โรคหัวใจสลาย อาจตายได้เพราะอกหัก สะเทือนใจอย่างหนัก !

        โรคหัวใจสลาย คือ อาการเจ็บป่วยทางร่างกายจริง ๆ ไม่ใช่แค่เรื่องเศร้าเคล้าดราม่าของคนอกหักอย่างที่เข้าใจกัน และบางรายเสียใจมาก ๆ อาการอาจหนักจนถึงตายได้เลย

โรคหัวใจสลาย

        อาการหัวใจสลายดูเหมือนจะเป็นเพียงคำพูดเพื่อให้เห็นภาพความผิดหวังเสียใจได้ชัด ๆ แต่ในทางการแพทย์ก็บอกว่า โรคหัวใจสลาย เป็นความเจ็บป่วยทางกายที่มีอยู่จริง ทั้งยังกระทบต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจของเราไม่น้อย งั้นวันนี้เรามารู้จักโรคหัวใจสลายกันดีกว่า

โรคหัวใจสลาย คืออะไร

        โรคหัวใจสลาย คือ ภาวะหัวใจหยุดทำงานเฉียบพลัน โดยทางการแพทย์เชื่อว่าเกิดจากความเศร้าเสียใจ หรืออาการช็อกจากความสูญเสียจนกระทบให้หัวใจหยุดทำงาน

        ทั้งนี้ โรคหัวใจสลายยังมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า โรคกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติทาโคสึโบะ (Takotsubo Cardiomyopathy) ซึ่งตั้งตามชื่อของแพทย์ชาวญี่ปุ่นที่เป็นผู้ค้นพบโรคนี้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1990 และยังมีชื่อสากลที่เรียกเป็นทางการในวงการแพทย์อีกหลายชื่อ ทั้งกลุ่มอาการอกหัก (Broken Heart Syndrome), โรคกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อมที่ถูกเหนี่ยวนำจากภาวะเครียด (Stress Induced Cardiomyopathy) หรือกลุ่มอาการที่หัวใจห้องล่างส่วนปลายโป่งพอง (Apical Ballooning Syndrome)

โรคหัวใจสลาย เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง

        สาเหตุของโรคหัวใจสลายยังไม่สามารถฟันธงได้ว่าเกิดจากอะไรกันแน่ แต่กลไกที่ใกล้ความเป็นไปได้มากที่สุดคือ ผู้ป่วยโรคนี้จะมีระดับฮอร์โมนความเครียดหลั่งออกมาสูงมากอย่างเฉียบพลัน (stress-induced catecholamine release) ส่งผลกระทบโดยตรงต่อหัวใจและหลอดเลือด โดยอาจเกี่ยวกับการที่หัวใจด้านซ้ายไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ

        ทั้งนี้ อาการที่เกิดขึ้นก็มีส่วนเกี่ยวเนื่องมาจากสมองมีการหลั่งสารแคทีโคลามีน (Catecholamine) หรือสารสื่อประสาท เช่น อีพินีฟริน นอร์อีพิเนฟริน และโดพามีน ในขณะที่เกิดความเครียดมาก ๆ หรือมีสิ่งสะเทือนใจอย่างรุนแรง เช่น สูญเสียคนรักอย่างกะทันหัน พ่อ แม่ ญาติสนิทเสียชีวิต เจอความผิดหวังเสียใจหนัก ๆ ทำให้หลอดเลือดหัวใจเกร็งและแข็งตัวทันที เลือดจึงไม่สามารถผ่านไปเลี้ยงหัวใจได้ และหากเป็นในเวลานาน หัวใจก็ไม่อาจสูบฉีดเลือดได้ตามปกติ นำมาซึ่งภาวะหัวใจล้มเหลว และอาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตในที่สุด

โรคหัวใจสลาย

โรคหัวใจสลาย ใครเสี่ยงบ้าง

        จริง ๆ แล้วโรคนี้สามารถเกิดได้กับทุกคน โดยไม่จำเป็นต้องมีประวัติโรคหัวใจร่วมด้วยเลย ทว่าผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 55 ปี จะมีโอกาสเป็นโรคหัวใจสลายมากกว่าผู้ชายในวัยเดียวกันถึง 3 เท่า ขณะที่ผู้หญิงที่อายุน้อยกว่า 55 ปี ก็มีโอกาสเป็นโรคหัวใจสลายมากกว่าผู้ชายวัยเดียวกันถึง 9.5 เท่าเลยทีเดียว

