วิธีรักษาน้ำมันลวกแขน ให้หายแสบร้อนและไม่ทิ้งรอยแผลเป็น

          โดนน้ำมันร้อน ๆ กระเด็นใส่จนผิวแสบไปหมด ต้องรีบมารักษาด้วยวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น ที่จะช่วยบรรเทาอาการแสบร้อนที่ผิวให้ลดน้อยลงได้

วิธีรักษาแผลน้ำมันลวก

          คนที่เข้าครัวอยู่บ่อย ๆ น่าจะเคยมีประสบการณ์โดนน้ำมันร้อน ๆ กระเด็นใส่ หรือบางคนกำลังจะทอดปลา ทอดหมู แต่ดันเผลอเอามือลงไปจุ่มน้ำมันร้อน ๆ ในกระทะแทน โอ้ย...ความแสบนี้แทบอยากจะดิ้นซะตรงนั้นเลยใช่ไหมคะ แต่ทางที่ดีอย่ามัวดิ้นเร่า ๆ เพราะความร้อนกันเลย รีบมาดูวิธีรักษาน้ำมันลวกแขนที่เรานำมาฝากกันดีกว่า อาการแสบร้อนจะได้ไม่ลุกลามทรมานเรานาน ๆ เนอะ

วิธีปฐมพยาบาลเมื่อถูกน้ำมันลวกแขน

          1. ล้างแผลด้วยน้ำสะอาดทันที

วิธีรักษาแผลน้ำมันลวก

          เมื่อโดนน้ำมันลวกให้รีบล้างแผลด้วยน้ำสะอาดและสบู่ หรือเปิดน้ำให้ไหลผ่านบาดแผลบริเวณที่ถูกน้ำมันลวก นานประมาณ 10 นาที น้ำจะช่วยลดอุณหภูมิที่ผิว ระบายความร้อนออกจากแผล และช่วยป้องกันอาการผิวหนังพุพองได้

          2. ถอดเสื้อผ้าออก

          ในกรณีที่ถ้าน้ำมันร้อน ๆ เปียกเสื้อผ้าที่สัมผัสกับผิวหนังอยู่ ให้ถอดเสื้อผ้าออก หรือตัดเสื้อผ้าส่วนนั้น เพื่อไม่ให้ผิวสัมผัสกับความร้อนนาน แต่ถ้าบางส่วนติดแน่นกับผิวหนัง ไม่ควรดึงออก นอกจากนี้ถ้ามีเครื่องประดับให้ถอดออกให้หมด

          3. ประคบเย็น

หากรู้สึกเจ็บปวดบริเวณที่ถูกน้ำมันลวก สามารถใช้ผ้าเย็น ถุงประคบเย็น เจลแช่เย็น วางนาบบริเวณที่ถูกลวกเพื่อบรรเทาความเจ็บปวดได้ และยังช่วยยับยั้งความรุนแรงของการบาดเจ็บได้ด้วย

          4. ทายา

วิธีรักษาแผลน้ำมันลวก

          หลังจากล้างแผลและซับให้แห้งแล้ว สามารถทายาชนิดครีมไตรแอมซิโนโลนบาง ๆ เพื่อรักษาอาการแผลพุพอง แผลไหม้

          5. ปิดแผล

          นำผ้าพันแผลมาปิดแผลเพื่อป้องกันการติดเชื้อ และพยายามอย่าให้แผลถูกน้ำ

ว่านหางจระเข้ก็ช่วยได้

วิธีรักษาแผลน้ำมันลวก

          ว่านหางจระเข้เป็นสมุนไพรไทยที่มีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการแสบร้อนผิว และรักษาแผลน้ำมันลวก น้ำร้อนลวก แผลพุพองจากไฟไหม้ สามารถนำมาปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้ ดังนี้

          1. ล้างแผลน้ำมันลวกกับน้ำจนสะอาด
          2. นำวุ้นสดจากใบที่อยู่ส่วนล้างของต้นว่านหางจระเข้ไปล้าง ปอกเปลือกสีเขียวออก ล้างยางสีเหลืองออกให้สะอาดด้วยน้ำต้มสุก หรือน้ำด่างทับทิม เพื่อป้องกันการระคายเคือง
          3. ขูดวุ้นใส ๆ หรือฝานแผ่นบาง ๆ ออกมา ลองทดสอบด้วยการทาบนท้องแขนด้านในดูก่อนว่ามีอาการแพ้หรือไม่ หากทาดูแล้วไม่คัน ผิวไม่แดง ก็สามารถใช้ได้
          4. เมื่อทดสอบแล้วไม่แพ้ ให้นำวุ้นมาพอกแผลที่ถูกน้ำมันลวก
          5. ใช้ผ้าพันแผลพันทับให้ชุ่มอยู่ตลอดเวลาในชั่วโมงแรก
          6. ทาว่านหางจระเข้วันละ 3-4 ครั้งจนกว่าแผลจะหาย

          ทั้งนี้ วุ้นสดของว่านหางจระเข้าไม่ควรเก็บไว้เกิน 24 ชั่วโมง และหากหาว่านหางจระเข้สด ๆ ไม่ได้ อาจใช้เจลว่านหางจระเข้แทนก็ได้เช่นกัน

ข้อควรระวัง

วิธีรักษาแผลน้ำมันลวก

          - หากบริเวณที่ถูกน้ำมันลวกมีถุงน้ำใสขนาดเล็กเกิดขึ้น ไม่ควรเจาะ เพราะถุงน้ำจะค่อย ๆ แห้งหายไปเอง แต่ถ้าเป็นถุงน้ำขนาดใหญ่และมีบริเวณกว้าง สามารถเจาะถุงน้ำได้โดยใช้เข็มที่สะอาดต้มในน้ำร้อนเพื่อฆ่าเชื้อโรคก่อน

          - ไม่ควรตัดผิวหนังส่วนที่พองออก เพราะจะทำให้แผลเปิดและเกิดการติดเชื้อได้

          - ไม่ควรใช้ยาสีฟันทา หรือนำน้ำปลามาราด เพราะไม่ได้ช่วยถอนพิษความร้อน และไม่มีสรรพคุณต่อแผล

          - หากแผลที่ถูกน้ำมันลวกเป็นวงกว้าง และมีตุ่มพอง ผิวหนังหลุกลอก ควรไปโรงพยาบาลทันที

          อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญของการรักษาน้ำมันลวกแขนก็อยู่ที่ความเร็วในการบรรเทาอาการตั้งแต่ที่โดนลวกระยะแรก ๆ นะคะ ฉะนั้นหากโดนน้ำมันลวกก็ขอให้มีสติ และรีบล้างแผลกับน้ำเย็นเพื่อบรรเทาความแสบร้อนก่อนเป็นอันดับแรกเลย


* หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 5 พฤศจิกายน 2563


ขอบคุณข้อมูลจาก
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล, หมอชาวบ้าน, สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิธีรักษาน้ำมันลวกแขน ให้หายแสบร้อนและไม่ทิ้งรอยแผลเป็น อัปเดตล่าสุด 2 กรกฎาคม 2564 เวลา 14:47:11 549,606 อ่าน
TOP
x close