5 ประโยชน์ของลองกอง ดีขนาดนี้ต้องลิ้มลอง !

          ลองกองมีประโยชน์ต่อสุขภาพยังไง เชื่อว่าหลายคนเคยกินลองกองมาไม่รู้กี่กิโลแต่ยังไม่เคยทราบถึงสรรพคุณของลองกองมาก่อนในชีวิต ฉะนั้นวันนี้เรามาพลิกดูคุณค่าทางโภชนาการและประโยชน์ด้านสุขภาพของลองกองกันค่ะ


          เห็นผลกลม ๆ ผิวกระด่างกระดำยังงั้นแต่จริง ๆ แล้วประโยชน์ของลองกองก็ดีงามใช่ย่อยนะคะ ซึ่งหากใครยังไม่เคยรู้ถึงประโยชน์ของลองกองมาก่อนเลย วันนี้เราจะได้รู้จักลองกองกันมากขึ้น พร้อมทั้งขอถือโอกาสชี้แจงในประเด็นคำถามเกี่ยวกับลองกองด้วยว่า กินลองกองแล้วอ้วนไหม ลองกองน้ำตาลเยอะไหม และคนท้องกินลองกองได้ไหม มาเคลียร์ทุกข้อสงสัยไปพร้อมกับทำความรู้จักลองกองกันเลย

ลองกอง


ลองกอง และความเป็นมา

          ลองกองเป็นผลไม้ที่มีถิ่นกำเนิดมาจากหมู่เกาะมลายู อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และทางภาคใต้ของประเทศไทย ดังนั้นลองกองจึงถูกเรียกขานในหลายชื่อ เช่น ลังสาด (ภาษามาเลย์ : Langsart), ดูกู (ภาษาอินโดนีเซีย), ลองกอง (ภาษายาวี : ดอกอง) ส่วนลองกอง ภาษาอังกฤษจะเรียกว่า Langsart Fruit หรือ Lanzone

ลองกอง กับลักษณะทางพฤกษศาสตร์

          ลองกองมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Lansium domesticum Corr. เป็นพืชในวงศ์ MELIACEAE ที่มีระบบรากแก้ว รากแขนง และรากฝอย แผ่กระจายจากลำต้นประมาณ 3-5 เมตร โดยรากหยั่งลึกไม่เกิน 20 เซนติเมตร โดยประมาณ

          ส่วนลำต้นของลองกองค่อนข้างกลมและตั้งตรง ความสูงโดยทั่วไปจะอยู่ราว ๆ 15-30 เมตร มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 30-40 เซนติเมตร เปลือกลำต้นค่อนข้างเรียบบาง มีสีขาวปนน้ำตาล

          ใบลองกองเป็นใบย่อยแตกออกจากก้านใบเป็นคู่ตรงข้าม ก้านใบยาวประมาณ 30-50 เซนติเมตร ใบย่อยกว้างประมาณ 5-7.5 เซนติเมตร ยาว 10-15 เซนติเมตรโดยประมาณ ใบมีขนาดใหญ่ หนา ใต้ใบเรียบไม่มีขน ด้านหน้าของใบมีสีเขียวเข้มเป็นมัน ส่วนด้านหลังใบเป็นสีเขียวจาง ลักษณะใบยาวรีเป็นรูปไข่ ปลายใบมนเป็นคลื่น เส้นใบย่อยลึก

          ดอกลองกองเป็นดอกรวมอยู่ในช่อดอก การจัดเรียงของดอกภายในช่อเป็นแบบสลับกัน เป็นดอกสมบูรณ์เพศ มีเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียอยู่ในดอกเดียวกัน กลีบของดอก มี 5 กลีบ ดอกสามารถเจริญเป็นผลโดยไม่ต้องมีการผสมเกสร

          ส่วนผลของลองกองมีลักษณะกลมรีเล็กน้อย จำนวนผล 10-40 ผลต่อช่อ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-2.5 เซนติเมตร บนผิวเปลือกจะมีตุ่มนูนเล็ก ๆ เป็นต่อมน้ำหวาน เปลือกแท้จะไม่มียาง

          เมล็ดลองกองในหนึ่งผลจะมีเมล็ดน้อยเพียง 1-2 เมล็ด หรือบางผลมีเพียงเมล็ดลีบเท่านั้น เมล็ดที่สมบูรณ์ค่อนข้างใหญ่ รูปร่างกลมรี ด้านหนึ่งโค้งมน ด้านหนึ่งแบนราบ มีสีเขียวอมเหลือง มีรอยแตก

