โรคเบาหวานประเภท 2 ภัยเงียบใหม่ ซุกซ่อนในไลฟ์สไตล์ผู้หญิงทำงาน !

โรคเบาหวาน

          โรคเบาหวานชนิดที่ 2 ไม่ใช่เรื่องไกลเกินตัว โดยเฉพาะชาวออฟฟิศและคนเมือง คุณเสี่ยงกับโรคนี้มากกว่าที่คิด !


          ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าในปัจจุบันมีคนเป็นโรคเบาหวานทั่วโลกกว่า 387 ล้านคน แล้วรู้ไหมว่า 4 ใน 5 จากผู้ป่วยทั่วโลกคือคนเอเชีย ! ส่วนคนไทย...จากสถิติเมื่อปี 2558 มีผู้ป่วยโรคเบาหวานกว่าสามล้านคน และเสียชีวิตวันละ 27 คน โดยมีโรคเบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 Diabetes) นำโด่งมาแต่ไกล และมักจะเกิดกับผู้ป่วยอายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไปที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน ความหมายอีกอันคืออ้วนเกินไปแล้วล่ะ และที่พีคไปกว่านั้นคือ อัตราการเกิดโรคนี้ ผู้หญิงมีลุ้นมากกว่าผู้ชาย !

          ในเมื่อเรื่องโรคเบาหวานเป็นเรื่องใกล้ตัวขนาดนี้ ได้เวลาที่เราจะไปทำความรู้จักโรคเบาหวานและเตรียมพร้อมรับมือ ดังที่นายแพทย์ ธนศักดิ์ วงศาโรจน์ นายแพทย์ชำนาญการโรงพยาบาลมุกดาหารนิตยสาร ได้ขยายความไว้ในนิตยสาร Lisa ตามนี้ค่ะ

ชื่อ "เบาหวาน" แต่จัดหนักเลยนะ !

          ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า โรคเบาหวานประเภทนี้เกิดจากความผิดปกติของอินซูลิน (ฮอร์โมนจากตับอ่อน) อย่างเวลาที่เรากินอาหารเข้าไป ร่างกายก็จะย่อย และคัดแยกสารอาหารรวมถึงพลังงานต่าง ๆ เข้าสู่เซลล์ภายในร่างกาย และโดยทั่วไปแล้วน้ำตาล จะถูกส่งเพื่อเป็นพลังงานในร่างกาย โดยมีฮอร์โมนอินซูลินเป็นตัวควบคุม แต่สำหรับคนที่เป็นโรคเบาหวาน ร่างกายจะไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่เพียงพอ จึงทำให้น้ำตาลไม่สามารถเดินทางไปสู่เซลล์ต่าง ๆ ได้ นั่นจึงทำให้น้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ เกิดความเข้มข้นและหนืดมากขึ้น ส่งผลให้หัวใจทำงานหนักและหลอดเลือดรับแรงดันมากกว่าปกติ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนในเวลาต่อมาได้

โรคเบาหวาน

เมื่อเป็นเบาหวานหลายโรครุมเร้า ?

          ความดื้อเงียบแต่ร้ายกาจของโรคเบาหวานชนิดที่ 2 นี้ยังอยู่ที่ว่าจะไม่มีอาการใด ๆ แสดงออกมาให้เห็น ทั้งยังกลายมาเป็นปัญหาทางด้านสาธารณสุขของคนไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพราะเบาหวานประเภทนี้จะซุกซ่อนไปพร้อม ๆ กับการใช้ชีวิตประจำวัน เรียกได้ว่าถ้าไม่หมั่นตรวจร่างกายก็จะเหมือนมีเพื่อนที่คอยจะทำร้ายเราในวันข้างหน้า

          นอกจากเป็นโรคเบาหวานชนิดนี้แล้ว ยังอาจได้ของแถมเป็นโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่ดีคู่กันมาอย่างพร้อมเพรียง เพราะการที่ร่างกายไม่สามารถควบคุมน้ำตาลในเลือดได้ ย่อมส่งผลให้ระบบการทำงานของร่างกายรวนตามไปด้วย โรคที่มักพบบ่อยในคนไข้ที่เป็นเบาหวาน คือการเกิดภาวะน้ำตาลสูง (Hyperglycemia) ซึ่งจะมีอาการเหมือนโรคที่พบเห็นได้ทั่วไป อย่างเกิดอาการเครียด มีไข้ ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว หิวน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย ไปจนถึงผิวแห้งและคันตามตัว

          ส่วนโรคแทรกซ้อนที่พบบ่อย หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เบาหวานจะลุกลามไปถึงอวัยวะต่าง ๆ มีทั้งโรคเบาหวานที่ตา เลยไปถึงเข้าจอประสาทตา ซึ่งเป็นสาเหตุของตาบอดรองมาจากต้อกระจก เพราะเกิดจากการทำลายเส้นเลือดขนาดเล็กเป็นระยะเวลานาน และยังมีโรคอย่างไตวายเรื้อรัง ภาวะโรคแทรกซ้อนที่ประสาทส่วนปลายจากเบาหวาน โรคเส้นเลือดแดงส่วนปลายอุดตัน และโรคความดันโลหิตด้วยเช่นกัน

โรคเบาหวาน

ภาวะคนเมืองทำร้ายร่างกาย ?

