กินอาหารที่สับ-บด แช่ไว้ในตู้เย็น อาจเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ-เบาหวานเพิ่มขึ้นไม่รู้ตัว

กินอาหารที่สับ-บด แช่ไว้ในตู้เย็น อาจเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ
 
          อันตรายจากอาหารแช่แข็งและอาหารแปรรูปเพิ่งถูกค้นพบว่าอาจทำให้เสี่ยงโรคเบาหวานและโรคหลอดเลือดหัวใจเพิ่มขึ้น แนะเลี่ยง หันมากินอาหารสด ๆ กันดีกว่า

          จากการศึกษาของมหาวิทยาลัย Leicester ทำให้ทราบว่าอาหารแปรรูป หรืออาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง โดยเฉพาะอาหารประเภทบด-สับ แล้วนำไปแช่ตู้เย็นทิ้งไว้ อาจเพิ่มสาร PAMPs (pathogen-associated molecular patterns) หรือเชื้อก่อโรค ที่อาจเพิ่มความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคเบาหวานได้

          โดย ดร.Clett Erridge หัวหน้าทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัย Leicester อธิบายว่า การรับประทานอาหารแปรรูปหรืออาหารแช่แข็งบ่อย ๆ ก็รู้กันดีอยู่แล้วว่าอาจทำให้เสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคเบาหวาน และโรคอ้วน แต่ผลการศึกษาชิ้นนี้ของทางมหาวิทยาลัย Leicester จะมาย้ำเตือนอีกครั้งว่าสาร PAMPs หรือเชื้อก่อโรค สามารถพบได้ในอาหารแช่แข็ง อาหารแปรรูป และอาหารสำเร็จรูปบางชนิด และมีแนวโน้มจะเพิ่มความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้จริง ๆ

          ทั้งนี้นักวิจัยก็สันนิษฐานว่า เชื้อก่อโรคหรือสาร PAMPs ที่ว่า อาจเจริญเติบโตในระหว่างกระบวนการผลิตอาหารแปรรูปหรืออาหารแช่แข็งที่อาจจะไม่ถูกสุขลักษณะเพียงพอ และมีแนวโน้มจะกระจายจำนวนของเชื้อแบคทีเรียก่อโรคเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามระยะเวลาที่ถูกแช่แข็งเก็บไว้ ซึ่งเมื่อเรารับประทานอาหารแช่แข็งเหล่านี้เข้าไป สาร PAMPs ก็อาจเข้าไปจู่โจมระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงได้ และมีความไวต่อการเกิดโรคเรื้อรังอย่างโรคหลอดเลือดหัวใจ หรือโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ง่ายขึ้น

กินอาหารที่สับ-บด แช่ไว้ในตู้เย็น อาจเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ
ภาพจาก University of Leicester
 
          อย่างไรก็ดี นักวิจัยได้ลองทดสอบกับอาสาสมัครจำนวน 11 คน โดยแบ่งให้รับประทานอาหารที่แปรรูปแช่แข็งกลุ่มหนึ่ง และรับประทานอาหารสดที่มีสาร PAMPs ในระดับต่ำอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งผลปรากฏว่า กลุ่มที่กินอาหารที่มีสาร PAMPs ต่ำ มีแนวโน้มความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ลดลงราว ๆ 40% และ 15% ตามลำดับ

          แต่สำหรับอาสาสมัครกลุ่มที่กินอาหารแปรรูปบ่อย ๆ กลับมีผลลัพธ์ที่แตกต่างกับกลุ่มแรก โดยมีแนวโน้มจะเสี่ยงต่อโรคดังกล่าวมากกว่า ซึ่งความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานและโรคหลอดเลือดหัวใจนี้ก็ขึ้นอยู่กับสุขภาพของอาสาสมัครแต่ละบุคคลด้วย

          นอกจากนี้นักวิจัยยังเผยว่า อาหารแช่แข็งหรืออาหารแปรรูปที่พบว่ามีสาร PAMPs ค่อนข้างสูง ก็ได้แก่ เนื้อสับ-เนื้อสัตว์บดแช่แข็ง อย่างพวกไส้กรอกหรือเนื้อสัตว์สำหรับทำเบอร์เกอร์ อาหารสำเร็จรูป เช่น ลาซานญ่า พาสต้า ชีสบางชนิด ช็อกโกแลต และผักผลไม้หั่น-สับ-บด แล้วแช่แข็ง เช่น หัวหอม เป็นต้น รวมทั้งอาหารที่มีส่วนประกอบของซอสชนิดต่าง ๆ หรือแซนด์วิช ก็พบว่ามีสาร PAMPs เจือปนอยู่ด้วย

          ดังนั้นทางที่ดีก็ควรรับประทานอาหารและผัก ผลไม้ที่สดใหม่ ซึ่งนักวิจัยตรวจหาสาร PAMPs ในอาหารสด ๆ ไม่พบ และพยายามหลีกเลี่ยงอาหารแช่แข็ง อาหารแปรรูป หรือแม้แต่อาหารที่เราหั่น สับ บด เองแล้วนำไปแช่ตู้เย็นด้วยนะคะ เพราะแม้จะมั่นใจว่ากระบวนการทำอาหารของเราสะอาดเพียงพอ แต่การเก็บอาหารสดแช่ทิ้งไว้ในตู้เย็นก็อาจเสี่ยงที่จะมีเชื้อโรคและแบคทีเรียมาสะสมอยู่ในอาหารที่เราแช่เย็นเอาไว้ได้ ฉะนั้นปรุงสดทุก ๆ จานก็น่าจะปลอดภัยต่อสุขภาพมากกว่า

 
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
Science Daily
Science Newsline




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กินอาหารที่สับ-บด แช่ไว้ในตู้เย็น อาจเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ-เบาหวานเพิ่มขึ้นไม่รู้ตัว อัปเดตล่าสุด 18 มีนาคม 2562 เวลา 15:32:21 18,618 อ่าน
TOP
x close