การขาดวิตามินบี 1 สังเกตได้จากอาการเหน็บชา ทว่านอกจากนั้นแล้วยังอาจมีสัญญาณอันตรายต่อสุขภาพที่ควรต้องใส่ใจมากขึ้นก่อนจะสายเกินไปด้วย
วิตามินบี 1
มีบทบาทความสำคัญที่มากกว่าหลาย ๆ คนเข้าใจ
เพราะอย่างที่รู้กันว่าหากขาดวิตามินบี 1 ขึ้นมา โรค เหน็บชาจะเตือนให้เราต้องเติมวิตามินบี 1 ให้ร่างกายมากขึ้น
ซึ่งสิ่งที่อยากให้รู้เพิ่มขึ้นอีกนิดก็คือ สัญญาณของการขาดวิตามินบี 1
ไม่ได้มีแค่อาการเหน็บชาเท่านั้น แต่ยังมีอาการอื่น ๆ
ที่ต้องใส่ใจให้ดีด้วย ไม่อย่างนั้นภาวะขาดวิตามินบี 1
อาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้เลย
บทบาทหน้าที่ของวิตามินบี 1 หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่าไธอะมิน (Thiamine) คือ ช่วยเสริมการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน เพื่อนำไปใช้เป็นพลังงานร่างกาย ให้มีแรงทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ รวมทั้งยังมีส่วนสำคัญต่อระบบประสาท โดยเฉพาะในด้านนำกระแสความรู้สึกของเส้นประสาททุกส่วนในร่างกาย กระตุ้นการทำงานของหัวใจ และทางเดินทางอาหาร
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ข้อมูลว่า ในคนปกติจะมีวิตามินบี 1 สะสมอยู่ในร่างกาย โดยเฉพาะในกล้ามเนื้อ และมีอยู่บ้างในสมอง หัวใจ ตับ ไต แต่หากเกิดภาวะขาดวิตามินเมื่อใด ร่างกายจะดึงเอาวิตามินที่สะสมไว้ในร่างกายออกมาใช้ ซึ่งจะหมดไปภายใน 1 เดือน และเริ่มมีอาการต่าง ๆ ปรากฏให้เห็น
หากร่างกายเกิดภาวะขาดวิตามินบี 1 อาการเบื้องต้นเลยก็คือจะทำให้เป็นโรคเหน็บชา ซึ่งภาวะขาดวิตามินบี 1 สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน และยิ่งเกิดกับเด็กทารกยิ่งต้องระวัง เพราะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเสียชีวิตค่อนข้างสูง
ขาดวิตามินบี 1 อาการอะไรบอกได้บ้าง ?
อาการขาดวิตามินบี 1 ที่สังเกตได้ชัดว่าร่างกายกำลังร้องหาวิตามินบี 1 สามารถดูได้จากสัญญาณดังต่อไปนี้
1. อาการเหน็บชาปลายมือ ปลายเท้า อาจรู้สึกแปล๊บ ๆ ร่วมด้วย
2. อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
3. เบื่ออาหาร
4. ท้องอืด ท้องผูก
5. เป็นตะคริวบ่อยขึ้น
6. ปวดน่อง
7. แขนขาไม่มีแรง
8. หอบเหนื่อย
9. ปัสสาวะน้อยลง
10. อารมณ์แปรปรวน
11. น้ำหนักลด
12. หัวใจเต้นผิดจังหวะ
13. หัวใจล้มเหลว
ทั้งนี้สัญญาณของการขาดวิตามินบี 1 จะขึ้นอยู่กับปริมาณการขาดวิตามินบี 1 ของแต่ละบุคคล ซึ่งหากมีภาวะขาดวิตามินบี 1 เพียงเล็กน้อย อาจเกิดโรคเหน็บชา และอ่อนเพลียให้รู้สึกบ้าง
ทว่าในรายที่ขาดวิตามินบี 1 มาก จะมีอาการทางระบบประสาท เช่น แขนชา ขาชา อาจมีอาการทางสมอง ตากระตุก ตาเหล่ เดินเซ อาเจียน จนมีอาการซึม อาจกระทบไปถึงการทำงานของระบบหัวใจ ทำให้เกิดอาการหอบเหนื่อย เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวจนถึงแก่ชีวิตได้ หรือหากเลือดไปเลี้ยงส่วนใดของร่างกายไม่เพียงพอ ก็อาจเกิดปัญหาที่ระบบนั้น เช่น ไตวาย