          เมื่อวิถีคนเมืองเฟี้ยวฟ้าวจนระบบปฏิบัติการในร่างกายเริ่มรวน อีกทั้งการทำงานหนักเลยเถิดไปถึงขาดการดูแลตัวเอง เรียกได้ว่าพอเหนื่อยแล้วกินตามใจปากกับอาหารหวานทุกประเภท และยังขาดการออกกำลังร่างกายจึงสะสมไขมันจนเกินจะเยียวยา ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญให้เกิดโรคเบาหวานชนิดนี้กับคนกลุ่มวัยทำงานเป็นอันดับต้น ๆ

          ด้วยเหตุนี้องค์การอนามัยโลกและสมาพันธ์ เบาหวานนานาชาติ (International Diabetes Federation หรือ IDF) ได้กำหนดให้วันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปีเป็นวันเบาหวานโลก (World Diabetes Day) และได้กำหนดเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเห็นถึงอันตรายและร่วมกันป้องกันโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นเวลา 3 ปี (ระหว่างปี 2557-2559) โดยในปีนี้มีการรณรงค์ในธีม "Healthy Eating-Act Today to Change Tomorrow" เพื่อมุ่งเน้นให้ประชาชนใส่ใจเรื่องการกินอาหารที่มีประโยชน์ ทั้งยังเป็นการจัดการเรื่องโรคเบาหวานชนิดนี้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะแทรกซ้อนและป้องกันการเกิดอีกด้วย

          ส่วนในประเทศไทย สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยและกระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกันรณรงค์ในเรื่องของการ "กิน อยู่ เป็น เริ่มวันนี้พร้อมเปลี่ยนพรุ่งนี้ให้ดีขึ้น" เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเลือกกินอาหารเพื่อสุขภาพ ไม่กินของหวาน และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหารตามหลักโภชนาการของประชาชนควบคู่ไปกับกับการออกกำลังกาย ทั้งยังเป็นการป้องกันโรคเรื้อรังอื่น ๆ ควบคู่กันไป

          "โรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นโรคที่เกิดขึ้นภายหลัง อาจเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม ทั้งนี้ ยังขาดการออกกำลังกาย และการกินอาหารที่ไม่เหมาะสม รวมถึงการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา โดยเครื่องดื่มเหล่านี้จะได้ทำลายส่วนของตับอ่อนด้วย หรือการใช้ยาพวกสเตียรอยด์ ยาคุมกำเนิด และยาขับปัสสาวะ และยังมีส่วนจากภาวะเบาหวานในขณะตั้งครรภ์ก็อาจกระตุ้นให้เป็นโรคเบาหวานชนิดนี้ได้ในภายหลัง"

ป้องกันหรือดูแลตัวเองอย่างไรดี ?

          "สิ่งที่เราสามารถทำเพื่อหลีกเลี่ยงเบาหวานชนิดนี้คือ ต้องรู้จักควบคุมอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสหวานจัด พวกเค้ก ขนมไทย อาหารที่มีส่วนผสมพวกครีมต่าง ๆ สำหรับผู้ป่วยต้องดูแลตัวเอง ควรทานพวกอาหารที่ผ่านกรรมวิธีอย่างนึ่ง ลวก หรือต้มจะดีที่สุด พูดง่าย ๆ คือเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์กับร่างกาย ที่สำคัญควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายและตรวจดูน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ เพราะโรคนี้สามารถเป็นได้ทุกคน ยิ่งถ้าไม่ดูแลร่างกาย ไม่ออกกำลังกาย และยังกินไม่เลือก ก็จะมีภาวะเสี่ยงกับการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ครับ" คุณหมอธนศักดิ์ กล่าวไว้ปิดท้าย

          ใครอยากสุขภาพดีห่างไกลโรค ควรปฏิบัติตามกันอย่างเคร่งครัด แล้วจะสุขภาพสบายใจอยู่สวยใสกันไปอีกนานค่ะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

โดย นายแพทย์ ธนศักดิ์ วงศาโรจน์ นายแพทย์ชำนาญการโรงพยาบาลมุกดาหาร



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรคเบาหวานประเภท 2 ภัยเงียบใหม่ ซุกซ่อนในไลฟ์สไตล์ผู้หญิงทำงาน ! อัปเดตล่าสุด 25 มกราคม 2559 เวลา 15:52:57 10,432 อ่าน
TOP
x close