เรื่องน่ารู้ของ ต่อมพาราไทรอยด์

          ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ระบบภายในร่างกายของเรามีมากมาย ซึ่งล้วนทำงานเกี่ยวข้องกันทั้งนั้น รวมทั้งระบบ "ต่อมไร้ท่อ" ที่มีความสำคัญในการผลิตฮอร์โมนต่าง ๆ เพื่อควบคุมการทำงานของอวัยวะภายใน

ต่อมไทรอยด์

          อย่างเช่นเรื่องราวของ "ต่อมพาราไทรอยด์" ที่เราจะนำเสนอในวันนี้ หลายคนเคยได้ยินแต่ชื่อ แต่ไม่รู้จักหน้าที่และความสำคัญของ "ต่อมพาราไทรอยด์" วันนี้เรามีเรื่องนี้มาบอกกัน

รู้จัก ต่อมพาราไทรอยด์

          ต่อมพาราไทรอยด์ หรือ Parathyroid Glands เป็นต่อมไร้ท่อประเภทที่จำเป็นต่อชีวิต (Essentail endocrine gland) ขนาดเล็กเท่าเมล็ดถั่วเขียว ฝังอยู่ด้านหลังของต่อมไทรอยด์ด้านละ 2 ต่อม รวมเป็น 4 ต่อม ทำหน้าที่ผลิต และหลั่งฮอร์โมน "พาราทอร์โมน" (Parathormone) ซึ่งเป็นสารพอลิเพปไทด์ ประกอบด้วยกรดอะมิโน 84 โมเลกุล ทำหน้าที่ร่วมกับแคลซิโทนิน และวิตามินดี

ต่อมพาราไทรอยด์
 
หน้าที่ของต่อมพาราไทรอยด์

          แน่นอนว่า ต่อมพาราไทรอยด์ มีหน้าที่ผลิตพาราทอร์โมน (PTH) หรือ พาราไทรอยด์ฮอร์โมน ซึ่งช่วยรักษาสมดุลของแคลเซียม และฟอสฟอรัส ในเลือด และเนื้อเยื่อให้ปกติ โดยทำงานร่วมกับวิตามินซี วิตามินดี และแคลซิโทนินซึ่งผลิตจากต่อมไทรอยด์ โดยหน้าที่สำคัญประกอบไปด้วย

          - กระตุ้นการสร้างเซลล์ osteoclasts ที่ทำหน้าที่สลายกระดูก โดยวิตามินดีจะรวมกับพาราทอร์โมน ช่วยสลายแคลเซียมออกจากกระดูก เพื่อรักษาระดับปกติของแคลเซียมในเลือด

          - เพิ่มการดูดแคลเซียมกลับจากท่อหน่วยไตเข้าสู่เลือด ทำให้การขับถ่ายแคลเซียมไปกับปัสสาวะลดลง และมีระดับแคลเซียมในเลือดเพิ่มขึ้น

          - กระตุ้นให้มีการสังเคราะห์วิตามินดีเพิ่มขึ้น เพื่อทำให้มีการดูดซึมแคลเซียมที่ลำไส้เล็กเพิ่มขึ้น

          - ลดระดับของฟอสเฟตที่กระดูก ไต และลำไส้เล็ก กระตุ้นการขับฟอสเฟตออกไปกับปัสสาวะ


พาราไทรอยด์




การรักษาสมดุลของแคลเซียมในเลือด

          การทำงานของต่อมไทรอยด์ และพาราไทรอยด์จะทำงานร่วมกัน เพื่อควบคุมสมดุลของปริมาณแคลเซียมในเลือด โดย

          - ถ้าแคลเซียมในเลือดสูง จะกระตุ้นให้ต่อมไทรอยด์หลั่งฮอร์โมนแคลซิโทนิน เพื่อลดระดับแคลเซียม

          - ถ้าแคลเซียมในเลือดต่ำ จะกระตุ้นให้ต่อมพาราไทรอยด์หลั่งพาราทอร์โมน เพื่อเพิ่มระดับแคลเซียม

โรคที่เกิดจากต่อมพาราไทรอยด์ผิดปกติ

          ความผิดปกติของต่อมพาราไทรอยด์ มีทั้งที่ทำงานมากและทำงานน้อยผิดปกติ ซึ่งที่พบบ่อยคือพาราไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติ รวมทั้งอาการต่อมพาราไทรอยด์โตด้วย

1. ไฮเปอร์พาราไทรอยด์ (Hyperparathyroidism)

          เป็นภาวะที่ต่อมพาราไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนสูงผิดปกติ โดยไปกระตุ้นให้มีการละลายแคลเซียมและฟอสเฟตออกจากกระดูกและฟัน แล้วเข้าสู่กระแสเลือดมากกว่าปกติ ทำให้แคลเซียมสูง (Hypercalcimia) แต่ฟอสเฟตต่ำ (Hypophosphatemia) ดังนั้นจึงมีแคลเซียมปนออกมาในปัสสาวะ การที่แคลเซียมที่ถูกดึงออกมาจากกระดูกและฟัน จะทำให้กระดูกเปราะบาง ฟันผุุ ฟันหักได้ง่าย อาจทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง เปลี้ย ประสาทตอบสนองได้น้อย และอาจเกิดการสะสมแคลเซียมที่ไตมากเกินไป จนทำให้เป็นนิ่วในไตได้

