ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าภาวะปอดติดเชื้อเป็นสาเหตุการตายอันดับต้น ๆ ของคนเรา โดยเฉพาะในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ หากป่วยขึ้นมาแล้วรู้ตัวเมื่อสาย อาการปอดติดเชื้ออาจรุนแรงถึงชีวิตได้เลย
ปอดเป็นอวัยวะที่อยู่ภายในร่างกาย
เวลาที่ปอดมีความผิดปกติหรือมีภาวะอันตรายเกิดขึ้นมา
ร่างกายเราเลยจะรับรู้ได้ช้ากว่าแผลภายนอกทั่วไป
ที่สำคัญอาการปอดผิดปกติอาจแสดงในรูปแบบการไอ จาม หรืออาการเจ็บป่วยเล็ก ๆ
น้อย ๆ ก่อนก็ได้
ด้วยเหตุนี้ภาวะปอดติดเชื้อจึงอาจลุกลามอยู่ภายในร่างกายเราเงียบ ๆ
จนมารู้ตัวอีกทีก็เมื่อสาย
ฉะนั้นก่อนที่ปอดจะไม่สบายเรามาทำความรู้จักภาวะปอดติดเชื้อกันสักหน่อยจะดีกว่า
ปอดติดเชื้อ คือภาวะอะไร
ปอดติดเชื้อ คือ ภาวะติดเชื้อเฉียบพลันทางระบบทางเดินหายใจ หรือภาวะติดเชื้อที่เนื้อปอด ซึ่งประกอบไปด้วยถุงลมปอดและเนื้อเยื่อโดยรอบถุงลมปอด ก่อให้เกิดอาการปอดบวมและมีหนองขัง โดยภาวะปอดติดเชื้อจัดว่าเป็นภาวะร้ายแรงถึงชีวิตได้ หากพบอาการปอดติดเชื้อในระยะลุกลาม
ปอดติดเชื้อเกิดจากอะไร
ปอดติดเชื้อมีสาเหตุจากเชื้อไวรัส เช่น ไข้หวัดใหญ่ หัด อีสุกอีใส เชื้อไวรัสซาร์ส เชื้อไข้หวัดนก หรือเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย อันได้แก่ เชื้อนิวโมค็อกคัส (pneumococcus) เชื้อสแตฟฟีโลค็อกคัส (staphylococcus) เชื้อเคล็บซิลลา (klebsiella) และเชื้อรา ซึ่งผ่านเข้าไปยังเนื้อปอดได้จากการสูดอากาศที่มีเชื้อโรคดังกล่าว
หรือในคนที่มีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ติดเชื้อแอนอานาโรป (Ananarob) จากฟันผุ หรือการสำลักน้ำลายที่ปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าไปในปอด ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะปอดติดเชื้อได้
ทั้งนี้ เราอาจจำแนกสาเหตุของภาวะติดเชื้อให้ชัดเจนได้ ดังนี้
1. การหายใจนำเชื้อเข้าสู่ปอดโดยตรง โดยการไอ จาม ซึ่งอาจทำให้เกิดปอดอักเสบจากเชื้อกลุ่ม atypical organisms เชื้อไวรัส เชื้อวัณโรค และเชื้อรา
2. ติดต่อโดยการสำลักเอาเศษอาหารปนเปื้อนเชื้อเข้าไปในปอด
3. การลุกลามของภาวะติดเชื้อที่อวัยวะข้างเคียงปอด เช่น ภาวะฝีในตับแตกเข้าสู่ปอด
4. การทำหัตถการบางอย่างที่ไม่ระวังการปนเปื้อน เช่น การสวนสายปัสสาวะที่ไม่ถูกสุขอนามัย การให้น้ำเกลือที่ไม่ถูกสุขลักษณะ หรือการดูดเสมหะที่ไม่ปลอดเชื้อ เป็นต้น
5. เกิดจากสารเคมีบางชนิด เช่น น้ำมันก๊าด ที่ผู้ป่วยสูดดมหรือนำมาอมเล่นแล้วเกิดสำลักเข้าไปในปอด
ภาวะปอดติดเชื้อมักพบในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ในเด็กทารกและเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ เด็กขาดสารอาหาร ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคพิษสุราเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคทางปอดเรื้อรัง เช่น โรคหืด ถุงลมโป่งพอง หรือผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ป่วยเบาหวาน และผู้ป่วยที่รับประทานยาสเตียรอยด์นาน ๆ เป็นต้น
