ออกกำลังกายหักโหมมากเกินไป อาจทำสุขภาพร่างกายพัง เช็กตัวเองด้วย 10 สัญญาณเหล่านี้ หากมีกับตัวเมื่อไร ต้องรีบหยุดพักเรื่องออกกำลังกาย
จริงอยู่ที่การออกกำลังกายนั้นดีกับสุขภาพ แต่ในอีกมุมหนึ่งการออกกำลังกายก็มีข้อเสียหากหักโหมร่างกายมากเกินไป ซึ่งผลที่ตามมาจากการออกกำลังกายหนักจนเกินไปนั้นก็มีตั้งแต่อาการบาดเจ็บ ปัญหาสุขภาพจิต ไม่เว้นแม้แต่ความเสี่ยงโรคร้ายแรงอย่างโรคหัวใจ แต่เราจะรู้ได้อย่างไรล่ะว่า การออกกำลังกายที่ทำอยู่นั้นหนักและมากเกินความพอดี นี่คือ 10 สัญญาณสุขภาพที่จะบ่งบอกว่าคุณออกกำลังกายมากเกินไปหรือไม่ ถ้ามีอาการเหล่านี้มาทักทาย รีบเปลี่ยนตารางออกกำลังกายใหม่เดี๋ยวนี้เลย
1. ปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรงและเฉียบพลัน
อาการปวดกล้ามเนื้อแบบเฉียบพลัน นับเป็นสัญญาณอันดับแรกที่มักเกิดขึ้นกับคนที่ออกกำลังกายอย่างหนัก และจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นจนกลายเป็นอาการกล้ามเนื้อหรือข้อต่ออักเสบ อันจะส่งผลเสียต่อกล้ามเนื้อในระยะยาว ดังนั้นถ้าคุณเกิดอาการปวดอย่างรุนแรงแบบกะทันหันละก็ หยุดออกกำลังกายสักพักจนกว่าจะหายดีเถอะค่ะ จะได้ไม่ต้องมานั่งรักษาอาการกล้ามเนื้ออักเสบกันทีหลัง
2 ประจำเดือนผิดปกติ
คุณสาว ๆ ที่ออกกำลังกายหนักเป็นประจำต้องระวังให้ดีเลย เพราะการออกกำลังกายหักโหมเกินไปอาจเร่งการผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอล หรือฮอร์โมนความเครียด ซึ่งอาจกระทบกับการผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนได้ และเมื่อฮอร์โมนดังกล่าวลดลง ประจำเดือนก็จะเริ่มขาดหรือเลื่อน ไม่เพียงเท่านั้น ยังส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์ด้วย ยิ่งถ้าคุณสาว ๆ ทั้งออกกำลังกายอย่างหนัก และควบคุมอาหารอย่างเคร่งครัดด้วยละก็ จะยิ่งทำให้ประจำเดือนผิดปกติมากขึ้น ทางที่ดีออกกำลังกายและรับประทานอาหารอย่างพอดีกันดีกว่าค่ะ
3. เท้าและเข่าบวมแดง
สำหรับคนที่ชอบวิ่งออกกำลังกายเป็นประจำ อาการบวมแดงที่บริเวณข้อเท้าหรือเข่าถือเป็นสัญญาณที่บอกให้รู้ว่าคุณหักโหมกับการวิ่งมากเกินไป และถ้าหากคุณมองข้ามไปก็เท่ากับว่าคุณเพิ่มความเสี่ยงภาวะกล้ามเนื้อหน้าแข้งอักเสบอย่างรุนแรง ซึ่งอาจจะทำให้คุณถึงขั้นเดินไม่ได้เลยทีเดียว รู้แบบนี้แล้ว หมั่นสังเกตอาการบวมแดงกันสักหน่อยนะคะ
4. ภูมิคุ้มกันผิดปกติ
ขอบอกเลยค่ะว่าการออกกำลังกายอย่างหนักไม่ได้ทำให้ภูมิคุ้มกันแข็งแรงมากขึ้น ในทางกลับกัน การออกกำลังกายที่มากเกินขีดจำกัดของร่างกายสามารถทำร้ายระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายต่ำลง และส่งผลให้เกิดอาการอักเสบ การเจ็บป่วยขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะยิ่งไปเพิ่มความเสี่ยงโรคร้ายแรงต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ หรือแม้แต่โรคมะเร็ง ฉะนั้นอย่ามัวแต่นึกถึงความฟิต&เฟิร์มของตัวเองเลยจะดีกว่า ออกกำลังกายแค่พอเหมาะแต่ทำอย่างสม่ำเสมอ แบบนี้ได้ผลดีกว่าค่ะ
5. กล้ามเนื้อกระตุก
กล้ามเนื้อกระตุก เป็นสัญญาณสุขภาพที่ไม่ดีอย่างรุนแรง เพราะนั่นแปลว่าคุณกำลังเข้าสู่ภาวะกล้ามเนื้ออ่อนล้า ซึ่งถ้าหากคุณยังคงออกกำลังกายอย่างหนักต่อไป จะทำให้คุณเสี่ยงต่อภาวะกล้ามเนื้ออักเสบหรือฉีกขาดได้ ฉะนั้นสัญญาณเล็ก ๆ นี้อย่ามองข้ามเลยนะคะ เพื่อความปลอดภัย