นอกจากนี้ยังควรต้องระวังภาวะขาดวิตามินบี 1 ในเด็กทารก ซึ่งพบบ่อยในเด็กทารกอายุประมาณ 2-3 เดือน ที่กินนมแม่ โดยที่แม่ก็มีภาวะขาดวิตามินบี 1 อยู่กับตัว ทำให้เด็กทารกได้รับวิตามินบี 1 ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายไปด้วย
โดยสัญญาณขาดวิตามินบี 1 ในเด็กทารกอาจดูได้จากอาการหน้าเขียว หอบเหนื่อย ตัวบวม หัวใจเต้นเร็ว ร้องเสียงแหบหรือไม่มีเสียง ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที เด็กอาจเสียชีวิตได้ภายใน 2-3 ชั่วโมงเลยนะคะ
ขาดวิตามินบี 1 เกิดจากอะไร
เราจะเกิดภาวะขาดวิตามินบี 1 ได้จากสาเหตุดังนี้ค่ะ
- การรับประทานวิตามินบี 1 ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งอาจเกิดจากภาวะอดอยาก อดอาหาร หรือการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกสัดส่วน ทำให้ได้สารอาหารไม่ครบถ้วน
- รับประทานอาหารที่มีสารทำลายวิตามินบี 1 มากกว่าอาหารที่มีวิตามินบี 1
- ภาวะทางสรีระวิทยา เช่น เด็กในวัยเจริญเติบโต หญิงมีครรภ์ หญิงให้นมบุตร หรือผู้ที่ทำงานหนัก ซึ่งร่างกายจะมีการเผาผลาญมากขึ้น ทำให้ต้องการวิตามินบี 1 เพิ่มขึ้นไปด้วย
- โรคเรื้อรัง อย่างโรคติดเชื้อ โรคพิษสุราเรื้อรัง การผ่าตัด ภาวะเครียด หรือผู้ที่มีภาวะการทำงานของต่อมไทรอยด์หนัก ๆ
- ภาวะร่างกายลดการดูดซึมวิตามินจากลำไส้ ซึ่งอาจเกิดได้กับผู้ที่มีอาการท้องร่วง ผู้ที่ขาดสารอาหารเรื้อรัง เป็นโรคตับเข็ง หรือกำลังใช้ยาขับปัสสาวะ
ขาดวิตามินบี 1 ต้องกินอะไร? หาทานได้จาก...
ร่างกายจะได้รับวิตามินบี 1 จากธัญพืช ข้าวโพด ข้าวซ้อมมือ โฮลเกรนต่าง ๆ เช่น ข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เลย์ ลูกเดือย ซีเรียล รวมทั้งเนื้อหมู ไข่แดง ตับ โยเกิร์ต นม มันฝรั่ง ส้ม มะเขือเทศ และถั่วชนิดต่าง ๆ
ซึ่งนอกจากวิตามินบี 1 ที่หาได้จากอาหารเหล่านี้แล้ว ยังมีอาหารที่กินเข้าไปแล้วอาจจะต้านการรับวิตามินบี 1 เข้าสู่ร่างกายด้วย ซึ่งก็ควรต้องระวังด้วยค่ะ
อาหารที่มีสารทำลายวิตามินบี 1
แม้จะรับประทานอาหารที่มีวิตามินบี 1 เข้าไปมากแค่ไหน แต่หากกินอาหารที่มีสารทำลายวิตามินบี 1 เช่น ข้าวขัดสี มันสำปะหลัง เมี่ยง หมากพลู ปลาร้า ชา ปลาน้ำจืด หอยลาย หอยแมลงภู่ หอยกาบ อาหารดิบ ๆ เช่น กุ้งดิบ เนื้อสัตว์ดิบ มากเกินไป ร่างกายก็มีโอกาสเกิดภาวะขาดวิตามินบี 1 ได้เช่นกันนะคะ
ดังนั้นหากสงสัยว่าตัวเองมีภาวะขาดวิตามินบี 1 ก็พยายามเลี่ยงอาหารเหล่านี้ไปก่อน และควรจะปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางเลือกอื่นในการเสริมธาตุอาหารสำคัญให้ร่างกายอย่างครบถ้วนและปลอดภัย
การรักษาอาการขาดวิตามินบี 1 ทำได้โดย...