          นอกจากนี้ภาวะที่ต่อมพาราไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติ อาจเกิดได้จากเนื้องอกที่ต่อมพาราไทรอยด์ และต่อมพาราไทรอยด์โตขึ้นเอง อย่างไรก็ตาม เนื้องอกนี้มักเกิดโดยไม่ทราบสาเหตุ มีเพียงส่วนน้อยที่เกิดจากกรรมพันธุ์ ซึ่งกรณีนี้มักมีโรคอื่นร่วมด้วย เช่น เนื้องอกที่ต่อมใต้สมอง เนื้องอกที่ตับอ่อน หรือแม้แต่มะเร็งไทรอยด์ แต่เนื้องอกนี้มักไม่ใช่เนื้อร้าย และมีคนน้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ที่จะเป็นมะเร็งต่อมพาราไทรอยด์

2. ไฮโปพาราไทรอยด์ (Hypoparathyroidism)

          เป็นภาวะที่มีการหลั่งพาราทอร์โมนออกมาน้อยกว่าปกติ มักเกิดจากการตัดต่อมไทรอยด์ และตัดต่อมพาราไทรอยด์ออกด้วย ส่งผลให้การดูดแคลเซียมกลับที่ท่อหน่วยไตลดน้อยลง แคลเซียมสูญเสียออกไปกับน้ำปัสสาวะ ทำให้ระดับแคลเซียมในเลือดลดลง ฟอสเฟตสูงขึ้น ดังนั้นเมื่อมีบาดแผลจะทำให้เลือดไหลไม่หยุด ระบบประสาทและกล้ามเนื้อไวต่อสิ่งเร้า มีอาการชาตามมือตามเท้า เป็นตะคริว ชักกระตุก กล้ามเนื้อเกร็งที่เรียกว่า Tetany หรืออาจถึงขั้นปอดทำงานไม่ได้ จนเสียชีวิตได้

          เราสามารถทดสอบได้ว่า เราขาดแคลเซียมหรือไม่ โดยใช้เครื่องวัดความดันรัดแขน จนเกิดความดัน เพื่อบีบเส้นเลือดให้ตีบ เมื่อกล้ามเนื้อขาดแคลเซียมไปเสี้ยงจะเกิดอาการเกร็ง มือกระตุกงอ (carpal spasm) ภายใน 3 นาที เรียกอาการนี้ว่า อาการของทรูโซ (Trousseau\'s sign)

          ทั้งนี้ สามารถแก้ความผิดปกตินี้ได้ด้วยการลดอาหารที่มีฟอสเฟตสูง ๆ และเสริมแคลเซียม หรือวิตามินดีเข้าสู่ร่างกาย หรือฉีด "พาราทอร์โมน" และให้วิตามินดีควบคู่กันไปด้วย เพราะวิตามินดี จะช่วยเรื่องการดูดซึมแคลเซียมที่ลำไส้เล็กให้ดีขึ้น ทำให้พาราทอร์โมนทำงานได้ดีขึ้น


3. ต่อมพาราไทรอยด์โต

          เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยกลุ่มเสี่ยงคือ ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ไม่ได้รับการฟอกไตอย่างเพียงพอ ทำให้ร่างกายขาดวิตามินดี และมีสารฟอสฟอรัสคั่งอยู่มาก ต่อมพาราไทรอยด์จึงต้องทำงานหนักและโตขึ้นในที่สุด โดยมีโอกาสเป็นเนื้องอกในต่อมเดี่ยว 85 เปอร์เซ็นต์ และมีโอกาสเป็นทั้ง 4 ต่อม 15 เปอร์เซ็นต์

          อย่างไรก็ตาม ความผิดปกติของต่อมพาราไทรอยด์นี้ จะไม่ได้แสดงอาการออกมาให้เห็นในช่วงแรก แต่สามารถตรวจพบได้จากการตรวจสุขภาพ คือตรวจพบว่ามีระดับแคลเซียมในเลือดสูงผิดปกติ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ระดับแคลเซียมที่สูงผิดปกติ อาจไม่ได้หมายถึงโรคจากต่อมพาราไทรอยด์ก็เป็นได้ เพราะยังมีอีกหลายโรค เช่น โรคกระดูกพรุน ภาวะหมดประจำเดือน ซึ่งส่งผลต่อระดับแคลเซียมให้กระแสเลือดได้เช่นกัน

          ดังนั้นเราต้องหมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพื่อเฝ้าระวังความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นกับต่อมพาราไทรอยด์ได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ที่ควรเฝ้าระวังโรคต่อมพาราไทรอยด์มากเป็นพิเศษ เพราะต่อมพาราไทรอยด์ เป็นต่อมไร้ท่อที่สำคัญต่อร่างกาย หากเกิดความผิดปกติกับต่อมพาราไทรอยด์แล้ว มีโอกาสที่จะเสียชีวิตได้มากทีเดียว


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เรื่องน่ารู้ของ ต่อมพาราไทรอยด์ อัปเดตล่าสุด 25 มิถุนายน 2562 เวลา 11:52:07 172,366 อ่าน
TOP
x close