ทั้งนี้ อาการปอดติดเชื้ออาจพบว่าเป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ทอนซิลอักเสบ หัด อีสุกอีใส ไอกรน หรือผู้ที่ฉีดยาด้วยเข็มที่ไม่สะอาด ซึ่งอาจทำให้ติดเชื้อประเภทสแตฟฟีโลค็อกคัส (staphylococcus) ได้
ปอดติดเชื้อ ติดต่อทางไหนได้บ้าง
อย่างที่บอกว่าภาวะปอดติดเชื้อเป็นภาวะที่ติดต่อถึงกันได้ โดยปอดติดเชื้อสามารถแพร่กระจายได้โดยการสำลักเอาน้ำลายและเสมหะของผู้ป่วยเข้าไปยังปอดนั่นเอง
ปอดติดเชื้อ มีอาการอย่างไร
อาการปอดติดเชื้อมักจะเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ซึ่งสามารถสังเกตอาการได้ ดังนี้
- มีไข้สูง บางคนมีอาการตัวร้อนตลอดเวลาหรือหนาวสั่นมาก
- ในระยะแรก ๆ อาจมีอาการไอแห้ง ๆ ไม่มีเสมหะ ต่อมาจะไอแบบมีเสมหะขุ่นข้นเป็นสีเหลือง สีเขียว สีสนิมเหล็ก หรือมีเลือดปนมากับเสมหะ
- หายใจหอบเร็ว
- รู้สึกเจ็บแปลบในหน้าอกเวลาหายใจเข้า ไอแรง ๆ แล้วเจ็บร้าวไปที่หัวไหล่ สีข้าง หรือท้อง
อาการ ปอดติดเชื้อในทารก และเด็กเล็ก
ทั้งนี้ อยากฝากให้สังเกตอาการปอดติดเชื้อในเด็กเล็กด้วยนะคะ โดยเฉพาะกับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบ โดยสามารถสังเกตอาการปอดติดเชื้อในเด็กได้ ดังนี้
- มีอาการหายใจหอบเร็วเกินเกณฑ์ตามอายุ โดยจำแนกอาการตามอายุได้ ดังนี้
* อายุ 0-2 เดือน หายใจเกินนาทีละ 60 ครั้ง
* อายุ 2 เดือน - 1 ขวบ หายใจเกินนาทีละ 50 ครั้ง
* อายุ 1-5 ขวบ หายใจเกินนาทีละ 40 ครั้ง
ปอดติดเชื้อ รักษายังไงได้บ้าง
การรักษาปอดติดเชื้อสามารถรักษาได้ 2 ทาง ได้แก่ การรักษาแบบเฉพาะเจาะจง กล่าวคือ ให้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อต้นเหตุของภาวะปอดติดเชื้อ หรือแพทย์อาจเลือกรักษาแบบประคับประคองอาการ ในเคสที่ไม่สามารถใช้ยาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อก่อโรคได้
โดยปกติแล้วหากตรวจพบภาวะปอดติดเชื้อในระยะแรกเริ่ม ก็ยังมีทางเยียวยารักษาให้หายได้ ทว่าหากปอดติดเชื้อรุนแรง อาจทำให้เกิดหนองในปอด เกิดภาวะน้ำท่วมปอดอย่างเฉียบพลัน ก่อให้เกิดอาการหายใจหอบ หายใจลำบาก หรือขั้นหนักอาจเกิดภาวะทางเดินหายใจล้มเหลวเฉียบพลันจนถึงแก่ชีวิตได้ ดังนั้นจึงควรดูแลรักษาสุขภาพให้ดี พร้อมกับสังเกตความผิดปกติของร่างกายตัวเองอยู่ตลอดด้วยนะคะ
ปอดติดเชื้อ ป้องกันได้โดยวิธีไหนบ้าง
1. ควรดูแลสุขอนามัยของตัวเองอย่างดี ล้างมือบ่อย ๆ
2. สวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่อไม่สบาย หรือเมื่อร่างกายอยู่ในสภาวะอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันต่ำ หรืออยู่ในที่แออัด
3. เมื่อเป็นไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ โรคหัด โรคอีสุกอีใส ควรทำการรักษาโรคเสียแต่เนิ่น ๆ
4. ป้องกันไม่ให้เป็นโรคทางปอดเรื้อรัง เช่น โรคถุงลมโป่งพอง ซึ่งมาจากพฤติกรรมการสูบบุหรี่
ภาวะปอดติดเชื้ออันตรายกับสุขภาพก็จริง แต่หากเรารู้เท่าทันอาการ ความรุนแรงของภาวะปอดติดเชื้อก็จะลดน้อยลงไป และสามารถทำการรักษาให้หายขาดได้ค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
, กรมควบคุมโรค