x close

5 อาหารไทยจานเด็ดรสเผ็ดร้อน กับประโยชน์ที่ซ่อนในความแซ่บ


อาหารไทย

          อาหารไทยนี่ล่ะคือเมนูต้านอนุมูลอิสระชั้นเลิศที่ช่วยชะลอวัยและบำรุงร่างกาย สาเหตุก็มาจากพริกและเครื่องเทศรสเผ็ดร้อนที่ผสมลงไปนี่เอง

          เมื่อพูดถึงอาหารไทยก็ต้องนึกถึง "ความเผ็ดร้อน หน้าตาสีสันฉูดฉาด และเครื่องเทศส่วนผสมการปรุงที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนชาติใด" นอกจากความอร่อยนั้น ความเผ็ดร้อนที่อยู่ในอาหารไทยยังเต็มไปด้วยคุณค่าที่ดีต่อร่างกายอีกด้วย

อาหารไทย

          โรคฮิตอย่างโรคเบาหวาน โรคทางเดินหายใจ โรคหัวใจขาดเลือดและโรคหลอดเลือดสมอง ทั้งหมดล้วนมีสาเหตุมาจากการบริโภคที่ผิดหลักโภชนาการ เช่น ความนิยมของอาหารฟาสต์ฟู้ดที่เต็มไปด้วยแป้งและไขมัน รวมถึงรสหวาน สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้เราห่างไกลจากสิ่งที่เรียกว่า "สุขภาพดี" ทาง สสส. จึงชวนเราไปล้วงลึกประโยชน์ของความเผ็ดร้อนที่ซ่อนอยู่ในอาหารไทย

อาหารไทย

กินแบบไทย รสชาติไทย ดี๊ดีต่อสุขภาพ

          อาจารย์แววตา เอกชาวนา นักโภชนาการบำบัดและผู้เชี่ยวชาญเรื่องอาหารเพื่อสุขภาพ วิทยากรประจำศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. ได้กล่าวไว้ว่า "อาหารไทยเต็มไปคุณค่าทางโภชนาการ และสารอาหารที่ครบถ้วน รวมถึงมีความหลากหลายของสมุนไพร และเครื่องเทศที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกาย เป็นหนึ่งในมรดกทางวัฒนธรรมที่แสดงถึงความเป็นชาติไทยมาแต่สมัยโบราณ อาหารไทยจึงเป็นอาหารเพื่อสุขภาพโดยแท้จริง"

          ต้นทางของความเผ็ดร้อนของอาหารไทยส่วนใหญ่คือ "พริก" ที่มีสรรพคุณเป็นยาขับลม บำรุงธาตุ ช่วยย่อยอาหาร ทำให้เจริญอาหาร บรรเทาอาการไข้หวัด ลดน้ำมูก ช่วยลดการอุดตันของหลอดเลือด ลดไขมันในเลือด รวมทั้งสีของพริกที่ไม่ว่าจะเป็นสีเหลือง สีส้ม และสีแดงคือสารตั้งต้นของวิตามินเอที่ช่วยบำรุงสายตา อีกทั้งในพริกยังมีวิตามินซีมากกว่าในผลส้มเสียอีก แต่วิตามินซีในพริกจะสลายตัวเมื่อถูกความร้อน หากใครที่ต้องการวิตามินซีจากพริกก็จะต้องกินพริกสดเท่านั้น

5 อาหารไทย "เผ็ดร้อน" มากประโยชน์

อาหารไทย

"น้ำพริก" อาหารเผ็ดร้อนที่อยู่คู่โต๊ะรับประทานอาหารของคนไทย

          น้ำพริก เคียงคู่กับผักสด ผักลวก ปลานึ่ง เมนูง่าย ๆ ที่มากคุณประโยชน์ เพราะวัตถุดิบที่อยู่ในน้ำพริกล้วนเต็มไปด้วยสมุนไพรรสเผ็ดร้อนไม่ว่าจะเป็นพริกขี้หนู กระเทียมไทย กระชาย หอมแดง ตะไคร้ เป็นต้น

          มีผลจากการศึกษาพบว่า น้ำพริก ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มสมุนไพรเผ็ดร้อนนั้น มีฤทธิ์ต่อต้านสารอนุมูลอิสระและชะลอความชรา สามารถกำจัดเชื้อโรคในระบบทางเดินอาหารได้หลายชนิด กระตุ้นการไหลเวียนโลหิตและระบบการหายใจ ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันโรค อีกทั้งยังช่วยลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคเบาหวาน และโรคทางสมอง เป็นต้น

