โรคจิตหลงผิด ชอบหวาดระแวง-เชื่ออะไรแปลก ๆ อาการนี้ต้องรักษา !

          หากพูดถึงคำว่า "โรคจิต" แล้ว หลายคนอาจนึกภาพคนโรคจิตว่า ต้องมีอาการสับสน พูดจาไม่รู้เรื่อง วกไปวนมา จำได้บ้างไม่ได้บ้าง หรืออาจจะอาละวาดคลุ้มคลั่งอะไรก็ตาม แต่ในความเป็นจริงแล้ว "โรคจิต" มีด้วยกันหลายชนิด และแสดงอาการแตกต่างกันออกไป
โรคจิตหลงผิด

          อย่างเช่นที่เราเคยได้ยินข่าวคราวของคนที่เข้าใจว่า มีแมลงจำนวนมากไต่ออกมาจากผิวหนัง ทั้งที่ตรวจแล้วไม่พบ นี่ก็เป็นหนึ่งในอาการทางจิตเวชที่เรียกว่า "โรคจิตหลงผิด" เช่นกัน

          วันนี้กระปุกดอทคอม จึงชวนมาทำความรู้จักกับ "โรคจิตหลงผิด" กันให้มากขึ้น เพราะเป็นอาการทางจิตเวชที่พบได้บ่อยในปัจจุบัน และคนใกล้ตัวมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยรักษาผู้ป่วยโรคนี้ด้วย

โรคจิตหลงผิด และอาการ

          โรคจิตหลงผิด หรือ Delusional Disorder เดิมเรียกว่า โรคหวาดระแวง (Paranoia หรือ Paranoid disorder) แต่ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "โรคจิตหลงผิด" เพราะโรคนี้ไม่ได้มีแค่แสดงอาการหวาดระแวงเพียงอย่างเดียว แต่โรคจิตหลงผิดเป็นอาการที่ผู้ป่วยจะหลงผิดเป็นอาการเด่น โดยปักใจเชื่อบางสิ่งบางอย่างอย่างฝังแน่น โดยไม่ว่าจะมีหลักฐาน เหตุผล หรือคำชี้แจงใด ๆ ที่น่าเชื่อถือมาโต้แย้ง ผู้ป่วยก็ยังจะคงฝังใจเชื่อสิ่งนั้นอยู่

          โดยเรื่องที่หลงผิดนั้น อาจจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง เช่น เชื่อว่าถูกคนกลั่นแกล้ง ปองร้าย จนไม่กล้าออกไปไหน หรือเข้าใจว่าคน ๆ นั้นไม่ชอบหน้า ทั้งที่ในความเป็นจริงไม่มีเรื่องเช่นนี้ หรืออาจเข้าใจว่าตัวเองกลับชาติมาเกิด ตัวเองเป็นดาราคนนั้น เจ้าหญิง เจ้าชายบ้างก็มี นอกจากนี้ ยังอาจมีความเข้าใจผิดที่แปลก ๆ เช่น เชื่อว่ามีคลื่นไฟฟ้าส่งมาจากคนบางคนเพื่อทำร้ายให้ตนเองป่วย หรือเชื่อว่าตนเองท้องได้หลายเดือนทั้ง ๆ ที่ท้องไม่ได้โตขึ้นกว่าปกติ เป็นต้น

          อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยโรคจิตหลงผิดนี้ ส่วนใหญ่จะมีการพูดจาท่าทางปกติ ไม่มีพฤติกรรมแปลก ๆ แสดงออกชัด เพราะยังสามารถทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างปกติ จึงยากต่อการสังเกต แต่บางครั้งอาจมีพฤติกรรมไม่เข้าสังคม หูแว่ว ระแวง ไม่เป็นมิตร และอาจมีพฤติกรรมรุนแรงต่อความเชื่อของตัวเองด้วย

          ทั้งนี้ โรคจิตหลงผิด มักเกิดกับช่วงวัยกลางคน จนถึงวัยสูงอายุ แต่ก็พบได้ในวัยรุ่นตอนปลายเช่นกัน โดยรวมแล้ว โรคจิตหลงผิด เป็นโรคที่พบได้น้อย คือประมาณ 0.025-0.03 เปอร์เซ็นต์ของประชากรเท่านั้น แต่มักป่วยเป็นเรื้อรัง คือหายแล้วแต่ยังมีอาการอยู่บ้างเป็นระยะ ๆ และมีจำนวนหนึ่งที่หายขาด

