เนื้องอกในสมอง มะเร็งสมอง สังเกตได้จากอาการปวดหัวเรื้อรัง

          ปวดหัวเรื้อรังและมักจะเป็นมากในตอนเช้า นี่อาจเป็นสัญญาณว่าเรามีเนื้องอกสมอง หรือมะเร็งสมองอยู่ก็เป็นได้ !

          เนื้องอกในสมองอาจดูเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นยาก ทว่าก็มีเคสให้เห็นแล้วว่าเด็กอายุไม่มากก็ป่วยเป็นโรคมะเร็งสมองได้ ดังนั้น โรคมะเร็งสมองหรือเนื้องอกในสมองไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลยซะทีเดียว โดยเฉพาะคนที่มักจะมีอาการปวดหัวมาก ๆ ร่วมกับอาการคลื่นไส้ อาเจียน ยิ่งต้องสงสัยอาการของตัวเองเอาไว้ก่อน นอกจากนี้ก็ลองมาศึกษาโรคเนื้องอกสมองหรือโรคมะเร็งสมองไว้ด้วย

เนื้องอกในสมอง

เนื้องอกในสมอง มะเร็งสมอง คืออะไร

          เนื้องอกในสมอง ภาษาอังกฤษคือ Brain Tumor หมายถึงเนื้องอกที่เกิดขึ้นภายในกะโหลกศีรษะ โดยทางการแพทย์จะแบ่งตำแหน่งของเนื้องอกในสมองออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่ เนื้องอกที่เกิดขึ้นจากเนื้อเยื่อในกะโหลกศีรษะ และเนื้องอกจากเซลล์มะเร็งที่แพร่กระจายมาจากนอกกะโหลกศีรษะ เช่น แพร่มาจากมะเร็งเต้านม มะเร็งปอด

เนื้องอกในสมอง เกิดจากอะไร

          สาเหตุของเนื้องอกในสมองยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัด แต่ทางการแพทย์สันนิษฐานว่าอาจมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้

1. ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม

          เช่น เคยได้รับการฉายรังสี (รังสีรักษา) ในวัยเด็ก การได้รับสารพิษจากโรงงานผลิตเคมีภัณฑ์ เช่น ยาง หรือโรงกลั่นน้ำมัน

2. ปัจจัยทางพันธุกรรม

          โรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมบางโรค เช่น Von Hippel-Lindau Syndrome ก็เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งสมองได้เช่นกัน ทว่าปัจจัยทางพันธุกรรมมักพบได้น้อยมาก หรืออาจกล่าวได้ว่า ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวป่วยด้วยโรคมะเร็งสมองก็มีโอกาสป่วยด้วยโรคนี้สูงขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าเมื่อมีคนในครอบครัวป่วยแล้วญาติพี่น้องจะต้องป่วยเป็นมะเร็งสมองทุกคน

3. ปัจจัยอื่น ๆ

          เช่น อายุที่มากขึ้น ร่วมกับภาวะเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งบริเวณอวัยวะอื่น ๆ และมะเร็งนั้นแพร่กระจายมายังสมอง หรือภาวะภูมิต้านทานบกพร่อง การติดเชื้อ HIV หรือการได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ก็เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดเนื้องอกในสมองด้วยนะคะ

เนื้องอกในสมอง มะเร็งสมอง ใครเสี่ยงบ้าง

          เนื้องอกในสมองสามารถพบได้ตั้งแต่วัยเด็กจนกระทั่งวัยผู้สูงอายุ ซึ่งอาจพบเนื้องอกที่แตกต่างกันออกไปตามแต่ละชนิด ทว่ามักจะพบเนื้องอกและมะเร็งสมองได้บ่อยในวัยผู้ใหญ่ โดยเกิดจากการแพร่กระจายเซลล์มะเร็งจากอวัยวะอื่น ๆ ซะมากกว่าเกิดจากเนื้องอกในเนื้อเยื่อกะโหลกเอง

เนื้องอกในสมอง

คุยโทรศัพท์มือถือ เสี่ยงมะเร็งสมองเพิ่มขึ้นไหม ?

