บอแรกซ์ สารเคมีที่แฝงอยู่ในอาหารใกล้ตัวเรา มีอันตรายแค่ไหน มารู้จักไว้ดีกว่า

อาหารที่เรากินกันอยู่ทุกวันอาจมีสารเคมีอันตรายซุกซ่อนอยู่ อย่างเนื้อหมูที่ยังใส่สารบอแรกซ์ เพื่อให้สีของเนื้อหมูแดงสวย ไม่เขียวคล้ำ เน่าเสียได้ง่าย ๆ ซึ่งสรรพคุณของสารบอแรกซ์ก็เหมือนจะดี แต่จริง ๆ แล้วกลับมีอันตรายอยู่ไม่น้อย และวันนี้เราจะพาทุกคนมารู้ว่าบอแรกซ์คืออะไร อันตรายแค่ไหนกันนะ
บอแรกซ์ คืออะไร
ผงบอแรกซ์ เป็นสารอนินทรีย์สังเคราะห์ที่มีชื่อทางเคมีว่าโซเดียมบอเรต (Sodium borate) หรือที่บางคนเรียกว่า น้ำประสานทองแดง ผงกรอบ หรือในภาษาจีนที่เรียกว่า เม่งแซ
บอแรกซ์มีลักษณะเป็นผงสีขาวขุ่น คล้ายแป้ง หรืออาจมีลักษณะเป็นเม็ดกลมขุ่น ขนาดเล็กกว่าเม็ดสาคู มีคุณสมบัติละลายน้ำได้ดี มีรสชาติหวานเล็กน้อย

บอแรกซ์ ใช้ทำอะไรได้บ้าง
หลายคนน่าจะสงสัยว่าบอแรกซ์ใช้ทำอะไรได้บ้าง ต้องบอกว่าในทางอุตสาหกรรมเขานิยมใช้ผงบอแรกซ์ในการผลิตแก้ว ภาชนะเคลือบ ชุบโลหะ เพื่อทำให้วัสดุทนทานความร้อนได้ดีขึ้น หรือใช้ในการผสมสูตรผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าเชื้อราเพื่อการดูแลรักษาเนื้อไม้ และใช้เป็นตัวประสานเชื่อมทอง เป็นต้น
บอแรกซ์ อันตรายไหม ใช้ผสมอาหารได้หรือเปล่า
จากคุณสมบัติเบื้องต้นของสารบอแรกซ์ก็น่าจะเห็นกันได้ชัดอยู่แล้วว่าเราไม่ควรนำบอแรกซ์มาใส่ในอาหารไม่ว่าจะกรณีใด เนื่องจากบอแรกซ์เป็นสารที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 151 (พ.ศ. 2536) ที่กำหนดให้บอแรกซ์เป็นวัตถุที่ห้ามใช้ในอาหารโดยเด็ดขาด เพราะหากบริโภคสารบอแรกซ์เข้าไปอาจทำให้เกิดพิษสะสมในร่างกาย โดยหากกินผงบอแรกซ์เข้าไปจำนวนมาก อาจทำให้เกิดการระคายเคือง หรือเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินอาหารอย่างรุนแรง
ทั้งนี้ สารบอแรกซ์ยังจัดว่าเป็นสารพิษต่อเซลล์ของร่างกาย หากไปสะสมในเซลล์ส่วนไหนของร่างกายมาก ๆ จะเกิดการดูดซึมเข้าไปยังอวัยวะต่าง ๆ (โดยมากจะสะสมในกรวยไต) อาจทำให้เกิดอาการอักเสบ อย่างหากมีบอแรกซ์สะสมในกรวยไตมากเกินไป จะทำให้ไตเกิดอาการอักเสบหรือตกอยู่ในภาวะไตพิการได้เลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม แม้เราจะได้รับสารบอแรกซ์เข้าไปในร่างกายไม่มากนัก แต่หากได้รับสารนี้เข้าไปบ่อย ๆ หรือกินอาหารที่ผสมผงบอแรกซ์เป็นประจำ อาจเกิดอันตรายต่อไตได้ และในเด็กที่ได้รับสารบอแรกซ์เกิน 5 กรัม (ในครั้งเดียว) อาจถึงแก่ชีวิตได้ หรือในผู้ใหญ่ที่กินสารนี้เข้าไปเกิน 15 กรัม อาจอันตรายถึงแก่ชีวิตได้เช่นกัน
เราจะพบสารบอแรกซ์ได้ในอาหารประเภทไหน

