ภาวะเกลียดเสียง Misophonia แค่ได้ยินเสียงเคี้ยวอาหารก็แทบบ้า !

          ถ้ารู้สึกรำคาญเสียงเคี้ยวอาหาร เสียงกลืนน้ำลาย หรือเสียงจิ๊จ๊ะรอบ ๆ กายจนพูดได้เต็มปากว่าเกลียด ได้ยินแล้วเหมือนจะบ้า นี่คุณอาจป่วยภาวะเกลียดเสียง หรือ Misophonia อยู่ก็ได้

โรคเกลียดเสียง

          อ่านไม่ผิดหรอกค่ะว่าอาการหงุดหงิดเสียงเคี้ยวอาหาร เสียงกดคีย์บอร์ด หรือเสียงเคาะโต๊ะ อาจเป็นอาการของภาวะเกลียดเสียงหรือ มีโซโฟเนีย (Misophonia) ได้ เพราะในโลกนี้ก็มีคนป่วยด้วยภาวะเกลียดเสียงอยู่มากพอสมควร และหากคุณก็รู้สึกมีอาการผิดปกติทุกครั้งที่ได้ยินเสียงน่ารำคาญเหล่านี้ ก็เป็นไปได้ว่าคุณอาจเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ปวยภาวะนี้อยู่นะ เอาเป็นว่ามาทำความรู้จักภาวะเกลียดเสียง (Misophonia) และเช็กอาการไปในตัวเลยดีกว่า

ภาวะเกลียดเสียง (Misophonia) คืออะไร

          ภาวะเกลียดเสียง หรือ มีโซโฟเนีย (Misophonia) คำว่า Miso แปลว่า เกลียด ส่วน Phon แปลว่า เสียง จึงกลายเป็นภาวะเกลียดเสียง เรียกอีกอย่างได้ว่า ภาวะที่ไวต่อเสียงบางอย่าง นับเป็นอาการทางจิตเวชอย่างหนึ่ง ซึ่งมีเสียงเป็นตัวเร้า และโดยส่วนมากเป็นเสียงที่ออกมาจากปาก เช่น เสียงเคี้ยวอาหาร เสียงหาว เสียงผิวปาก ทำให้ผู้ป่วยตอบสนองต่อเสียงเหล่านั้นด้วยอาการที่ไม่ปกติ บางคนอาจรู้สึกรำคาญหนักมาก บางคนรู้สึกโกรธ เกลียด หงุดหงิดทุกครั้งที่ได้ยินเสียงอันก่อกวนจิตใจ ส่งผลให้เกิดความเครียดอย่างรุนแรงทั้งทางร่างกายและอารมณ์

ภาวะเกลียดเสียง (Misophonia) เกิดจากอะไร

          ภาวะมีโซโฟเนียถูกสันนิษฐานว่าเกิดจากความผิดปกติของการทำงานของสมอง โดย Dr.Sukhbinder Kumar นักวิทยาศาสตร์แห่ง U.K.\'s Newcastle University ระบุว่า เป็นเพราะสมองของบางคนผลิตอารมณ์ตอบสนองที่มากเกินไป ยืนยันจากการวิจัยที่พบว่าสมองของผู้ป่วยโรคเกลียดเสียงมีการสั่งการสมองส่วนที่แสดงความรู้สึกนึกคิดอย่างไวเกินเหตุ ก่อให้ผู้ป่วยรู้สึกรุนแรงเมื่อได้ยินเสียงเร้าบางเสียง

          ทั้งนี้ นักวิจัยพบว่า การตอบสนองของผู้ป่วยภาวะเกลียดเสียงส่วนมาก มักจะมาในรูปอารมณ์โกรธ ซึ่งมักจะเป็นความรู้สึกโกรธที่ยากจะควบคุมซะด้วย


