แพทย์ยัน เมทแอมเฟตามีน ใช้รักษาผู้ป่วยสมาธิสั้นได้ แต่ต้องคุมปริมาณ



แพทย์ยัน เมทแอมเฟตามีน ใช้รักษาผู้ป่วยสมาธิสั้นได้ แต่ต้องคุมปริมาณ

           รองอธิบดีกรมการแพทย์ ยัน เมทแอมเฟตามีน ใช้รักษาผู้ป่วยสมาธิสั้นได้ แต่ต้องควบคุมปริมาณ ชี้ข้อเสนอถอดสารตั้งต้นยาบ้าจากบัญชียาเสพติด เพื่อหนุนการรักษาโรคเท่านั้น

           วันนี้ (1 กรกฎาคม 2559) นายแพทย์ภาสกร ชัยวานิชศิริ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ยืนยันว่าสาร "เมทแอมเฟตามีน" ซึ่งเป็นสารตั้งต้นยาบ้า สามารถนำมารักษาผู้ป่วยที่มีสมาธิสั้นได้ แต่หากใช้เกินประมาณอาจไปกดประสาทจนหยุดหายใจ ดังนั้นมาตรการเปลี่ยนสถานะของเมทแอมเฟตามีนจากสารเสพติด มาเป็นวัตถุออกฤทธิ์ จึงไม่ใช่การส่งเสริมให้คนใช้สารเสพติดมากขึ้น มีเพื่อการรักษาโรคเท่านั้น และเชื่อว่าข้อเสนอนี้เป็นหนึ่งในมาตรการเพื่อลดจำนวนผู้เสพ-ผู้ขายในตลาดมืด

           ในส่วนที่ พล.อ. ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ระบุว่าสารเมทแอมเฟตามีนทำลายสุขภาพและสมอง น้อยกว่าบุหรี่และสุรานั้น มีข้อมูลจากงานวิจัยของเดวิส นัท ในประเทศอังกฤษ เมื่อปี 2553 ซึ่งจัดอันดับสิ่งที่อันตรายต่อสุขภาพและสังคมมากที่สุด คือ สุรา เมื่อเทียบกับยาเสพติดที่ผิดกฎหมายและยาออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ส่วนกาแฟหากดื่มมากไปก็ถือเป็นสารเสพติดประเภทหนึ่ง แต่ไม่ค่อยถูกกล่าวถึง   

           ทางด้าน นายณรงค์ รัตนุกูล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ชี้ว่าข้อเสนอถอนสารเมทแอมเฟตามีนออกจากบัญชียาเสพติด เป็นเพียงแนวทางในการปราบปรามเท่านั้น เพื่อควบคุมสารตั้งต้นของยาบ้าให้มีความเหมาะสมและได้สัดส่วน  ส่วนการนำสารเมทแอมเฟตามีนไปรักษาโรคนั้น อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ แต่ไม่เห็นด้วยที่จะให้ยาเสพติดถูกต้องตามกฎหมาย


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แพทย์ยัน เมทแอมเฟตามีน ใช้รักษาผู้ป่วยสมาธิสั้นได้ แต่ต้องคุมปริมาณ อัปเดตล่าสุด 1 กรกฎาคม 2559 เวลา 14:15:34 12,807 อ่าน
TOP
x close