6. น้ำหนักลดมากผิดปกติ
หลายคนใช้การออกกำลังกายเพื่อลดน้ำหนักส่วนเกิน แต่การที่น้ำหนักลดลงมาก ๆ อย่างรวดเร็วหลังจากการออกกำลังกายหนัก ๆ บอกเลยว่านั่นไม่ได้แปลว่าคุณประสบความสำเร็จในการออกกำลังกายนะ แต่เป็นสัญญาณที่บอกว่าคุณออกกำลังกายมากเกินไปต่างหาก และถึงแม้ว่าจะผอมลง แต่สุขภาพก็จะแย่ลงด้วยเช่นกัน ดังนั้นควรออกกำลังกายแต่พอดี และหยุดพักบ้างตามความเหมาะสม แม้ว่าจะผอมช้ากว่าแต่ก็ดีในระยะยาวค่ะ
7. ความดันโลหิตสูง
การออกกำลังกายที่หนักมากเกินไปจะเร่งการสูบฉีดของเลือดให้มากขึ้นและทำให้ความดันโลหิตในขณะที่ออกกำลังกายสูงขึ้น เป็นการเพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด แต่หากคุณเลิกออกกำลังกายแล้วยังมีภาวะความดันโลหิตสูงอยู่ ทั้ง ๆ ที่คุณไม่มีความเสี่ยงโรคนี้ละก็ บอกได้เลยว่านั่นเป็นสัญญาณอันตรายที่คุณควรหยุดออกกำลังกายสักพัก ไม่อย่างนั้นส่งผลระยะยาวถึงสุขภาพหัวใจแน่นอน
8. เกิดภาวะหิดปลาทู (Hit The Plateau)
หิดปลาทู เป็นชื่อเรียกกันแบบไทย ๆ ของภาวะ Hit The Plateau ซึ่งเป็นภาวะที่ไม่ว่าจะออกกำลังกายหนักแค่ไหนร่างกายก็ไม่เกิดความเปลี่ยนแปลง เนื่องจากร่างกายเคยชินกับการออกกำลังกายหนัก ๆ เป็นเวลานาน โดยบางคนอาจจะเรียกภาวะนี้ว่าเป็นภาวะระบบเผาผลาญพัง
โดยอาการที่สังเกตได้ชัดเจนก็คือ แม้ว่าคุณจะออกกำลังกาย ควบคุมอาหาร หรือดูแลสุขภาพอย่างเคร่งครัดแค่ไหน น้ำหนักก็ไม่ลดลง แต่จะให้เพิ่มการออกกำลังกายให้หนักหรือจะลดการกินก็ทำไม่ไหว วิธีแก้ก็คือควรหยุดออกกำลังกายไปสักประมาณ 1 สัปดาห์ และปรับเปลี่ยนการรับประทานอาหารให้เหมาะสม พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่งั้นสุขภาพพังระยะยาวแน่นอนค่ะ
9. ไม่มีเรี่ยวแรง
โดยปกติแล้วการออกกำลังกายจะช่วยให้เรามีเรี่ยวแรงมากขึ้น เพราะการออกกำลังกายจะไปกระตุ้นการทำงานต่าง ๆ ของร่างกาย และเร่งระบบเผาผลาญในร่างกาย แต่ถ้าหากคุณออกกำลังกายเสร็จแล้วรู้สึกหมดแรงไปตลอดทั้งวัน รู้ไว้เลยค่ะว่านั่นคือสัญญาณที่บอกว่าคุณออกกำลังกายมากเกินไป จนทำให้ร่างกายอ่อนล้าสะสม ทางที่ดีคือหยุดออกกำลังกายไปสัก 1-2 วันเพื่อให้ร่างกายฟื้นตัว และควรจะปรับการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับความสามารถของร่างกายค่ะ
10. อารมณ์แปรปรวน
แม้การออกกำลังกายจะช่วยให้คลายเครียดและทำให้อารมณ์ดีขึ้นก็จริง แต่การออกกำลังกายมากจนเกินไปก็ทำให้อารมณ์แปรปรวนได้ เพราะเมื่อคุณออกกำลังกายอย่างหนักก็จะเกิดความตึงเครียดสะสมภายในกล้ามเนื้อ เมื่อสะสมมาก ๆ ก็จะทำให้คุณเกิดความเครียดจนหงุดหงิดได้ ถ้าไม่อยากให้สุขภาพจิตเสีย ออกกำลังกายแต่พอดีกันดีกว่านะคะ
ได้ทราบกันแบบนี้แล้วก็อย่าเข้าใจผิดว่าการออกกำลังกายนั้นไม่ดีกับสุขภาพไปเสียก่อนล่ะ เพราะถ้าหากเราออกกำลังกายกันแบบพอดี ๆ ผลที่ได้ก็จะมีประสิทธิภาพในระยะยาว แถมถ้าทำควบคู่กับการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และการนอนหลับที่เพียงพอด้วย สุขภาพก็จะดีไปกว่าเดิมแน่นอนเลย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
prevention
mnn
12minuteathlete