- รับประทานอาหารที่มีวิตามินบีสูง อย่างข้าวซ้อมมือไม่ขัดสี ไข่แดง ตับ เครื่องในสัตว์ โยเกิร์ต นม ถั่ว และพยายามหลีกเลี่ยงอาหารที่มีสารทำลายวิตามินบี 1 อย่างหมาก พลู ชา ปลาร้า และปลาน้ำจืดบางชนิดด้วย
- ในเคสที่มีอาการโรคเหน็บชารุนแรง ทั้งในผู้ใหญ่และเด็ก อาจรักษาอาการขาดวิตามินบี 1 ได้ด้วยการฉีดไธอะมินปริมาณสูงสุดที่ 100 มิลลิกรัม (ขนาดของไธอะมินขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์) เข้าสู่เส้นเลือดดำ ซึ่งนับว่าเป็นการรักษาที่ให้ผลได้อย่างเต็มที่ในทันที
วิตามินบี 1 ต้องกินเท่าไรถึงเรียกว่าเพียงพอ ?
การกำหนดค่าปริมาณไธอะมินอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวัน (Dietary Reference Intake, DRI) ของประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดา เมื่อปี ค.ศ. 2000 ได้กำหนดค่าประมาณของความต้องการไธอะมินที่ควรได้รับประจำวัน (Estimated Average Requirement, EAR) ไว้ที่ 1.0 มิลลิกรัมต่อวันสำหรับผู้ชาย และวิตามินบี 1 ปริมาณ 0.9 มิลลิกรัมสำหรับเพศหญิง
ทั้งนี้สำหรับหญิงตั้งครรภ์และหญิงที่ให้นมบุตร ควรเพิ่มปริมาณการรับวิตามินบี 1 ให้มากกว่าปกติอีก 0.3 มิลลิกรัม เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของสภาวะร่างกายในขณะนั้น
และสำหรับเด็กทารกวัย 6-8 เดือน ควรได้รับวิตามินบี 1 จำนวน 0.3 มิลลิกรัม ส่วนเด็กแรกเกิดจนถึงวัย 5 เดือน ควรได้รับวิตามินบี 1 จากน้ำนมแม่ในอัตราส่วน 0.2 มิลลิกรัม ซึ่งก็หมายความว่าคุณแม่ต้องมีวิตามินบี 1 ในร่างกายที่เพียงพอสำหรับลูกน้อยด้วยนั่นเอง
ขอย้ำอีกครั้งว่าภาวะการขาดวิตามินบี 1 เราสามารถป้องกันได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ด้วยการรับประทานอาหารที่มีวิตามินบี 1 สูง หลีกเลี่ยงอาหารที่มีสารทำลายวิตามินบี 1 และพยายามรับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ เพราะการขาดสารอาหารก็เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดภาวะขาดวิตามินบี 1 ได้ และอาจส่งผลกระทบที่อันตรายต่อสุขภาพได้เลยล่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลFIT DAY