โรคน้ำกัดเท้าจริง ๆ แล้วไม่ได้รักษาได้ด้วยตัวยาเพียงเท่านั้น แต่ยังมีสมุนไพรใกล้ตัวที่มีสรรพคุณรักษาโรคน้ำกัดเท้าได้ และสมุนไพรไทยแต่ละชนิดสรรพคุณก็ไม่ธรรมดาด้วยนะคะ เพราะบางอย่างก็มีคุณสมบัติรักษาโรคอื่น ๆ ได้อีกด้วย เอาเป็นว่าเราลองมาเช็กกันเลยว่าสมุนไพรรักษาโรคน้ำกัดเท้ามีอะไรบ้าง
สมุนไพรไทยกลิ่นหอมแรงอย่างมะกรูดมีดีอยู่ที่ผิวขรุขระนี่แหละค่ะ เพราะผิวมะกรูดมีฤทธิ์กำจัดเชื้อราบนผิวหนัง แถมยังช่วยกำจัดเชื้อแบคทีเรียที่อยู่บนผิวของเราได้ โดยให้นำผิวมะกรูดมาคั้นเอาน้ำแล้วผสมกับน้ำมะกรูดที่คั้นสด ๆ จากนั้นนำมาเป็นยาทาแผลน้ำกัดเท้าบ่อย ๆ ก็จะช่วยให้อาการน้ำกัดเท้าบรรเทาลงได้ อีกทั้งกลิ่นหอมจากมะกรูดยังมอบความรู้สึกสดชื่นให้เราด้วยนะ
ในกระเทียมมีสารชนิดหนึ่งชื่อว่า Ajoene ซึ่งมีสรรพคุณในการกำจัดเชื้อราได้ดีมาก โดยการทดลองรักษาผู้ป่วยโรคน้ำกัดเท้าพบว่า สารสกัดจาก Ajoene เพียง 1.0% ให้ผลการรักษาโรคน้ำกัดเท้าได้ดีกว่าการรักษาโรคน้ำกัดเท้าด้วยครีมยาในปริมาณ 1.0% เท่ากัน ทว่าสารจากกระเทียมอาจทำให้เกิดอาการแสบร้อนบริเวณแผลได้ในบางคน
3. ข่า
เราสามารถนำสมุนไพรใกล้ตัวอย่างข่ามาเป็นยารักษาโรคผิวหนังติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของโรคน้ำกัดเท้าได้ นอกจากนี้ข่ายังมีฤทธิ์ในการรักษากลาก เกลื้อน และแก้ลมพิษได้ด้วยนะคะ โดยในการใช้ข่ารักษาโรคผิวหนังสามารถใช้เหง้าข่าแก่เท่าหัวแม่มือตำให้ละเอียด แล้วผสมเหล้าโรงจนเข้ากันดี จากนั้นนำมาเป็นยาสำหรับทาแผลน้ำกัดเท้าหลาย ๆ ครั้งจนกว่าอาการจะทุเลาลง
4. ขมิ้นชัน
ขมิ้นชันมีสรรพคุณแก้คัน ยับยั้งเชื้อโรคและเชื้อราได้ดี โดยวิธีรักษาน้ำกัดเท้าด้วยขมิ้นชันให้นำแง่งขมิ้นชันมาฝนกับน้ำ หรือตำกับน้ำแล้วนำมาชโลมแผลน้ำกัดเท้าก็ได้
ใบพลูเป็นสมุนไพรรักษาโรคมาตั้งแต่สมัยโบราณ ซึ่งมีการนำใบพลูมาล้างสะอาด แล้วตำใบพลูผสมกับเหล้าขาวหรือแอลกอฮอล์ ใช้ทาแก้อาการคัน ลมพิษ หรือคั้นน้ำใบพลูมารักษาโรคกลาก เกลื้อน ฝี หนอง สิว และแผลอักเสบต่าง ๆ โดยทางการแพทย์แผนปัจจุบันก็พบว่า ใบพลูมีน้ำมันหอมระเหยที่เรียกว่า Betel oil ที่มีสรรพคุณยับยั้งเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราบนผิวหนังได้ อีกทั้งเจ้าน้ำมันหอมระเหยที่มีในใบพลูยังมีส่วนช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราและเชื้อแบคทีเรียบนผิวหนังเราได้อีกต่างหาก
การศึกษาทางคลินิกเพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพการรักษาโรคเชื้อราบนผิวหนังระหว่างน้ำมันจากเปลือกส้มเกลี้ยงและตัวยาแผนปัจจุบันพบว่า ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อราบนผิวเปลือกส้มเกลี้ยงมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับตัวยารักษาเชื้อรา โดยสามารถนำน้ำมันสกัดจากผิวเปลือกส้มเกลี้ยงมาทาผิวหนังที่เกิดเชื้อราอันเป็นสาเหตุของโรคน้ำกัดเท้าได้โดยตรง วันละ 1 ครั้ง ติดต่อกันประมาณ 1-3 สัปดาห์ โดยไม่มีผลข้างเคียงอันตราย