โรคจิตหลงผิด

ประเภทของ โรคจิตหลงผิด

          โรคจิตหลงผิด สามารถแบ่งจำแนกได้อีกหลายประเภทคือ

           1. Erotomanic type หลงผิดว่าบุคคลอื่นมาหลงรักตนเอง หรือเป็นคู่รักของตัวเอง โดยบุคคลนั้นมักเป็นผู้ที่มีความสำคัญ หรือมีชื่อเสียง ผู้ป่วยอาจเก็บอาการหลงผิดนี้ไว้ เป็นความลับหรืออาจแสดงออกต่อสาธารณชน ขึ้นกับบุคลิกภาพเดิมของผู้ป่วย บางรายก็ไปก่อกวนหรือทำให้คนอื่นหลงเชื่อก็มี

           2.Grandiose type เชื่อว่าตนเองมีความสามารถเหนือกว่าผู้อื่น มีความหยั่งรู้พิเศษ มีอำนาจ มีเงินทองมากมาย หรือหลงผิดว่าตนเองเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับบุคคลสำคัญ เชื้อพระวงศ์ พระอรหันต์

           3.Jealous type หลงผิดว่าคู่ครองของตนนอกใจ อาการนี้พบได้บ่อยและบางครั้งอาจแยกได้ยาก ว่าเป็นเรื่องจริงหรืออาการหลงผิด

           4. Persecutory type ระแวงว่าตนเองถูกกลั่นแกล้ง สะกดรอย หรือวางยาพิษ หมายเอาชีวิต ซึ่ง เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุด

           5.Somatic type หลงผิดเกี่ยวกับร่างกายของตนเอง เช่น หลงผิดว่าบางส่วนของร่างกายผิดรูปร่าง น่าเกลียด ไม่สวยไม่หล่อ มีกลิ่นตัว หรืออวัยวะบางอวัยวะไม่ทำงาน เป็นโรคบางโรค ซึ่งหนึ่งในโรคจิตหลงผิด ประเภท Somatic type ที่ปรากฎเป็นข่าวบ่อยในช่วงนี้ คือ Delusions of parasitosis หรือ โรคจิตหลงผิดว่ามีปรสิตที่ผิวหนัง โดยผู้ป่วยจะรู้สึกไปเองว่ามีแมลงผุดไชออกมาตามผิวหนัง แล้วไปแกะเกาจนเป็นตุ่มเป็นแผล แม้แพทย์จะตรวจแล้วไม่พบความผิดปกติ แต่ผู้ป่วยก็ยังคงเชื่อเช่นนั้น และไม่ยอมรับว่าตัวเองผิดปกติทางจิต

           6.Mixed Type: มีอาการหลงผิดมากกว่าหนึ่งอาการข้างต้น และไม่มีอาการใดโดดเด่น

โรคจิตหลงผิด

สาเหตุของโรคจิตหลงผิด

          การวินิจฉัยสาเหตุของโรคจิตหลงผิดยังไม่แน่ชัด เนื่องจากผู้ป่วยโรคหลงผิดมักไม่ค่อยไปพบแพทย์ ทำให้ได้รับการวินิจฉัยเป็นส่วนน้อย เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ป่วยที่มีอยู่จริง ส่วนผู้ที่มาพบแพทย์ ก็มักเป็นผู้ป่วยที่หลงผิดทางร่ายกายเสียมากกว่า แต่ก็ยังพอสรุปสาเหตุที่น่าจะทำให้เกิดโรคจิตหลงผิดได้คือ

           1. ปัจจัยด้านจิตใจ

          พบว่าคนที่ป่วยเป็นโรคจิตหลงผิด เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงดูในช่วงวัยเด็ก ในลักษณะที่ทำให้ขาดความไว้วางใจต่อโลกภายนอก

           2.ปัจจัยด้านสังคม

          มักพบโรคนี้ในกลุ่มผู้อพยพ หรือกลุ่มที่ต้องพบกับสภาวะต่าง ๆ ที่มีความเครียดสูง และชนชั้นที่มีเศรษฐฐานะต่ำ

           3.ปัจจัยด้านชีวภาพ

          เกิดจากสารสื่อประสาทในสมอง หรือ สารโดปามีน ซึ่งเป็นสารที่เกี่ยวข้องกับการได้ยิน ได้ฟัง มีมากเกินไป ทำให้ไม่สมดุล ซึ่งจะเกิดอาการหูแว่ว ตีความหมายผิด ๆ คิดว่าคนจะทำร้ายตัวเอง อย่างเช่น คนที่เสพยาบ้ามาก ๆ ก็จะมีสารโดปามีนมาก และมักมีอาการหวาดระแวงกลัวคนจะมาฆ่า มาทำร้าย

