x close

กินเจแบบลดหวาน อิ่มบุญแบบได้สุขภาพ

          จะทานอาหารเจก็ต้องเลือกเมนูที่ให้ประโยชน์ดี ๆ กับสุขภาพด้วย โดยเฉพาะของหวาน ๆ ต้องระวังไว้เลย

กินเจ

          ปัจจุบันการกินเจได้รับความนิยมมากขึ้น คนส่วนใหญ่ก็มักจะฝากท้องไว้กับอาหารเจนอกบ้าน หรืออาหารเจสำเร็จรูป แต่ถึงแม้ว่าอาหารเจจะเป็นอาหารสุขภาพ แต่หากเราบริโภคไม่ได้สัดส่วน หรือไม่ถูกหลักโภชนาการแลัว ก็มีโอกาสที่จะเกิดปัญหาสุขภาพตามมาได้ เนื่องจากอาหารเจ มักทำมาจากแป้งเป็นหลัก และมีน้ำมันเป็นส่วนประกอบอยู่มาก ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคต่าง ๆ

          ดังนั้น การเลือกกินอาหารเจ จึงไม่ควรเลือกเพียงรสชาติอร่อยเท่านั้น หากยังต้องได้สุขภาพที่ดีตามมาด้วย เพื่อให้ได้ประโยชน์จากการกินอาหารเจสูงสุด เรามีเทคนิคจาก คุณรุ่งฉัตร อำนวย นักกำหนดอาหารวิชาชีพ ภาควิชาโภชนาการและการกำหนดอาหาร คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาฝากดังนี้ค่ะ

1. อาหารเจ

          การกินเจครบ 5 หมู่ ควรเลือกใช้วัตถุดิบ และแหล่งโปรตีนที่หลากหลายในทุกมื้อ เช่น เต้าหู้ ข้าวกล้อง ถั่ว เห็ด งา เพื่อให้ได้กรดอะมิโนครบถ้วน และหากในเมนูนั้นมีผักควบคู่ไปด้วยก็จะดีมาก เช่น ผัดหมี่ 1 จาน ควรเพิ่มผักในปริมาณมากขึ้น และลดปริมาณเส้นลงก็จะพอดีกับความต้องการของร่างกาย

          นอกจากนี้ ควรเลี่ยงอาหารทอด และเน้นกินอาหารนึ่ง ต้ม ตุ๋น และพยายามปรุงรสให้น้อยที่สุด ไม่ว่าจะเป็นซีอิ๊ว น้ำมันหอยสูตรเจ น้ำตาล เกลือ และซอสชนิดต่างๆ ควรใส่ให้น้อยที่สุด หรือหากไม่ใส่เลยก็จะดีมาก เพราะในเครื่องปรุงรสแทบทุกชนิดส่วนใหญ่จะมีโซเดียม น้ำตาล หรือไขมันผสมอยู่ และหากปรุงรสในอาหารเจมาก ๆ ก็จะทำให้เสี่ยงต่อภาวะโซเดียมสูง เกิดอาการบวม และเสี่ยงต่อเป็นโรคเรื้อรังต่าง ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นโรคความดัน ไต หรือเส้นเลือดในหัวใจตีบ เป็นต้น

กินเจ

2. ขนมเจ

          อาหารช่วงเทศการกินเจมักจะจืดชืดไม่ค่อยถูกปากเท่าไร บางคนจึงอาจกินอาหารคาวน้อย แล้วไปกินขนมหวานแทน ซึ่งขนมในเทศกาลกินเจ ส่วนใหญ่จะเป็นขนมรสหวานจัด จึงควรลดปริมาณการกินลง ให้กินเป็นของตบท้าย หรือเป็นมื้อว่างระหว่างวันแทน สิ่งสำคัญคือต้องเปลี่ยนทัศนคติของผู้บริโภคว่าเป็นเพียงแค่การชิมก็พอ หากอยากกินก็ให้ลดข้าวหรืออาหารคาวก่อนแล้วจึงค่อยกิน เพราะขนมหวานเหล่านี้จะทำให้น้ำหนักขึ้น ดังนั้นทางที่ดีควรกินในปริมาณพอเหมาะแล้วหันมากินผลไม้จะดีกว่า