        ทั้งนี้ มีการสันนิษฐานไว้ว่า ความเสี่ยงโรคหัวใจสลายในสตรีวัยหมดประจำเดือนมีค่อนข้างสูง เพราะร่างกายขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจทนต่อฮอร์โมนความเครียดได้น้อยลง แต่ในประเด็นที่ผู้หญิงอาจเสี่ยงโรคนี้มากกว่าผู้ชาย ก็เป็นไปได้ว่า ผู้ชายสามารถรับแรงกดดันและภาวะเครียดได้ดีกว่า เนื่องจากในเซลล์ร่างกายเพศชายมีตัวรับอะดรีนาลินมากกว่าเพศหญิงนั่นเอง

อาการหัวใจสลาย เป็นอย่างไร

        อาการของโรคหัวใจสลายมีความคล้ายคลึงกับโรคหัวใจวาย โดยผู้ป่วยจะมีอาการดังนี้

        - เจ็บหน้าอก

        - หายใจลำบาก

        - หายใจหอบเร็ว

        - ปวดแขน โดยเฉพาะแขนซ้าย

        - เหงื่อแตก

        - ความดันโลหิตขึ้นสูง

        - ม่านตาขยาย

        - เป็นลม หมดสติ

        - หัวใจเต้นเร็ว

        - กล้ามเนื้อหดตัวและเกร็ง

        - หัวใจหยุดเต้น

        ซึ่งอาการหลัก ๆ ที่จะสังเกตได้ชัดว่าผู้ป่วยอยู่ในสภาวะหัวใจสลายก็คือ อาการเจ็บหน้าอกและหายใจลำบาก

โรคหัวใจสลาย

การรักษาโรคหัวใจสลาย   

        เนื่องจากยังหาสาเหตุของโรคที่แน่ชัดไม่ได้ การรักษาโรคหัวใจสลายในปัจจุบันก็ไม่มีวิธีที่แน่ชัดเช่นกัน แต่แพทย์อาจทำการรักษาแบบประคับประคองอาการไป โดยส่วนหนึ่งอาจให้การรักษาแบบผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลว ซึ่งจะใช้ยาในการรักษา ทว่าในเคสที่อาการค่อนข้างหนักอาจต้องใช้เครื่องพยุงการทำงานของหัวใจ (Intra-aortic balloon pump) ร่วมด้วย

การวินิจฉัยโรค

        แม้อาการโรคหัวใจสลายจะคล้ายกับโรคหัวใจวาย แต่แพทย์จะวินิจฉัยความแตกต่างของโรคหัวใจสลายกับโรคหัวใจวายได้จากข้อสังเกตดังต่อไปนี้

        - ความแตกต่างของภาพแสดงคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ผลของผู้ป่วยโรคหัวใจสลายจะไม่ใกล้เคียงกับผลของผู้ป่วยโรคหัวใจวายเลย

        - ผลเลือดของผู้ป่วยโรคหัวใจสลายจะไม่ปรากฏสัญญาณความเสียหายของหัวใจ

        - ไม่พบการอุดตันของหลอดเลือดแดงใหญ่ที่หัวใจในผู้ป่วยโรคหัวใจสลาย

        - ตรวจพบความผิดปกติของการไหลเวียนเลือดในหัวใจห้องล่างซ้ายของผู้ป่วยโรคหัวใจสลาย

        - อาการของผู้ป่วยโรคหัวใจสลายจะสามารถรักษาให้หายได้ในเวลาไม่นาน อาจไม่กี่วันหรือไม่กี่สัปดาห์ ต่างจากผู้ป่วยโรคหัวใจวายที่กว่าจะรักษาให้อาการดีขึ้นก็ต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน

        นอกจากนี้การวินิจฉัยแยกโรคยังต้องคำนึงถึงโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน และภาวะลิ่มเลือดอุดกั้นในปอดด้วย

การป้องกันและเยียวยาผู้ป่วยโรคหัวใจสลาย

        การป้องกันโรคหัวใจสลายได้ดีที่สุดคือความเข้มแข็งของจิตใจ การปล่อยวางและพยายามไม่คิดเรื่องที่ตอกย้ำความผิดหวังหรือเสียใจ และให้เวลาช่วยเยียวยาอย่างค่อยไปค่อยไป แต่หากคิดว่าเจ็บจนไม่น่าจะทนไหว หรือหาทางออกไม่เจอ ก็ควรหันหน้าไปปรึกษากับจิตแพทย์นะคะ

ขอบคุณข้อมูลจาก
ภาควิชาฉุกเฉิน โรงพยาบาลรามาธิบดี, American Heart Association, WebMd

    
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรคหัวใจสลาย อาจตายได้เพราะอกหัก สะเทือนใจอย่างหนัก ! อัปเดตล่าสุด 9 กันยายน 2563 เวลา 14:43:40 42,411 อ่าน
TOP
x close