การวินิจฉัยแยกโรค

          เนื่องจากอาการหลงผิด เกิดได้จากสาเหตุหลาย ๆ อย่าง เช่น โรคบางอย่างอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการหลงผิด คล้ายกับโรคจิตหลงผิด หรือผู้ป่วยที่มีอารมณ์แปรปรวนก็อาจมีอาการหลงผิดร่วมด้วย ทั้งที่ไม่ได้เป็นโรคจิตหลงผิดก็ได้ ดังนั้นจึงต้องให้แพทย์วินิจฉัยว่า ป่วยเป็นโรคจิตหลงผิดหรือไม่ หรืออาจจะเป็นแค่เพียงอาการหวาดระแวง วิตกกังวลธรรมดา ๆ

โรคจิตหลงผิด

การรักษาโรคจิตหลงผิด

          การรักษาจะเน้นให้ผู้ป่วยปรับตัวอยู่ในสังคมได้ พร้อม ๆ กับการให้ยารักษาโรคจิต ซึ่งต้องทานต่อเนื่อง อาจจะ 6 เดือน หรือ 1 ปี จนกว่าอาการจะดีขึ้น และแพทย์จะค่อย ๆ ลดยาลงไปเรื่อย ๆ  แต่หากผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อการทำร้ายตัวเอง หรือทำอันตรายต่อผู้อื่น ก็ควรจะให้พักรักษาตัวในโรงพยาบาล

          อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นอาการป่วยทางจิตเวช ดังนั้น ครอบครัวบำบัด (Family Therapy) จึงมีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ป่วยหายขาดจากโรคนี้ได้ โดยคนใกล้ตัวต้องรับฟังผู้ป่วย ไม่โต้แย้งสิ่งที่ผู้ป่วยคิดว่าเป็นจริง แต่ก็ไม่เข้าข้าง หรือสนับสนุนความคิดหลงผิดนั้นด้วย เพื่อให้ครอบครัวยอมรับผู้ป่วยได้ และผู้ป่วยก็มีสภาพจิตใจที่ดีขึ้น

          แต่หากเห็นคนใกล้ตัวมีท่าทาง การพูดจาแปลก ๆ ไม่เหมือนเดิม และมีอาการเข้าข่ายข้างต้น ก็อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่า เขาเป็นโรคจิต ต้องค่อย ๆ พูดอ้อม ๆ ชวนให้ไปพบจิตแพทย์ โดยอาจพูดทำนองว่า หากมีปัญหากลุ้มใจให้ลองไปปรึกษาจิตแพทย์ดู อย่าบอกตรง ๆ ว่าเขาเป็นโรคจิต เป็นบ้า เพราะจะทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการต่อต้านแน่นอน ซึ่งทั้งที่จริงแล้ว บางคนอาจเป็นเพียงแค่วิตกกังวลธรรมดาเท่านั้น

          สำหรับครอบครัวของผู้ป่วยอาการทางจิตนั้น ลองประยุกต์วิธีการดูแลผู้ป่วยด้วยการใช้ความคิดเชิงบวก ตามคำแนะนำของ นพ.จอม ชุมช่วย จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ผู้ก่อตั้งมีรักคลินิก Merak Clinic คลินิกเฉพาะทางจิตเวชอย่างครบวงจรสำหรับเด็ก วัยรุ่น และครอบครัว ที่เคยพูดไว้ในงาน Ignite Thailand  ปลุกพลังบวก เปลี่ยนประเทศไทย ว่า ครอบครัว โดยเฉพาะพ่อแม่ ควรสร้างพลังบวกกับให้ลูก โดยคนใกล้ตัวต้องคิดบวกเป็นตัวอย่างที่ดีก่อน แล้วที่สำคัญคือต้องรับฟังเขาอย่างมีสติ จะทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น



          เช่นนั้นแล้ว ครอบครัว จึงมีส่วนสำคัญต่อการรักษาอาการผิดปกติทางจิตของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก ดังนั้น หากพบว่าพฤติกรรมของคนใกล้ชิดผิดปกติ เปลี่ยนแปลงไป ควรแนะนำให้รีบไปพบจิตแพทย์ เพราะโรคทางจิตเวชนี้ยิ่งรักษาเร็วเท่าไหร่ ยิ่งเกิดผลดีที่สุด


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรคจิตหลงผิด ชอบหวาดระแวง-เชื่ออะไรแปลก ๆ อาการนี้ต้องรักษา ! อัปเดตล่าสุด 7 ธันวาคม 2561 เวลา 14:40:25 37,046 อ่าน
TOP
x close