ภาวะเกลียดเสียง (Misophonia) เกิดกับใครได้บ้าง

          จากสถิติแล้ว ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการในช่วงอายุระหว่าง 9-13 ปี และมักจะเกิดกับเด็กผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่ โดยส่วนมากอาการจะค่อย ๆ เป็นทีละน้อย เกิดขึ้นไม่เร็ว จนอาจจับสังเกตอาการไม่ค่อยได้ในระยะแรก ๆ ทว่าต่อมาอาการจะเกิดถี่ขึ้น เป็นบ่อยขึ้นกับสถานการณ์ประจำวัน เมื่อนั้นถึงจะรู้ว่าป่วย

โรคเกลียดเสียง

ภาวะเกลียดเสียง (Misophonia) มีเสียงอะไรที่กระตุ้นได้บ้าง

          แม้จะเกิดอาการกับเสียงที่ออกมาจากปากซะส่วนใหญ่ แต่จริง ๆ แล้วเสียงที่กระตุ้นให้เกิดอาการก็มีอยู่หลายเสียงพอสมควร ซึ่งก็มีคร่าว ๆ ดังนี้ค่ะ

          - เสียงที่มาจากปาก ทั้งเสียงรับประทานอาหาร เสียงบดเคี้ยว เสียงกัดอาหารกรอบ ๆ เสียงเรอ เสียงจูบ เสียงกัดเล็บ เสียงกระดกลิ้น ผิวปาก เสียงกัดฟัน เสียงฟันกระทบช้อน เสียงดูดไอศกรีม เสียงดูดน้ำ เสียงกลืนอาหาร เสียงกลืนน้ำลาย เป็นต้น

          - เสียงลมหายใจ เสียงฟืดฟาดจากจมูก

          - เสียงจากลำคอ เช่น เสียงคนกระซิบกันเบา ๆ เสียงแหบ ๆ ใหญ่ ๆ เสียงคนร้องเพลงไม่เพราะ

          - เสียงจากสิ่งแวดล้อม เช่น เสียงฝน เสียงน้ำไหล เสียงพิมพ์คีย์บอร์ด เสียงจากแป้นสมาร์ตโฟน เสียงคลิกเมาส์ เสียงเปิดหนังสือ เสียงพลิกหนังสือพิมพ์ หรือแม้แต่เสียงโทรศัพท์

          - เสียงเครื่องใช้ อุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น เสียงเอี๊ยดจากจาน เสียงช้อน-ส้อมกระทบกัน เป็นต้น

          - เสียงพลาสติก เช่น เสียงจากการบีบขวดน้ำพลาสติก เสียงกรอบแกรบจากถุงพลาสติก เป็นต้น

          - เสียงจากการเปิดภาชนะอะไรก็ตาม

          - เสียงรถ เช่น เสียงสัญญาณกันขโมย เสียงปิดประตูรถ เสียงแตร เป็นต้น

โรคเกลียดเสียง

          - เสียงดังกระหึ่มจากแอร์คอนดิชั่นเนอร์ เสียงเครื่องตัดหญ้า เสียงจากเครื่องดูดฝุ่น เป็นต้น

          - เสียงของบางคน หรือเสียงทุ้ม ๆ ของเบส เสียงทุ่มบาสเกตบอล หรือเสียงกระแทกประตู-หน้าต่าง

          - เสียงสัตว์ เช่น เสียงสุนัขเห่า เสียงนก เสียงตุ๊กแก เสียงกบร้อง เสียงแมวฝนเล็บ เป็นต้น

          - เสียงเด็กร้องไห้ เสียงเด็กตะโกน แม้กระทั่งเสียงผู้ใหญ่ดัดเสียงเป็นเด็ก

          - เสียงดังจากทีวีหรือวิทยุ

          - เสียงจากการเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น เสียงเคาะเท้า เสียงเดินลากเท้า เสียงดีดนิ้ว เสียงรองเท้าแตะ เป็นต้น

โรคเกลียดเสียง

ภาวะเกลียดเสียง (Misophonia) อาการเป็นยังไง

          เมื่อได้ยินเสียงบางชนิดที่กระตุ้นให้เกิดอาการก็มักจะแสดงออกทางร่างกายหรือจิตใจ ดังนี้

