
ภาพจาก TaTae THAILAND / Shutterstock.com
ยอดผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่พุ่ง พบคนกรุงป่วยเยอะสุด ขณะที่แพทย์ ยืนยัน เป็นแค่ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ไม่ใช่ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่หรือกลายพันธุ์อย่างที่แชร์ในไลน์
จากกรณีที่มีคนส่งต่อข้อความในสังคมออนไลน์ว่า ขณะนี้โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่กำลังระบาดในประเทศไทยเหมือนปี 2009 และวัคซีนที่ผลิตมานั้นก็ไม่สามารถป้องกันไข้หวัดใหญ่ตัวนี้ได้ จนสร้างความแตกตื่นไปทั่วโลกไซเบอร์นั้น
ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2559 ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้แจงว่า ข่าวที่ออกมานี้ไม่เป็นความจริง โดยจากการตรวจรหัสพันธุกรรมที่ศูนย์ไวรัสฯ จำนวนมากและต่อเนื่อง พบว่าไม่ได้มีการกลายพันธุ์ไปจากปกติ หรือมีสายพันธุ์ใหม่แต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ก็มีผู้ป่วยจำนวนมากที่ฉีดวัคซีนไปแล้วแต่ยังเป็นไข้หวัดใหญ่ทั้งที่ไวรัสไม่ได้กลายพันธุ์ โดยเฉพาะเอช 3 เอ็น 2 (H3N2) ซึ่งก็ต้องเข้าใจว่าวัคซีนที่ฉีดนั้นมีประสิทธิภาพป้องกันได้ประมาณ 60-70% เท่านั้น

ด้าน นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยข้อมูลรายงานการเฝ้าระวังโรคของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-17 ตุลาคม 2559 ว่า ทั่วประเทศ พบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่แล้ว 123,564 ราย เสียชีวิต 22 ราย โดยพบผู้ป่วยมากที่สุดในเด็กอายุแรกเกิด-4 ขวบ รองลงมาคือ 5-9 ขวบ และ 10-14 ปีตามลำดับ อย่างไรก็ตามเมื่อนับเฉพาะวันที่ 1-18 ตุลาคม 2559 พบผู้ปวยแล้ว 9,176 ราย และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีจำนวนผู้ป่วยสูงกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปีย้อนหลัง และมีจำนวนสูงกว่าในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2558 ถึง 2 เท่า
สำหรับจังหวัดที่มีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่มากที่สุด คือ กรุงเทพมหานคร มีผู้ป่วย 36,806 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 646.59 คน รองลงมาคือ อุตรดิตถ์และเชียงใหม่
ทั้งนี้อาการของไข้หวัดจะเริ่มจากการมีไข้สูง ตัวร้อน หนาว ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะที่หลัง ต้นแขน ต้นขา ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คัดจมูก มีน้ำมูกใส ๆ ไอแห้ง ๆ โดยในเด็กอาจพบอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วงได้มากกว่าผู้ใหญ่ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง อาการจะทุเลาลงและสามารถหายป่วยได้เองภายใน 5-7 วัน แต่บางรายที่มีภาวะแทรกซ้อน ทำให้เกิดอาการที่รุนแรง เช่น ปอดบวม สมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ตับอักเสบ หายใจเร็ว เหนื่อย หอบ หายใจลำบาก ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้
ขณะที่ นพ.วิศิษฎ์ ตั้งนภากร อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ แนะนำให้ประชาชนปฏิบัติตัวดังนี้ เพื่อป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่
1. ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือ ในกรณีที่มือไม่เปรอะเปื้อน
2. ไม่ใช้สิ่งของ เช่น แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ช้อนตักอาหาร ผ้าเช็ดมือ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว เป็นต้น ร่วมกับผู้อื่น
3. ไม่ควรคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัด
4. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะผัก ผลไม้ นม ไข่ กินอาหารปรุงสุกใหม่ ๆ และใช้ช้อนกลาง พักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
5. หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัดและอากาศถ่ายเทไม่ดีเป็นเวลานานโดยไม่จำเป็น
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก


กระทรวงสาธารณสุข
เฟซบุ๊ก Drama-addict