อาหารไทย

"ต้มยำกุ้ง" เมนูที่โด่งดังไปทั่วโลก

          เป็นเมนูที่เสมือนเป็นหม้อยาหม้อใหญ่ที่อุดมไปด้วยสมุนไพรนานาชนิด ไม่ว่าจะเป็นพริกขี้หนู ตะไคร้ ใบมะกรูด ข่า รากผักชี ซึ่งแต่ละชนิดล้วนมีสรรพคุณดูแลสุขภาพร่างกาย อาทิ ใบมะกรูดช่วยแก้จุกเสียด ขับลม พริกช่วยบำรุงธาตุ เป็นต้น

อาหารไทย

"ส้มตำ" รสแซ่บใคร ๆ ก็ชอบ

          ส่วนผสมของผักและสมุนไพรที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น มะละกอ กระเทียม มะเขือเทศ พริกขี้หนู ถั่วฝักยาว ซึ่งมีสรรพคุณทางยาที่ช่วยสร้างภูมิต้านทานให้กับร่างกาย ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ และชะลอวัย แต่การทานส้มตำให้ได้ประโยชน์ต้องคำนึงถึงความสะอาดของวัตถุดิบเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากเป็นเมนูที่ไม่ผ่านความร้อน อาจเสี่ยงทำให้เกิดท้องเสียได้ โดยเฉพาะต้องระวังเชื้อราอย่าง "อะฟลาทอกซิน" ที่มักอยู่ในถั่วลิสง กุ้งแห้ง กระเทียมที่มีโทษต่อตับ และไม่ควรทานส้มตำเกิน 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์หากมีส่วนผสมของ ปูดองเค็มหรือปลาร้า ควรทานเพียงอาทิตย์ละ 1 ครั้งเท่านั้น ที่สำคัญส่วนผสมนี้ต้องต้มให้สุกก่อน

อาหารไทย

ตามมาด้วย "หมูย่างน้ำตก"

          อุดมด้วยกลุ่มสมุนไพรเผ็ดร้อนของพริกขี้หนูสดผสมพริกป่นกลมกล่อมด้วยหอมแดง ต้นหอม ผักชี ใบสะระแหน่คลุกเคล้ามะนาว รวมถึงคลุกกับข้าวคั่วเพื่อช่วยดูดซับแก๊สในช่องท้องที่เกิดจากหมูไม่ย่อย เมื่อเทียบกันแล้ว สเต๊กบาร์บีคิวของฝรั่งที่ทาเนยแสนเลี่ยนจิ้มกับซอสมะเขือเทศ น่าจะต้องหลีกทางให้กับหมูย่างน้ำตก แต่จะให้ดีควรเลือกกินหมูไร้มันด้วย

อาหารไทย

ปิดท้ายด้วย "มัสมั่นแกงแก้วตา หอมยี่หร่ารสร้อนแรง"

          รสเผ็ดหอมกรุ่น ทั้งยังมีพริกแห้งกับ พริกไทย รวมถึงกลุ่มเครื่องเทศไทยรสเผ็ดร้อนอื่น ๆ เช่น กระเทียมไทย ตะไคร้ซอย ข่าแก่ หอมแดง หอมใหญ่ รากผักชี อบเชย ลูกกระวาน ใบกระวาน กานพลู ฯลฯ ซึ่งให้คุณค่าทางโภชนาการเต็มที่จากโปรตีนและไขมันของเนื้อสัตว์ที่ช่วยย่อยด้วยกลุ่มเครื่องเทศรสเผ็ดร้อน จึงทานได้โดยไม่มีอาการท้องอืดเฟ้อ จุกเสียดจากอาหาร

          เห็นแบบนี้คงหิวแน่เลย...แต่อย่าลืมว่าการที่เราจะมีสุขภาพดีได้ไม่เพียงแค่การกินอาหารที่มีประโยชน์ แต่จะต้องมีการออกกำลังกายที่เหมาะสม ตลอดจนการพักผ่อนอย่างเพียงพอ เป็น 3 ส่วนผสมที่ลงตัวของการมีสุขภาพดีที่ยั่งยืน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องโดย : กิดานัล กังแฮ Team Content www.thaihealth.or.th 
ที่มา : หนังสือ "เผ็ดร้อนเป็นยา" โดย สำนักศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
5 อาหารไทยจานเด็ดรสเผ็ดร้อน กับประโยชน์ที่ซ่อนในความแซ่บ อัปเดตล่าสุด 6 มีนาคม 2560 เวลา 10:30:31 18,094 อ่าน
TOP