          - อารมณ์เสีย หงุดหงิดอย่างมาก

          - รู้สึกไม่สบายทั้งทางกายและจิตใจ

          - รู้สึกอยากเผ่นหนี

          - รู้สึกรังเกียจ ขยะแขยง

โรคเกลียดเสียง

          ทว่าสำหรับคนที่อาการค่อนข้างหนัก อาจมีอาการเหล่านี้ร่วมด้วย

          - รู้สึกโกรธ

          - รู้สึกเกลียดเสียงเหล่านี้มาก ๆ

          - เกิดอาการแพนิก (Panic) ใจสั่น เหงื่อแตก หายใจไม่ออก

          - รู้สึกกลัวอย่างรุนแรง

          - รู้สึกเหมือนจะตาย รู้สึกตกอยู่ในสถานการณ์ลำบาก

          - อยากทำลายหรือฆ่าคนที่ทำให้เกิดเสียงเพียงเพื่อจะหยุดเสียงอันน่ารำคาญนั้นไปซะ

          - มีความคิดอยากฆ่าตัวตาย ให้พ้นจากเสียงที่ได้ยิน

          อย่างไรก็ดี อาการของภาวะเกลียดเสียงก็ขึ้นกับระดับความป่วยที่เป็น ดังนั้นหากคุณมีอาการรำคาญเสียงบางอย่างขั้นสุด ก็อย่าวางใจในความรำคาญนั้นนะคะ ทางที่ดีลองปรึกษาจิตแพทย์สักหน่อยดีกว่า

โรคเกลียดเสียง

ภาวะเกลียดเสียง (Misophonia) รักษาได้ไหม

          ภาวะเกลียดเสียงเป็นโรคจิตเวชชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถรักษาได้ด้วยวิธีต่อไปนี้

1. รักษาด้วยการบำบัดจิต

          วิธีรักษาด้วยการบำบัดทางจิต อาจใช้ได้กับผู้ป่วยที่มีอาการไม่มาก สามารถรักษาโดยการพูดคุย ปรับทัศนคติ และการฝึกฟังอย่างค่อยเป็นค่อยไปได้ ซึ่งการรักษาจะมุ่งฝึกฝนให้ผู้ป่วยรับมือกับเสียงที่ได้ยิน และฝึกควบคุมอารมณ์ของตัวเองเมื่อได้ยินเสียงเร้า

2. รักษาด้วยยา


          ยาที่ใช้รักษาอาการนี้จะเป็นกลุ่มยาต้านเศร้า ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น ลดความเครียด ความวิตกกังวลเมื่อได้ยินเสียงที่ไม่พึงประสงค์

          อย่างไรก็ตาม การรักษาผู้ป่วยก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์หรือนักจิตวิทยา ซึ่งอาจจะเลือกการรักษาวิธีใดวิธีหนึ่ง หรือใช้ทั้ง 2 วิธีควบคู่กันไปก็ได้

          สำหรับคนที่คิดว่าตัวเองมีอาการที่เข้าข่ายภาวะเกลียดเสียงอยู่ แต่คิดว่าอาการยังไม่หนักมาก จริง ๆ แล้วการพักผ่อนให้เพียงพอ และการออกกำลังกาย ก็สามารถช่วยลดความเครียด ความวิตกกังวล และช่วยให้คุณควบคุมอาการของโรคได้เช่นกัน หรือบางคนอาจใช้วิธีเลี่ยงอื่น ๆ เช่น หาเพลงมาฟัง หรือหลบไปสงบสติอารมณ์ในที่เงียบ สงบ เมื่อได้ยินเสียงที่รู้สึกรำคาญก็ได้เช่นกันนะคะ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
webmd
huffingtonpost
misophonia
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ภาวะเกลียดเสียง Misophonia แค่ได้ยินเสียงเคี้ยวอาหารก็แทบบ้า ! อัปเดตล่าสุด 17 เมษายน 2563 เวลา 14:12:05 59,934 อ่าน
TOP
x close