          เป็นที่ถกเถียงกันพอสมควรในแวดวงนักวิชาการว่า การได้รับรังสีจากโทรศัพท์มือถือจะทำให้เกิดเนื้องอกในสมองหรือมะเร็งสมองได้หรือไม่ โดยมีนักวิจัยบางส่วนเชื่อว่า การใช้โทรศัพท์มือถือบ่อย ๆ และใช้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปีขึ้นไป อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดเนื้องอกหรือมะเร็งในอวัยวะด้านที่ติดกับการใช้โทรศัพท์ เพราะศีรษะด้านที่ใช้โทรศัพท์จะรับพลังงานจากสัญญาณคลื่นค่อนข้างแรงและเมื่อสะสมมาก ๆ เป็นระยะเวลานาน อาจทำให้เส้นประสาทหูไม่ดี หรือเกิดปัญหาที่สายตาข้างนั้น แม้กระทั่งการเกิดเนื้องอก

          แต่ทว่าจากการศึกษากับกลุ่มตัวอย่างในหลาย ๆ งานวิจัย จนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังไม่สามารถสรุปได้เสียทีเดียวว่า การใช้โทรศัพท์มือถือจะเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งสมองได้จริง ๆ เพราะมีข้อมูลที่ขัดแย้งกันอยู่ แต่ถึงกระนั้น เมื่อปี 2011 องค์การอนามัยโลก ก็ได้เคยประกาศให้คลื่นในย่านความถี่วิทยุซึ่งเป็นคลื่นเดียวกับสัญญาณโทรศัพท์มือถือและเสาสัญญาณ รวมถึงอุปกรณ์ไร้สายต่าง ๆ เช่น Wi-Fi เป็นสารที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งได้ในระดับ 2B คืออาจทำให้เกิดมะเร็งได้ แต่อยู่ในระดับความเป็นไปได้ที่ต่ำมาก

          โดยสรุปแล้วก็คือ แม้ว่าข้อมูลเรื่องนี้จะยังไม่แน่ชัด แต่เพื่อป้องกันไว้ก่อน เราก็ไม่ควรใช้โทรศัพท์มือถือแบบยกขึ้นมาแนบหูนานเกินไป แต่หากจำเป็นต้องคุยโทรศัพท์นาน ๆ อาจใช้วิธีเปิดลำโพง หรือใช้หูฟังแทน และควรปิดเครื่องในขณะที่นอนหลับด้วยค่ะ เพื่อเป็นการลดปริมาณรังสีที่จะได้รับ

เนื้องอกในสมอง

เนื้องอกในสมอง มะเร็งสมอง อาการเป็นอย่างไร

          อาการเนื้องอกในสมองที่พอจะสังเกตได้ด้วยตัวเอง มีดังนี้

- อาการปวดหัวเรื้อรัง

          โดยอาการปวดหัวของผู้ป่วยเนื้องอกในสมองจะมีลักษณะเฉพาะคือ มีอาการปวดหัวหนักมากตอนตื่นนอน พอสาย ๆ อาการปวดจะทุเลาลง หรือมักจะมีอาการปวดหัวมากตอนล้มตัวลงนอน ตอนไอ จาม หรือเบ่งอุจจาระ ที่สำคัญอาการปวดหัวจะรุนแรงมากขึ้นทุกวัน บางคนปวดหัวจนต้องสะดุ้งตื่นตอนดึก หรือปวดหัวมากตลอดเวลา กินยาก็ไม่ช่วย และเป็นมานานหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนติดต่อกัน

- อาเจียน

          ระยะต่อมาผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัวร่วมกับอาการอาเจียนพุ่ง คืออาเจียนโดยไม่มีอาการคลื่นไส้นำมาก่อน

- ตามัว ลานสายตาแคบ

          ในระยะที่เนื้องอกสมองไปกดทับเส้นประสาทสมองเฉพาะจุด อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการมองเห็นภาพซ้อน ตาพร่ามัว ทัศนียภาพแคบลง มองด้านข้างไม่เห็น ทำให้เดินเซ เดินชนของไปทั่ว

- ชักกระตุก

          อาจมีอาการชักกระตุก หรือเกร็งเฉพาะที่ ซึ่งอาจเป็นมากถึงขั้นหมดสติได้

- กล้ามเนื้ออ่อนแรง

          ผู้ป่วยจะมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงตั้งแต่ใบหน้า แขน ขา หรือมีอาการชาเฉพาะที่ ร่วมกับอาการสับสน ความจำผิดปกติ

- หมดสติเฉียบพลัน

          โดยอาจจะเริ่มจากอาการแขน ขา อ่อนแรง พูดไม่ชัด ลิ้นแข็ง หน้าชา ปัสสาวะ อุจจาระเองไม่ได้ และหมดสติในที่สุด

เนื้องอกในสมอง

          อย่างไรก็ตาม ในเคสที่เป็นมะเร็งสมองจากการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งบริเวณอวัยวะอื่น ๆ ผู้ป่วยอาจตรวจพบเซลล์มะเร็งในสมองก่อน เนื่องจากมีอาการแสดงค่อนข้างชัดกว่า โดยที่ไม่ได้คำนึงถึงจุดที่เกิดเซลล์มะเร็งเริ่มต้น ทำให้การรักษามะเร็งในร่างกายไม่สำเร็จผลเท่าที่ควร ดังนั้น หากพบความผิดปกติในร่างกายตัวเอง ก็อย่าชะล่าใจ รีบไปตรวจให้พบสาเหตุเลยดีกว่า

