x close

4 ขั้นตอนจัดการเสี้ยนตำ ไม่ต้องทนชอกช้ำอีกต่อไป !

          เสี้ยนตำ จะบ่งหนามออกยังไงได้บ้าง หากใครยังไม่รู้วิธีดี ๆ แนะนำให้ทำตามนี้เลย

เสี้ยนตำ

          ความรู้สึกเจ็บจี๊ด ๆ บริเวณฝ่ามือแต่มองแล้วก็ไม่เห็นรอยแผล นั่นอาจเป็นอาการของคนที่ถูกเสี้ยนตำหรือหนามตำเข้าให้แล้วก็ได้ ซึ่งถ้าไม่รู้จะจัดการกับหนามที่ตำมือด้วยวิธีไหนดี ลองสังเกตลักษณะหนามที่ตำแล้วมาบ่งหนามตามนี้ดูก็ได้ค่ะ

เตรียมอุปกรณ์กันก่อน

          1. เข็มปลายแหลม โดยควรนำไปลนไฟ หรือแช่ในแอลกอฮอล์ก่อนเพื่อฆ่าเชื้อ
 
          2. แหนบหรือคีมคีบขนาดเล็ก

          3. แอลกอฮอล์หรือสบู่

          4. น้ำอุ่น

          5. ผ้าสะอาดหรือผ้าพันแผล

เสี้ยนต่ำ 

วิธีบ่งหนามออกจากมือ


1. วอร์มผิวหนังให้พร้อมสำหรับการบ่งหนาม

        แช่มือที่ถูกเสี้ยนตำในน้ำอุ่นประมาณ 1-2 นาที เพื่อให้ผิวหนังอ่อนตัวและง่ายต่อการบ่งหนามออก

2. ถ้าเสี้ยนตำในแนวนอน

          หากสังเกตเห็นลักษณะของเสี้ยนไม้หรือหนามอยู่ในแนวนอนกลืนไปกับเนื้อ ให้ใช้เข็มสอดตามรูที่เสี้ยนคาอยู่แล้วงัดปลายเข็มขึ้นมาให้หนังชั้นนอกขาด จากนั้นค่อย ๆ ใช้แหนบดึงเสี้ยนที่คาอยู่ออกมา เรียบร้อยแล้วก็ล้างมือด้วยสบู่อ่อน ๆ หรือเช็ดปากแผลด้วยแอลกอฮอล์ แล้วใช้ผ้าสะอาดปิดแผลไว้ประมาณ 2-3 ชั่วโมง

เสี้ยนตํา
 
3. ถ้าเสี้ยนตำลึก

          เคสนี้จะค่อนข้างลำบากในการบ่งหนามเล็กน้อย เนื่องจากผู้ที่ถูกหนามตำจะมีอาการเจ็บมาก แตะโดนจุดที่หนามตำนิดเดียวก็ปวดแล้ว ทว่าหากไม่บ่งหนามออกก็อาจจะกลายเป็นหนองซึ่งอันตรายกว่าได้ ดังนั้นให้บ่งหนามออกจากมือด้วยการใช้เข็มปลายแหลมแทงไปข้าง ๆ จุดที่หนามฝังอยู่ แล้วใช้ปลายเข็มสะกิดเอาเสี้ยนหนามขึ้นมาให้พอใช้แหนบดึงออกจากเนื้อเราได้ จากนั้นล้างแผลด้วยแอลกอฮอล์ และใช้ผ้าพันแผลปิดกันฝุ่นและเชื้อโรคนาน 2-3 ชั่วโมง

เสี้ยนตํา

4. กรณีที่เกิดหนอง เป็นตุ่มนูนแดงขึ้นมา

          บางคนโดนเสี้ยนตำ มีอาการเจ็บเล็ก ๆ แต่ไม่ได้ใส่ใจบ่งหนามออก หรือขนาดของหนามอาจเล็กจนดึงออกไม่ได้ และปล่อยไว้จนกลายเป็นหนอง เกิดอาการอักเสบให้เห็นเป็นตุ่มนูนแดง แถมมีอาการคันร่วมด้วย กรณีนี้แนะนำว่าอย่าบ่งหนามออกเอง เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อบริเวณบาดแผลได้ แต่ควรให้แพทย์ทำการรักษาอาการอักเสบก่อน พร้อมทั้งหาวิธีบ่งหนามออกอย่างถูกต้องและปลอดภัย

          ถ้าจู่ ๆ กำมือหรือจับถือสิ่งของแล้วรู้สึกแปล๊บ ๆ ก็อย่านิ่งดูดาย ลองสังเกตร่างกายของตัวเองให้ดี ไม่แน่ว่าอาจจะเจอเสี้ยนหนามให้เราต้องบ่งก็ได้นะคะ


ขอบคุณข้อมูลจาก
มูลนิธิหมอชาวบ้าน
prevention
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
4 ขั้นตอนจัดการเสี้ยนตำ ไม่ต้องทนชอกช้ำอีกต่อไป ! อัปเดตล่าสุด 30 กันยายน 2563 เวลา 11:29:49 150,959 อ่าน
TOP