x close

นิ่วน้ำลาย คนดื่มน้ำน้อย มีน้ำลายเหนียวบ่อย ๆ ต้องระวัง

         นิ่วน้ำลายหรืออาการต่อมน้ำลายอุดตัน เกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยเฉพาะคนที่ดื่มน้ำน้อย มีอาการน้ำลายเหนียวบ่อย ๆ ระวังจะเป็นโรคนี้ !

นิ่วน้ำลาย

          แม้ว่านิ่วจะพบได้บ่อยในทางเดินปัสสาวะ ถุงน้ำดี ไต หรือในต่อมทอนซิล ทว่านิ่วก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับต่อมน้ำลายของเราได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งหากเกิดนิ่ว ณ จุดนี้ก็จะเรียกว่า "นิ่วน้ำลาย" ชื่ออาจฟังดูแปลก ๆ และไม่คุ้นสักหน่อย แต่ก็อย่าประมาทเลยเชียวล่ะ เพราะอาการนี้ใกล้ตัวมาก ๆ ดังนั้นมาทำความรู้จักโรคนิ่วน้ำลายกันไว้ดีกว่า

นิ่วน้ำลาย คืออะไร

          นิ่วน้ำลาย ภาษาอังกฤษคือ Sialolithiasis หรือ Salivary Stones คือ นิ่วที่เกิดในต่อมน้ำลาย หรือนิ่วในท่อน้ำลาย มักจะเกิดนิ่วในท่อน้ำลายใต้ขากรรไกรล่างมากกว่าท่อน้ำลายใต้หู และต่อมน้ำลายใต้ลิ้น โดยก้อนนิ่วอาจมีก้อนเดียวหรือเกิดนิ่วหลายก้อนก็ได้ ซึ่งจะก่อให้เกิดการอุดตันในท่อน้ำลายบางส่วนหรือเกิดการอุดตันในท่อน้ำลายทั้งหมด

นิ่วน้ำลายเกิดจากอะไรได้บ้าง
   
          นิ่วในต่อมน้ำลาย เกิดจากการสะสมขององค์ประกอบทางเคมีในน้ำลาย  โดยส่วนใหญ่จะพบว่าสารเคมีนั้นคือแคลเซียม ซึ่งอาจเป็นผลจากการที่ร่างกายผลิตน้ำลายได้น้อยลง หรือมีผนังท่อน้ำลายหนา ทำให้เกิดเป็นก้อนอุดตัน น้ำลายไหลออกสู่ช่องปากไม่ได้ เกิดการคั่งและก่อตัวเป็นนิ่วในที่สุด
   
          นอกจากนี้ยังพบว่ามีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่ก่อให้เกิดนิ่วน้ำลาย อันได้แก่ ภาวะขาดน้ำ จากการดื่มน้ำน้อยจนเป็นนิสัย การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาต้านฮีสตามีน ยาลดความดันโลหิต ยาทางจิตเวช และยาควบคุมการทำงานของกระเพาะปัสสาวะ รวมทั้งอาการบาดเจ็บของต่อมน้ำลายก็มีผลเพิ่มความเสี่ยงนิ่วน้ำลายได้ด้วย

ต่อมน้ำลายอุดตันจากนิ่วน้ำลาย อาการเป็นยังไง

          ผู้ป่วยส่วนมากจะมีอาการบวมใต้คางแบบเป็น ๆ หาย ๆ โดยเฉพาะในตอนรับประทานอาหาร มักมีอาการน้ำลายเหนียวบ่อย ๆ อาจคลำเจอก้อนบวมที่คางข้างใดข้างหนึ่ง บางรายอาจมีอาการปวดร่วมด้วย และหากปล่อยให้ก้อนนิ่วคงอยู่ต่อไป อาจเกิดอาการต่อมน้ำลายอักเสบร่วมกับการติดเชื้ออย่างเฉียบพลัน ผู้ป่วยอาจมีไข้ตัวร้อน มีอาการปวดบวมตลอดเวลา และมีหนองปนมากับน้ำลาย

นิ่วน้ำลาย

นิ่วน้ำลาย รักษาได้ไหม

          เมื่อเกิดอาการต่อมน้ำลายอุดตันเพราะนิ่วน้ำลาย ในกรณีที่นิ่วมีขนาดเล็ก ก้อนนิ่วอาจหลุดไปได้เอง แต่หากมีอาการอักเสบเกิดขึ้น สามารถรักษาได้โดยแพทย์จะให้ยาลดการอักเสบในเบื้องต้น เพื่อลดอาการบวมของต่อมน้ำลาย หรือเยื่อบุผนังท่อน้ำลาย ซึ่งจะทำให้ท่อทางเดินน้ำลายกว้างเท่าระดับปกติ ท่อน้ำลายก็จะไม่อุดตันนั่นเอง


          ทว่าหากเป็นนิ่วน้ำลายขนาดใหญ่ เคสนี้คงต้องรักษานิ่วน้ำลายด้วยการผ่าตัด โดยอาจคีบเอาก้อนนิ่วออก และผ่าตัดเปิดปากทางออกของท่อน้ำลายให้กว้างขึ้น หรือแพทย์อาจผ่าตัดเอาต่อมน้ำลายข้างที่เป็นนิ่วออกไปเลย

การป้องกัน

          การป้องกันนิ่วน้ำลายสามารถทำได้ดังนี้

          1. ดื่มน้ำมาก ๆ อย่างน้อยควรดื่มน้ำสะอาดให้ได้ 1.5-2 ลิตรต่อวัน 

          2. รักษาความสะอาดภายในช่องปากให้ดี

          3. อย่าละเลยอาการผิดปกติต่าง ๆ หากรู้สึกได้ถึงความผิดปกติของสุขภาพช่องปากและฟันแม้เพียงเล็กน้อย ควรรีบปรึกษาปัญหาสุขภาพช่องปากกับแพทย์เฉพาะทางโดยด่วน

          ปัญหาสุขภาพใด ๆ จะไม่ลุกลามใหญ่โต หากเราสังเกตอาการผิดปกติเบื้องต้นและเตรียมพร้อมรับมือกับโรคต่าง ๆ ได้ทันเวลานะคะ แต่อย่างไรก็ดี การป้องกันและลดความเสี่ยงสุขภาพโดยดูแลความแข็งแรงสมบูรณ์ของร่างกายอยู่ตลอด ก็จะช่วยให้เราห่างไกลจากโรคภัยใด ๆ ได้ดีที่สุด

ขอบคุณข้อมูลจาก : คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลห้องสมุดทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
นิ่วน้ำลาย คนดื่มน้ำน้อย มีน้ำลายเหนียวบ่อย ๆ ต้องระวัง อัปเดตล่าสุด 28 มกราคม 2565 เวลา 14:51:16 84,504 อ่าน
TOP