ลองกองมีกี่พันธุ์

ลองกองมีอยู่ 3 พันธุ์ด้วยกัน ดังนี้

1. พันธุ์ลองกองแห้ง

        ลองกองพันธุ์นี้จะมีเปลือกค่อนข้างแห้ง หยาบ และหนา เปลือกลองกองจึงไม่นุ่มหรือยุบตัวง่าย ทำให้เนื้อลองกองด้านในยังอยู่ดี ไม่ช้ำ ไม่มียาง ผลสุกเนื้อเป็นแก้วใส เนื้อแห้ง มีรสหวานพร้อมกลิ่นหอม

2. พันธุ์ลองกองน้ำ

          สีเปลือกจะเหลืองโทนสว่างกว่าพันธุ์ลองกองแห้ง เปลือกบาง ยุบและอ่อนตัวง่าย ผลสุกเนื้อค่อนข้างฉ่ำน้ำ ทำให้เก็บลองกองพันธุ์นี้ไว้ไม่ได้นาน สังเกตได้ง่าย ๆ เมื่อลองกดหรือบีบผลจะทำให้เปลือกยุบบุ๋มลงได้ง่าย

3. พันธุ์ลองกองแกแลแมหรือลองกองแปร์แม

          ช่อผลของลองกองแกแลแมจะค่อนข้างยาว แต่ผลลองกองมีลักษณะกลม เปลือกผลบาง มีสีเหลืองนวล ๆ ไม่มียาง ส่วนเนื้อผลค่อนข้างนิ่มเหลว และมีกลิ่นค่อนข้างฉุน
       
ลองกอง
 
ลองกองกับลางสาดต่างกันอย่างไร

        เชื่อว่าหลายคนเคยซื้อผิดซื้อถูกมาหลายครั้งแล้วระหว่างลองกองกับลางสาด ดังนั้นมาดูความแตกต่างของลองกองกับลางสาดกันชัด ๆ ตามนี้เลย

          - ผลลางสาดจะออกกลมรี แต่ผลลองกองจะค่อนข้างกลม

          - ลางสาดจะมียางที่เปลือกมากกว่าลองกอง (ลองกองแทบไม่มียางเท่าไร)
 
          - เปลือกของลองกองจะค่อนข้างหนาและหยาบ ส่วนเปลือกลางสาดบางและเรียบกว่า

          - สีเปลือกของลางสาดเป็นสีเหลืองสดใส แต่ลองกองมีสีเปลือกออกเหลืองซีดกว่า

          - เปลือกลองกองจะค่อนข้างล่อน แกะกินง่าย แต่เปลืองลางสาดจะติดผลเนื้อ แกะกินยากกว่า

          - ผลลองกองจะมีจุก แต่ลางสาดมีผลกลมเรียบไม่มีจุก

          - ช่อผลของลางสาดจะสั้นกว่าช่อผลของลองกอง

          - ใบลางสาดค่อนข้างเรียบ ส่วนใบของลองกองจะเป็นคลื่นใหญ่ร่องลึก

          - ลางสาดมีเมล็ดมาก (ประมาณ 5 เมล็ด) ส่วนลองกองมีเมล็ดน้อยหรือไม่มีเลย

          - เมล็ดของลางสาดมีรสขมมาก ส่วนลองกองเมล็ดจะขมน้อยกว่า

          - เนื้อลางสาดมีรสหวานอมเปรี้ยวกว่า ส่วนลองกองมีรสหวาน

          - เมื่อสุก เนื้อลางสาดจะฉ่ำน้ำมากกว่าเนื้อลองกอง (ลองกองบางพันธุ์แม้จะฉ่ำน้ำแต่ยังมีน้ำน้อยกว่าลางสาดนะคะ)

          - ลางสาดมีเนื้อน้อยกว่าลองกอง

ลองกอง
คุณค่าทางโภชนาการของลองกอง

        เนื้อผลลองกองปริมาณ 100 กรัม (ลองกองประมาณ 6-7 ผล) จะให้คุณค่าทางโภชนาการโดยอ้างอิงจากข้อมูลกองโภชนาการ กรมอนามัย ดังนี้

          - พลังงาน 57 กิโลแคลอรี (ขึ้นอยู่กับขนาดผล)
         
          - ใยอาหาร 2 กรัมโดยประมาณ (ขึ้นอยู่กับขนาดผล)

