ต้นตีนเป็ด เป็นต้นไม้ที่หลายคนไม่ค่อยปลื้มเท่าไร
แต่ความสำคัญของต้นไม้ชนิดนี้มีประวัติที่ควรต้องจารึกไว้เลยทีเดียวนะคะ
เพราะเป็นพรรณไม้พระราชทาน เมื่อครั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปเป็นองค์ประธานในการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในโอกาสที่ทรงครองราชย์ครบ 50 ปี
โดยพระองค์พระราชทานพรรณไม้ "สัตบรรณ" แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร
จากนั้นต้นพญาสัตบรรณก็ปลูกอยู่ทั่วพื้นที่
จนกลายเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดสมุทรสาครนับแต่นั้นเป็นต้นมา
ต้นตีนเป็ด ลักษณะเป็นยังไง
ต้นตีนเป็ด หรือพญาสัตบรรณ หรือสัตบรรณ มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Devil Tree ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Alstonia scholaris จัดอยู่ในวงศ์โมก เป็นไม้ยืนต้นรูปทรงสูงใหญ่ ลำต้นสามารถเจริญเติบโตสูงได้ถึง 30-40 เมตร เป็นไม้เนื้อไม่แน่นและค่อนข้างเปราะ มีเปลือกหนาเป็นเกล็ดสีน้ำตาล เนื้อไม้มีสีขาวอมเหลือง ผิวไม้กรีดแล้วจะมียางสีขาวออกมา
ลักษณะต้นมีรูปทรงพุ่มสูงคล้ายฉัตร ใบเป็นแบบเลี้ยงเดี่ยว มีลักษณะรูปวงรี เนื้อหนาและเหนียว มีติ่งที่ปลายใบ ผลเป็นฝัก ออกดอกเป็นช่อ มีสีขาวอมเหลืองและเขียวนิด ๆ กลีบดอกเป็นรูปวงรี มีขนภายในดอก ลักษณะเด่นคือ ดอกมีกลิ่นหอมแรงไปจนกระทั่งฉุน โดยเฉพาะในตอนกลางคืน กลิ่นของดอกต้นตีนเป็ดจะฉุนรุนแรงมากเป็นพิเศษ โดยต้นตีนเป็ดมักจะออกดอกช่วงเดือนตุลาคมไปจนถึงเดือนธันวาคม
ทว่าที่มากไปกว่ากลิ่นดอกอันแสนฉุนของต้นตีนเป็ดแล้ว รู้หรือไม่ว่าสรรพคุณทางยาของต้นตีนเป็ดก็เด็ดไม่แพ้ใครเลยเชียวล่ะ
ต้นตีนเป็ด สรรพคุณเด็ดทุกส่วน
นอกจากต้นตีนเป็ดจะเป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ ให้ร่มเงา และมีชื่ออันเป็นมงคลแล้ว ต้นตีนเป็ดยังเป็นต้นไม้พื้นบ้านดั้งเดิมของไทย สรรพคุณของต้นตีนเป็ดจึงถูกนำมาใช้ประโยชน์ตั้งแต่สมัยโบราณ โดยสามารถแยกสรรพคุณทางยาของต้นตีนเป็ดได้ตามนี้
- ดอกตีนเป็ด
แก้เลือดพิการ แก้ไข้ ตัวร้อน โดยนำดอกตีนเป็ดมาต้มกับน้ำ แล้วดื่มแก้อาการผิดปกติ
- ใบตีนเป็ด
แก้ไข้หวัด แก้ไข้ ตัวร้อน รักษาโรคเลือดออกตามไรฟัน โรคลักปิดลักเปิด หรือโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง โดยนำใบมาต้มกับน้ำแล้วดื่ม นอกจากนี้ใบตีนเป็ดยังนำมาตำแล้วพอกเพื่อดับพิษต่าง ๆ ได้ด้วย
- เปลือกตีนเป็ด
คนโบราณมักจะนำเปลือกตีนเป็ดมาต้มกับน้ำ ใช้ทั้งกินทั้งอาบ โดยเปลือกตีนเป็ดมีสรรพคุณช่วยแก้ไข้ดีพิการ แก้บิด ขับพยาธิไส้เดือน แก้ไข้หวัด แก้หลอดลมอักเสบ สมานลำไส้ เจริญอาหาร โดยใช้ต้มกับน้ำเป็นยาขม หรือบางคนนำเปลือกตีนเป็ดมาต้มกับน้ำแล้วอาบแก้อาการน้ำเหลืองเสีย รักษาแผลติดเชื้อ แผลเป็นหนอง และรักษาเชื้อราบนผิวหนัง
- ยางตีนเป็ด
สามารถนำยางต้นตีนเป็ดไปผสมกับน้ำมันสมุนไพร แล้วนำมานวดแก้ปวดหู บำรุงร่างกาย หรือจะใช้ยางต้นตีนเป็ดใส่แผลที่เป็นตุ่มหนอง ช่วยให้แผลแห้งเร็วก็ได้ อีกทั้งยังสามารถนำยางต้นตีนเป็ดมาอุดฟัน หยอดล้างหูก็ได้เช่นกัน
- กระพี้ต้นตีนเป็ด
ขับผายลม ขับเลือดให้ตก โดยนำกระพี้มาต้มกับน้ำแล้วดื่ม
- รากตีนเป็ด
ช่วยขับผายลมในลำไส้ แก้ไข้ แก้น้ำดีผิดปกติ โดยนำรากตีนเป็ดมาต้มกับน้ำ ดื่มเป็นยาบรรเทาโรค
อย่างไรก็ตาม ต้องเตือนไว้สักหน่อยกับคนที่เป็นโรคภูมิแพ้
เพราะกลิ่นและละอองเกสรของต้นตีนเป็ดอาจทำให้อาการภูมิแพ้กำเริบได้
ฉะนั้นควรอยู่ห่างจากรัศมีที่มีต้นตีนเป็ดให้ไกล ๆ
เพื่อเป็นการป้องกันไว้ก่อนดีกว่านะคะ
เพราะแม้จะใส่หน้ากากอนามัยป้องกันแล้ว
แต่ละอองเกสรของดอกไม้นั้นมีขนาดเล็กมากพอจะเล็ดลอดผ่านหน้ากากเราไปได้
กลิ่นต้นตีนเป็ด เป็นพิษต่อร่างกายจริงไหม ?