กินเจ

3. เครื่องดื่มเจ 

           เครื่องดื่มช่วงกินเจ โดยเฉพาะในน้ำเต้าหู้ จะมีน้ำตาลมากอยู่แล้ว ส่วนใหญ่น้ำเต้าหู้ที่ขายถุงละ 7-8 บาท มักจะมีปริมาณน้ำตาลทรายอยู่ 1.50-2 ช้อนโต๊ะ เท่ากับ 4.5-6 ช้อนชา อาจจะลองซื้อแบบน้ำตาลน้อย หรือไม่ใส่เลยได้ยิ่งดี และนมถั่วเหลืองแบบกล่องที่เป็นสูตรหวานน้อยก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง หรืออาจจะพยายามจิบน้ำบ่อยๆ ทุกชั่วโมง ไม่ว่าจะเป็นน้ำเปล่า น้ำแร่ หรือเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ให้หวานพอดี แคลอรีต่ำ โดยมีน้ำตาลรวมไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน (ประมาณ 25 กรัม)

กินเจ

4.ผักและผลไม้


          เทศกาลกินเจสามารถเพิ่มมื้อว่างเติมพลังระหว่างวันได้ด้วยผลไม้สดที่หวานน้อย พลังงานต่ำ มีวิตามิน และใยอาหารสูง เช่น แก้วมังกร แอปเปิล สับปะรด กล้วย มะละกอ ซึ่งผลไม้ช่วงกินเจ เป็นผลไม้ที่ไม่ได้มีปริมาณน้ำตาลสูงอยู่แล้ว ยกเว้นผลไม้หน้าร้อน ขึ้นอยู่กับปริมาณการกินมากกว่า โดยแนะนำให้กินเป็นอาหารว่างระหว่างวัน แต่ไม่ควรทานผลไม้แก้หิวแทนมื้ออาหารนั้น ๆ

          นอกจากนี้ ควรกินผักให้ครบทั้ง 5 สี เช่น สีแดง ขาว เขียว ส้ม เหลือง ม่วง โดยสลับเปลี่ยนหมุนเวียนนำมากินในแต่ละวันไม่ซ้ำกัน และไม่ควรเลือกเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่งที่ตัวเองชอบ อีกทั้งควรกินผักสดมากกว่าผักดอง เพราะผักสดมีคุณค่าทางโภชนาการมากกว่าผักดอง
สัดส่วนการกินผลไม้

          - ฝรั่ง = ½ ลูก
          - ส้ม = 1 ผล
          - มะละกอ = 7ชิ้นคำ
          - กล้วยน้ำว้า = 1ผล
          - แอปเปิล = 1 ผล

          ภัยของการบริโภคน้ำตาลที่มากเกินความจำเป็น นำมาซึ่งโรคไม่ติดต่อต่าง ๆ มากมาย ทั้งเบาหวาน โรคอ้วน ซึ่ง สสส. เองก็ได้สร้างความตระหนักรู้และชี้ให้เห็นโทษภัยมาโดยตลอด แต่อย่างไรก็ตาม กินเจปีนี้นอกจากได้อิ่มบุญและสุขภาพที่ดีกันแล้ว อย่าลืมขยับกายเคลื่อนไหวให้เหงื่อออกทุกวัน เพื่อร่างกายที่แข็งแรงได้อยู่กับคนที่เรารักไปนาน ๆ
 
ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องโดย  :  เสาวลักษณ์ พิสิษฐ์ไพบูลย์ team content www.thaihealth.or.th

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กินเจแบบลดหวาน อิ่มบุญแบบได้สุขภาพ อัปเดตล่าสุด 18 กรกฎาคม 2566 เวลา 15:34:28 6,140 อ่าน
TOP