          - โปรตีน 0.9 มิลลิกรัม

          - ไขมัน 0.2 มิลลิกรัม

          - คาร์โบไฮเดรต 15.2 มิลลิกรัม

          - แคลเซียม 19 มิลลิกรัม

          - ฟอสฟอรัส 25 มิลลิกรัม

          - โพแทสเซียม 27.5 มิลลิกรัม

          - เหล็ก 1.1 มิลลิกรัม

          - วิตามิน B1 0.07 มิลลิกรัม

          - วิตามิน B2 0.04 มิลลิกรัม

          - วิตามิน C 3.0 มิลลิกรัม

          - ไนอาซิน 1.0 มิลลิกรัม

ลองกอง

ประโยชน์ของลองกอง


1. แก้ร้อนใน

          ผลลองกองมีสรรพคุณเป็นผลไม้ดับร้อน สามารถช่วยลดความร้อนในร่างกาย เมื่อกินลองกองเป็นประจำจะช่วยป้องกันอาการไข้ตัวร้อน และอาการร้อนในได้ เนื่องจากอุดมไปด้วยฟอสฟอรัสและวิตามินบีถึง 2 ชนิดด้วยกัน

2. ไฟเบอร์สูง ดีต่อระบบขับถ่าย

          ลองกองเพียงแค่ 100 กรัม (6-7 ผล) ก็ให้ใยอาหารเราได้มากถึง 2 กรัม ซึ่งถ้าวัดกันเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วจะเห็นได้ว่าลองกองไม่ถึง 10 ผลก็ให้ใยอาหารได้ประมาณ 8-11% ของปริมาณใยอาหารที่ร่างกายควรได้รับต่อวันแล้วนะคะ ดังนั้นจะบอกว่าลองกองเป็นผลไม้แก้ท้องผูกอีกตัวก็อาจจะได้

          แต่นอกเหนือจากนั้นคือไฟเบอร์ที่ได้จากผลไม้จะช่วยชะล้างคอเลสเตอรอลตกค้างในร่างกายของเราออกมาทางระบบขับถ่ายด้วย ทำให้ความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจหรือไขมันอุดตันเส้นเลือดลดลงไปด้วยนั่นเอง ทว่าทั้งนี้ก็ควรต้องกินไฟเบอร์จากอาหารชนิดอื่น ๆ ร่วมด้วยนะคะ

3. เติมพลังกาย

          วิตามินบี 1 ในลองกองมีส่วนช่วยเพิ่มการทำงานของระบบต่าง ๆ ภายในร่างกาย เพราะเป็นวิตามินที่ช่วยดึงอาหารหมู่คาร์โบไฮเดรตมาเผาผลาญและเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิงให้ร่างกายดึงไปใช้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ในแต่ละวัน และยังช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้เป็นปกติอีกด้วยนะคะ

4. ช่วยบำรุงระบบประสาท

          เนื่องด้วยในลองกองมีวิตามิน B1 และ B2 ในปริมาณพอสมควร ซึ่งวิตามินบีหรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ไรโบฟลาโวน จะช่วยเสริมการทำงานของระบบประสาทให้ทำงานเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น

5. สารต้านอนุมูลอิสระสูง ช่วยบำรุงดูแลเซลล์ในร่างกาย

          เห็นผลเล็ก ๆ ผิวพรรณไม่สวยงามอย่างนั้น แต่เนื้อในผลของลองกองแอบซ่อนสารต้านอนุมูลอิสระไว้ไม่ใช่น้อยเลยล่ะ โดยผลการศึกษาในวารสาร Food Chemistry เมื่อปี 2006 เผยว่า ลองกองเป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระในปริมาณที่พอ ๆ กับผลไม้อย่างกล้วยและมะละกอเลยทีเดียว ซึ่งสารต้านอนุมูลอิสระที่พบในผลลองกองนี้มีส่วนช่วยปกป้องเซลล์ในร่างกายไม่ให้ถูกทำลายได้โดยง่าย ช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังได้หลายชนิด

ลองกอง
 
กินลองกองอ้วนไหม

          ถ้าดูจากปริมาณแคลอรีในลองกองที่มีเพียง 57 กิโลแคลอรีต่อลองกอง 100 กรัม (6-7 ผล) แล้ว ก็นับว่าเป็นผลไม้ที่ให้พลังงานไม่มากเท่าไรค่ะ ทว่าต้องบอกก่อนว่าลองกองเป็นผลไม้รสหวานที่มีปริมาณน้ำตาลค่อนข้างสูง ดังนั้นกินเยอะ ๆ เป็นกิโลก็อาจไม่รอดจากความอ้วนได้ ฉะนั้นอาหารทุกอย่างแม้กระทั่งผลไม้ เราก็ควรต้องกินอย่างพอเหมาะ ไม่มากจนเกินไปนะคะ