มะเร็งสมอง มีกี่ระยะ

          ในการรักษาและดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งสมอง แพทย์จะจำแนกผู้ป่วยออกเป็น 3 กลุ่มอาการ ไม่ได้แบ่งตามระยะเหมือนมะเร็งชนิดอื่น ซึ่งได้แก่

          1. กลุ่มเนื้องอก/มะเร็งสมองที่สามารถรักษาด้วยการผ่าตัดได้

          2. กลุ่มเนื้องอก/มะเร็งสมอง ที่ไม่สามารถรักษาด้วยการผ่าตัดได้

          3. กลุ่มเนื้องอก/มะเร็งสมอง ที่รักษาไปแล้วแต่ยังมีโรคย้อนกลับมาใหม่

เนื้องอกในสมอง

การรักษาโรคมะเร็งสมอง

          ในปัจจุบันมีแนวทางการรักษาโรคเนื้องอกในสมองอยู่ 3 วิธีหลัก ๆ ด้วยกัน ได้แก่

1. การผ่าตัด

          หากพบว่าเนื้องอกอยู่ในจุดที่ไม่อันตรายต่อความพิการและชีวิตของผู้ป่วย แพทย์มักจะเลือกใช้วิธีผ่าตัดเนื้องอกในสมองออกไปเลย หรือหากไม่สามารถผ่าตัดเนื้องอกได้ทั้งหมด แพทย์ก็จะทำการตัดเนื้องอกออกบางส่วน (ที่ปลอดภัย) เพื่อลดขนาดของเนื้องอก พร้อมกับลดการใช้ยาสเตียรอยด์ในผู้ป่วยที่มีอาการสมองบวม

2. การใช้รังสีรักษา

          วิธีนี้จะถูกใช้เมื่อเนื้องอกเกิดขึ้นในตำแหน่งที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ หรือผ่าตัดออกได้ไม่หมด ทว่าไม่แนะนำให้ใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอายุน้อยกว่า 3 ขวบ เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงในระยะยาวได้

3. การให้ยาเคมีบำบัด

          การให้ยาเคมีบำบัดกับผู้ป่วยเป็นเพียงวิธีรักษาที่ใช้เสริมวิธีรักษาหลักเท่านั้น เช่น ผู้ป่วยบางรายอาจต้องใช้การรักษาด้วยการฉายรังสีร่วมกับเคมีบำบัด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาให้ดีมากขึ้น หรือในกรณีที่ผ่าตัดแล้วพบว่าเป็นเนื้อร้าย ก็อาจต้องอาศัยเคมีบำบัดช่วยรักษาเนื้องอกในสมองด้วยอีกทาง ร่วมกับการฉายรังสีในบางกรณี

          อย่างไรก็ตาม การรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งสมอง เนื้องอกสมอง ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษา ซึ่งจะต้องพิจารณาจากหลายปัจจัย เช่น อาการของผู้ป่วย ตำแหน่งของเนื้องอก และขนาดของเนื้องอก

เนื้องอกในสมอง

เนื้องอกสมอง มะเร็งสมอง ป้องกันได้ไหม

          ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันโรคมะเร็งสมองหรือเนื้องอกสมองที่ชัดเจน แต่เราก็สามารถดูแลตัวเองให้มีสุขภาพแข็งแรง ไม่เสี่ยงต่อโรคมะเร็งชนิดต่าง ๆ ที่อาจลุกลามมาเป็นมะเร็งสมองได้ หรือหลีกเลี่ยงการได้รับสารพิษจากแหล่งผลิตเคมีภัณฑ์ โรงกลั่นน้ำมัน เป็นต้น

          อย่างไรก็ตาม หากมีอาการปวดหัวรุนแรงมาก ร่วมกับอาการอาเจียนอย่างไม่ทราบสาเหตุ ควรรีบไปตรวจรักษากับแพทย์โดยด่วน และที่สำคัญ เราควรดูแลสุขภาพตัวเองให้ห่างไกลจากโรคภัย โดยเฉพาะโรคมะเร็งด้วยนะคะ


ขอบคุณข้อมูลจาก
หมอชาวบ้าน
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เนื้องอกในสมอง มะเร็งสมอง สังเกตได้จากอาการปวดหัวเรื้อรัง อัปเดตล่าสุด 18 ตุลาคม 2564 เวลา 09:02:45 79,649 อ่าน
TOP
x close