจัดการมันซะก่อนจะสายเกินไป

สารพันความคิดเจ้าปัญหา

1. สร้างเรื่องให้ใหญ่เกินจริง

          มักเกิดขึ้นเมื่อคุณรู้สึกว่าถูกให้ลำบากโดยคนอื่น โดยคุณจะไม่นึกถึงสถานการณ์ของอีกฝ่ายหนึ่งเลยแม้แต่นิดเดียว เช่น คุณอาจรู้สึกว่าเจ้านายคิดผิดที่ไม่เลื่อนตำแหน่งให้คุณแล้ว ก็เลยคิดว่า "นี่เขาคงคิดอย่างนี้กับฉัน ตั้งแต่วันแรกที่ฉันเริ่มมาทำงานที่นี่แน่" อันตรายของความคิดแบบนี้ก็คือ คุณอาจมีปฏิกิริยาตอบโต้ที่เกินเลย และทำอะไรลงไปโดยขาดความยั้งคิด อย่างเช่น การลาออกอย่างปัจจุบันทันด่วน

2.ทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่

          มักเริ่มต้นขึ้น เมื่อเรารู้สึกถึงความหงุดหงิดไม่สบายใจในเรื่องทั่ว ๆ ไป หรือกับสถานการณ์บางอย่าง และเมื่อเราเริ่มวิเคราะห์มัน ความคิดของเราก็อาจออกนอกลู่นอกทางจนควบคุมไม่ได้ เช่น "ทำไมฉันถึงได้ไม่สบายใจแบบนี้ คงเพราะฉันไม่มีใครเลย หรือไม่ก็คงเป็น เพราะเรื่องที่ฉันเคยทำมาในอดีต" และก่อนที่คุณจะรู้ตัว เนินเขาเล็ก ๆ ก็จะสะสมตัวกันจนกลายเป็นภูผาสูงชัน และคุณก็อาจรู้สึกซึมเศร้ายิ่งกว่าเดิม จนอาจตัดสินใจอะไรผิด ๆ ก็เป็นได้

3.สับสนอลหม่าน

          เมื่อความคิดของคุณฟุ้งซ่าน ความหายนะก็กำลังจะมาเยือน เช่น "ฉันทนกับความเครียดในการทำงานไม่ไหวแล้ว ฉันจะต้องถูกไล่ออกแน่ ๆ เพื่อนสนิทฉันก็ไม่เคยว่างเลย เธอสนใจเพื่อนที่เล่นเทนนิสด้วยกันมากกว่า ฉันจะต้องตายคนเดียวเดี๋ยวโดด ฉันมันตัวปัญหา ฉันไม่รู้จะทำยังไงแล้ว" เมื่อความคิดของคุณวิ่งวนไปมาเป็นวงกลม คุณก็ไม่มีวันคิดอะไรออก และบ่อยครั้งที่ความคิดเช่นนี้มักชักพาเราไปหายาเสพติดและเหล้า

4.คิดทั้งคืน

          บ่อยครั้งที่คนเราชอบครุ่นคิดถึงปัญหาต่าง ๆ ในยามค่ำคืน แต่ส่วนใหญ่ความคิดเหล่านี้มักจะเต็มไปด้วยความกลัวและความวิตกจริต จนคุณไม่อาจมองเห็นปัญหาที่แท้จริง และถ้าคุณนอนไม่หลับทั้งคืน วันรุ่งขึ้นคุณก็จะไม่มีแรงพอที่จะรับมือกับปัญหาได้อยู่ดี ฉะนั้น ถ้าคุณคิดซ้ำซากมากกว่า 15-20 นาที ลุกออกจากห้องนอนไปซะ หาอะไรทำสักพัก ก่อนจะเข้านอนใหม่อีกครั้ง

ความคิดแสนฟุ้งซ่าน จัดการกับมัน...เดี๋ยวนี้

ให้มันได้พักบ้าง

          ครั้งต่อไปที่คุณเริ่มคิดวกวนและรู้สึกไม่สบายใจ ลุกขึ้นและทำอะไรสักอย่างที่คุณชอบ เช่น ทำอาหาร อ่านหนังสือ ไปหาเพื่อน หรือทำอะไรก็ได้ที่คุณชอบ ในการศึกษาวิจัยของนักจิตวิทยาระบุว่า แค่การเบี่ยงเบนเพียง 8 นาทีก็มากพอแล้ว ที่จะหยุดวงจรความคิดซ้ำซากได้ และเมื่อรูปแบบของความคิดแบบนี้ยุติลง พร้อมกับการได้ทำกิจกรรมที่พึงพอใจ จะทำให้เราปลอดโปร่งพอที่จะแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง

ไล่มันไป

          วิธีง่าย ๆ แต่ได้ผลในการหยุดความคิดในเชิงลบที่หลั่งไหลเข้ามา ก็คือตะโกนคำว่า "หยุด" ในหัว

ให้โอกาสมัน

          ถ้าคุณไม่อาจเพิกเฉยต่อความคิดบางเรื่อง และจำเป็นต้องครุ่นคิดถึงมันจริง ๆ ก็หาเวลาคิดซะ กำหนดเวลาว่าจะคิดถึงเรื่องนี้ในตอนเย็น หรือหลังกินอาหารเช้า มันจะทำให้คุณมีช่องว่างที่จะจัดการกับปัญหาโดยไม่ต้องรีบร้อน คุณจะผ่อนคลายมากขึ้น และอาจแก้ปัญหาได้ดีขึ้น

คุยให้กระจ่าง

          ถกเถียงในเรื่องความคิดที่เป็นพิษกับเพื่อน ๆ เพื่อการตรวจสอบความจริง แต่ระวังเพื่อนที่เจตนาดีซึ่งเอาแต่เห็นด้วยกับคุณ เพราะอาจทำให้คุณเชื่อมากขึ้นไปอีกว่า คุณถูกแล้วที่คิดในแง่ลบแบบนั้น

เขียนมันออกมา

          การเขียนความคิดด้านมืดของคุณลงบนกระดาษอาจช่วยให้คุณเห็นสิ่งต่าง ๆ ชัดเจนขึ้น และแยกแยะปัญหาได้ดีขึ้น แต่อย่าอ่านมันโดยไม่พยายามแก้ไข คุณต้องมองมันเป็นแบบฝึกหัดในการแก้ปัญหา ไม่ใช่การยืนยันความเชื่อของตัวเอง จากนั้นลงมือแก้ไขที่ต้นเหตุ

คิดบวก

          เคยได้ยินไหมว่า การคิดบวก ทำให้ผู้หญิงสวยขึ้น นั่นแหละค่ะ หากเกิดปัญหาอะไรหนัก ๆ หรือทำให้เราฟุ้งซ่านไม่เลิก ลองมองกลับกันให้เป็นแง่บวกไปเลย พยายามมองโลกในแง่ดี คิดเสียว่า ปัญหาเหล่านั้นทำให้เรารู้ข้อบกพร่องของตัวเอง หรือเป็นบทเรียนให้เราจดจำไว้ คราวหน้าจะได้ไม่พลาด หรือจะได้ไม่ทำอีก หรือมองว่า ใคร ๆ ก็เคยเจอปัญหาแบบนี้ บางคนเจอปัญหาหนัก ๆ มามากกว่าเราอีก ชีวิตลำบากกว่าเราอีกมาก แต่เขาก็สู้อยู่มาได้ เราจะได้มีกำลังใจ แล้วมองโลกในแง่ดีมากขึ้น

ใช้ธรรมะเข้าช่วย

          ยึดหลักการให้อภัย ปล่อยวาง อโหสิกรรมให้กับเรื่อง หรือสิ่งใดก็ตามที่เข้ามารบกวนจิตใจของเรา ด้วยการใช้ "สติ" พยายามทำจิตใจให้สงบ ไม่โกรธ ไม่โมโห เพราะยิ่งจะเติมเชื้อไฟให้กับตัวเองเสียเปล่า ๆ

          นอกจากนี้ลองใช้วิธีการสวดมนต์ นั่งสมาธิ กำหนดลมหายใจเข้าออกให้จดจ่ออยู่กับตัวเองสักครู่ หรือหากใครมีเวลาก็ลองไปนั่งปฏิบัติธรรมดู รับรองว่าได้ผลดีอย่างคาดไม่ถึงเลยทีเดียว

          ลองใช้วิธีต่อไปนี้ เพื่อหยุดความฟุ้งซ่านในจิตใจ คุณจะได้ไม่ต้องปวดหัวกับการคิดมากอีกค่ะ แต่อย่ากดดันตัวเองจนมากเกินไป เพราะบางเรื่องก็ต้องใช้ "เวลา" มาช่วยจัดการทุกอย่างให้ดีขึ้นค่ะ






ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
คิดเสียบ้างก็ดีนะ...แต่คุณ คิดมาก เกินไปหรือเปล่า? อัปเดตล่าสุด 16 มีนาคม 2557 เวลา 15:01:36 79,621 อ่าน
TOP