ลองกองน้ำตาลเยอะไหม

          อย่างที่บอกว่าลองกองมีรสหวานและมีปริมาณน้ำตาลค่อนข้างเยอะ โดยจากข้อมูลกองโภชนาการ กรมอนามัย แสดงให้เห็นว่า ลองกอง 100 กรัม (6-7 ผล) มีปริมาณน้ำตาลทั้งหมดอยู่ที่ 16.2 กรัม โดยจำแนกเป็นฟรุกโตส 7.40 กรัม กลูโคส 7.09 กรัม และซูโครส 1.53 กรัม ซึ่งจัดว่าลองกองมีน้ำตาลเยอะมากเลยทีเดียวค่ะ

ลองกอง คนท้องกินได้ไหม

          สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์สามารถกินลองกองได้ค่ะ เพียงแต่ควรจำกัดปริมาณการกินให้ไม่มากเกินไป สัก 6-8 ผลต่อวันก็พอ เพื่อหลีกเลี่ยงการรับประทานน้ำตาลมากไป อีกทั้งก่อนรับประทานลองกองควรต้องล้างผลลองกองให้สะอาด และให้แน่ใจว่าไม่มียางลองกองติดเนื้อลองกองไป เพราะยางลองกองอาจเป็นสาเหตุของผื่นแพ้ และอาการคันตามริมฝีปากและผิวหนังของคุณแม่ตั้งครรภ์ได้
       
ลองกอง
 
การเลือกซื้อลองกอง

เทคนิคดี ๆ ในการเลือกซื้อลองกองมีอยู่ไม่มากค่ะ ดังนี้เลย

          - ควรชิมก่อนว่าลองกองหวานหรือไม่

          - ควรเลือกซื้อลองกองผิวเรียบ ไม่มีรอยด่างดำมากเกินไป และเลือกลองกองที่มีขนาดผลเท่า ๆ กัน
       
ลองกอง
 
การปลูกลองกอง

          ก่อนปลูกลองกอง ควรเตรียมพื้นที่วางระบบน้ำ และปลูกพืชให้ร่มเงาเสียก่อน และต้นกล้าที่ใช้ควรมีอายุตั้งแต่ 1 ปี โดยการปลูกลองกองมีวิธีการดังนี้

          1. ปรับพื้นที่ให้เหมาะสม โดยขุดตอและรากไม้เก่าออกให้หมด จากนั้นไถตากดินไว้ 10-15 วัน แล้วปรับพื้นที่ให้เสมอ

          2. ถ้าปลูกลองกองแซมกับพืชอื่น ระยะปลูกที่ใช้ขึ้นกับพืชหลัก (พืชประธาน) โดยถ้าปลูกเป็นพืชเดี่ยว ควรใช้ระยะระหว่างต้น 4-6 เมตร และระหว่างแถว 6-8 เมตร

          3. ขุดหลุมขนาด 50x50x50 เซนติเมตร ใส่ปุ๋ยคอก 1 ปี๊บ และหินฟอสเฟต 1.5 กระป๋องนมข้น คลุกกับดินที่ขุดหลุมแล้วกลบคืนลงในหลุม 2 ใน 3 ของหลุม

          4. นำต้นกล้าวางในหลุม กลบดินที่โคนให้แน่น ปักไม้หลักและผูกเชือกยึดกับต้นกล้าหาวัสดุคลุมโคน

          5. รดน้ำให้ชุ่ม และทำร่มเงาพรางแสงให้ประมาณ 1-2 ปี

          ทั้งนี้แหล่งปลูกลองกองที่ให้ผลผลิตดีคือ ที่จังหวัดนราธิวาส, ยะลา, ชุมพร, นครศรีธรรมราช และจันทบุรี


ขอบคุณข้อมูลจาก
กองโภชนาการ กรมอนามัย
ศูนย์วิจัยพืชยืนต้นและไม้ผลเมืองร้อน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดระยอง
พืชเกษตร
livestrong
dietoflife
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
5 ประโยชน์ของลองกอง ดีขนาดนี้ต้องลิ้มลอง ! อัปเดตล่าสุด 16 สิงหาคม 2565 เวลา 10:30:56 249,278 อ่าน
TOP
x close