เราจะตรวจสอบสารบอแรกซ์ในอาหารได้อย่างไร
เนื่องจากยังคงมีการตรวจพบสารบอแรกซ์ปนเปื้อนในอาหารอยู่เรื่อย ๆ ดังนั้น กองวิเคราะห์อาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จึงได้จัดทำชุดทดสอบการปนเปื้อนสารบอแรกซ์นอกห้องปฏิบัติการขึ้นมา ซึ่งเป็นชุดทดสอบที่ประชาชนสามารถทดสอบได้ด้วยตัวเอง โดยวิธีการทดสอบการปนเปื้อนของสารบอแรกซ์ในอาหารสามารถทำได้ดังนี้
1. สับตัวอย่างอาหารเป็นชิ้นเล็ก ๆ เท่าหัวไม้ขีดไฟ
2. ตักตัวอย่าง 1 ช้อน ใส่ในบีกเกอร์ (อุปกรณ์ชุดทดสอบ) หรือถ้วยแก้ว
3. เติมน้ำยาทดสอบบอแรกซ์จนตัวอย่างอาหารเปียกชุ่ม แล้วคนให้เข้ากัน
4. จุ่มกระดาษขมิ้นลงไปในถ้วยทดสอบ รอให้กระดาษเปียกประมาณครึ่งแผ่น
5. นำกระดาษขมิ้นไปตากแดดนาน 10 นาที
6. สังเกตสีของกระดาษขมิ้น หากกระดาษมีสีแดง แปลว่ามีบอแรกซ์ปนเปื้อนอยู่
อันตรายจากบอแรกซ์ เมื่อกินเข้าไปมาก ๆ

อาการบ่งชี้ในกรณีที่ร่างกายได้รับผงบอแรกซ์ในระดับอันตราย สามารถเกิดได้ 2 กรณี คือ
● 1. กรณีอาการเฉียบพลัน
ผู้ได้รับสารเข้าไปจะมีอาการอ่อนเพลีย นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ หงุดหงิด ผิวหนังอักเสบ เป็นผื่นแดง ผมร่วงผิดปกติ คลื่นไส้ อาเจียน เจ็บในช่องท้อง กระเพาะอาหาร และลำไส้ อุจจาระเป็นเลือดในบางครั้ง หรือท้องร่วง
● 2. กรณีอาการเรื้อรัง
ผู้ที่ได้รับสารเข้าไปจะมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ผิวหนังแห้ง หน้าบวม ตาบวม เยื่อตาอักเสบ ตับหรือไตอักเสบหรือพิการ
อย่างไรก็ดี อาการเหล่านี้สามารถรักษาได้ตามอาการที่ผู้ได้รับสารแสดงเท่านั้น และที่น่าเป็นห่วงคือหากมีการสะสมสารบอแรกซ์ในร่างกายอยู่เรื่อย ๆ จนการทำงานของไตผิดปกติไปแล้ว การรักษาก็อาจจะทำได้ยาก หรืออาจต้องเปลี่ยนไตใหม่สถานเดียว
วิธีป้องกันสารบอแรกซ์ เราจะหลีกเลี่ยงได้อย่างไร
- ไม่ซื้อเนื้อหมูที่มีสีแดงผิดปกติ หรือมีสีเนื้อที่ดูผิดไปจากธรรมชาติ
- ไม่ควรซื้อเนื้อหมูบดสำเร็จรูป ควรซื้อเนื้อหมูเป็นชิ้นแล้วนำมาบดเอง
- ไม่ควรรับประทานอาหารที่มีลักษณะกรอบเด้ง หรืออยู่ได้นานผิดปกติ โดยเฉพาะของทอดที่มีความกรอบยาวนาน เป็นต้น
- ไม่ควรกินบอแรกซ์เด็ดขาด เช่น การนำไปผสมน้ำดื่มด้วยความเชื่อว่าจะช่วยรักษาโรคได้ นอกจากจะไม่เป็นความจริงแล้ว ยังเป็นอันตรายต่อร่างกายในระยะยาว โดยเฉพาะโรคตับและโรคไต