7. เปลือกมังคุดแห้ง
สมุนไพรที่นิยมใช้รักษาโรคน้ำกัดเท้า มักเป็นสมุนไพรที่มีรสฝาด เนื่องจากมีสารแทนนินมาก มีฤทธิ์ต้านการอักเสบและมีฤทธิ์ช่วยรักษาแผลน้ำกัดเท้าได้ เช่น เปลือกมังคุดแห้ง ที่มักจะนำมาฝนกับน้ำหรือน้ำปูนใสให้ข้นพอควร แล้วทาแผลน้ำกัดเท้า วันละ 2-3 ครั้ง ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการน้ำกัดเท้าได้
8. ฟ้าทะลายโจร
ฟ้าทะลายโจรเป็นสมุนไพรที่สามารถต้านเชื้อแบคทีเรีย แก้อักเสบ ช่วยสมานแผล ซึ่งสามารถใช้ร่วมกับดินสอพอง หรือหากมีแคปซูลฟ้าทะลายโจร ก็สามารถแกะแคปซูลใช้ผงของฟ้าทะลายโจรมาละลายน้ำ แปะเข้าไปที่บาดแผลที่เกิดจากน้ำกัดเท้าทุกวันจนกว่าอาการจะทุเลาลง
สมุนไพรทองพันชั่งมีสรรพคุณเด่น ๆ คือการต้านเชื้อรา เนื่องจากพบสาร Diospyrol สารที่มีฤทธิ์รักษาเชื้อรา รักษากลาก เกลื้อน และต้านอาการผิวหนังอักเสบ โดยใช้ใบทองพันชั่งประมาณ 1 กำมือตำให้ละเอียด แล้วนำมาพอกหรือทาบริเวณที่เป็นวันละ 3-4 ครั้ง ติดต่อกันทุกวันจนกว่าแผลจะหาย
มะเกลือก็เป็นสมุนไพรไทยที่มีสาร Diospyrol เหมือนใบทองพันชั่ง สรรพคุณในการรักษาโรคน้ำกัดเท้าของมะเกลือเลยไม่ต่างจากใบทองพันชั่งสักเท่าไร ส่วนวิธีการใช้มะเกลือรักษาโรคน้ำกัดเท้าสามารถทำได้โดยใช้ผลมะเกลือสดฝานให้ได้น้ำยางจากผลสด แล้วนำยางที่ได้มาทาบริเวณที่เป็นทันที วันละ 1 ครั้ง หรือจนกว่าอาการของโรคจะบรรเทาลง
ใบแห้งของเทียนบ้านมีสรรพคุณในการรักษาแผลอักเสบ ฝีหนอง แผลเน่าเปื่อย และแผลเรื้อรังได้ โดยใช้ใบเทียนบ้านแห้ง 10-15 กรัม ต้มกับน้ำแล้วดื่มทุกเช้า-เย็น หรือจะนำใบเทียนบ้านสด ๆ ประมาณ 1 กำมือตำให้ละเอียด แล้วนำมาพอกหรือทาบริเวณที่เป็นวันละ 3-4 ครั้ง ติดต่อกันทุกวันจนกว่าแผลจะหายก็ได้เช่นกัน
ใบชุมเห็ดเทศเป็นสมุนไพรท้องถิ่นที่สามารถนำมารักษาโรคน้ำกัดเท้าได้ด้วยนะคะ โดยนำใบชุมเห็ดเทศประมาณ 1 กำมือ ล้างให้สะอาดแล้วตำจนละเอียดเพื่อนำไปพอกแผลน้ำกัดเท้า ให้ตัวยาจากใบชุมเห็ดเทศรักษาอาการผิวหนังอักเสบจากเชื้อรา และรักษาแผลเปื่อยที่เป็นอยู่ให้หายเป็นปกติ
สมุนไพรทั้ง 12 ชนิดนี้สามารถรักษาโรคน้ำกัดเท้าให้เราได้ก็จริง แต่ทางที่ดีกว่าการรักษาคือการป้องกันไม่ให้เกิดโรคกับเราได้ โดยวิธีป้องกันในเบื้องต้นแนะนำให้สวมรองเท้าบูททุกครั้งที่ต้องย่ำผ่านบริเวณน้ำท่วมขัง หรือหากเลี่ยงไม่ได้ ต้องเดินลุยน้ำท่วมขังจริง ๆ ให้รีบล้างน้ำฟอกสบู่ ขัดถูบริเวณง่ามเท้าเน้น ๆ แล้วเช็ดให้แห้ง จากนั้นโรยแป้งให้ทั่วโดยเร็วที่สุด
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
มูลนิธิสุขภาพไทย
สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
หมออนามัย
โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