ช่วงหน้าหนาวทุกปีมักจะมีคนแชร์ข้อมูลว่า กลิ่นแรง ๆ ของต้นตีนเป็ดเป็นกลิ่นของไซยาไนด์ ที่มีผลต่อระบบหัวใจ หากสูดดมนาน ๆ จะทำให้หน้ามืด เวียนหัว จนระบบหัวใจล้มเหลวและเสียชีวิตได้ แต่จริง ๆ แล้วเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง
โดย ผศ. ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์อธิบายผ่านเพจเฟซบุ๊ก "อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์" ว่า ต้นตีนเป็ดเป็นแค่ต้นไม้ที่มีดอกส่งกลิ่นแรง ซึ่งบางคนก็ว่าเหม็น บางคนก็ว่าหอม แต่ไม่ใช่กลิ่นของไซยาไนด์แต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม อย่าสับสนกับ "ต้นตีนเป็ดน้ำ" หรือต้นตีนเป็ดทะเล ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cerbera odollam Gaertn. โดยต้นตีนเป็ดน้ำจะมีทรงพุ่มสวยงาม ดอกสวย มีกลิ่นหอม แต่ยางจากต้น ใบ ผล และเนื้อในผลต้นตีนเป็ดน้ำ มีสารซีรีโบรไซด์ (Cerberoside) และธีโวบิโอไซด์ (Thevobioside) ที่เป็นพิษต่อหัวใจ ส่วนเมล็ดก็มีสารที่ออกฤทธิ์ต่อหัวใจ ที่เรียกว่า คาร์เบอริน (Cerberin) ซึ่งมีการนำมาใช้ในการวางยาพิษ แต่พิษทั้งหมดนี้จะไม่ถูกคายออกมาในอากาศให้คนสูดดมเข้าไป ถึงกระนั้นก็ไม่แนะนำให้ปลูกต้นตีนเป็ดน้ำในบริเวณสนามเด็กเล่นหรือบริเวณที่มีเด็กอยู่
โดย ผศ. ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์อธิบายผ่านเพจเฟซบุ๊ก "อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์" ว่า ต้นตีนเป็ดเป็นแค่ต้นไม้ที่มีดอกส่งกลิ่นแรง ซึ่งบางคนก็ว่าเหม็น บางคนก็ว่าหอม แต่ไม่ใช่กลิ่นของไซยาไนด์แต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม อย่าสับสนกับ "ต้นตีนเป็ดน้ำ" หรือต้นตีนเป็ดทะเล ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cerbera odollam Gaertn. โดยต้นตีนเป็ดน้ำจะมีทรงพุ่มสวยงาม ดอกสวย มีกลิ่นหอม แต่ยางจากต้น ใบ ผล และเนื้อในผลต้นตีนเป็ดน้ำ มีสารซีรีโบรไซด์ (Cerberoside) และธีโวบิโอไซด์ (Thevobioside) ที่เป็นพิษต่อหัวใจ ส่วนเมล็ดก็มีสารที่ออกฤทธิ์ต่อหัวใจ ที่เรียกว่า คาร์เบอริน (Cerberin) ซึ่งมีการนำมาใช้ในการวางยาพิษ แต่พิษทั้งหมดนี้จะไม่ถูกคายออกมาในอากาศให้คนสูดดมเข้าไป ถึงกระนั้นก็ไม่แนะนำให้ปลูกต้นตีนเป็ดน้ำในบริเวณสนามเด็กเล่นหรือบริเวณที่มีเด็กอยู่
สรุปได้ว่า กลิ่นของต้นตีนเป็ดไม่ได้อันตรายอย่างที่เข้าใจกัน จึงสามารถนำไปใช้เป็นยาสมุนไพรได้ และนอกจากสรรพคุณทางยาแล้ว ต้นไม้ชนิดนี้ยังถูกนำไปแปรรูปเป็นของใช้ในและเฟอร์นิเจอร์ภายในบ้านด้วย
ถึงแม้ต้นตีนเป็ดกลิ่นจะฉุนไปหน่อย แต่พอได้เห็นประโยชน์และสรรพคุณของเขาแล้ว ต้องบอกว่าครอบจักรวาลจนลืมกลิ่นเหม็น ๆ ของดอกตีนเป็ดไปเลยเนอะ
* หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565