ไวรัสซิกาโผล่พิจิตร ป่วยแล้ว 11 ราย เฝ้าระวังหญิงท้องอีก 18 ราย


ไวรัสซิกา

          พิจิตรพบผู้ป่วยไวรัสซิกา 11 ราย สั่งเฝ้าระวังหญิงตั้งครรภ์อีกกว่าสิบราย หวั่นติดเชื้อ เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ปูพรมกำจัดยุง ด้านสาธารณสุข แนะมาตรการ "3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค"

          เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร เปิดเผยว่า ขณะนี้พบผู้ติดเชื้อไวรัสซิกา ในตำบลบึงนาราง อำเภอบึงนาราง จังหวัดพิจิตร โดยได้รับการยืนยันแล้วทั้งหมด 11 ราย ซึ่งพบการระบาดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามยังมีผู้ต้องสงสัยติดเชื้ออีกจำนวนหนึ่ง แต่ขณะนี้อยู่ในความดูแลของแพทย์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และ อสม.

          ทั้งนี้ ทางจังหวัดได้ให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังออกปฏิบัติการปูพรมฉีดพ่นสารเคมีกำจัดยุง และสำรวจลูกน้ำยุงลายในพื้นที่ 3 หมู่บ้านแล้ว
          ขณะที่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 3 ซึ่งดูแลพื้นที่จังหวัดพิจิตร กล่าวว่า ผู้ป่วย 11 รายที่ติดเชื้อไวรัสซิกามีอาการดี จึงไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ส่วนกลุ่มที่ยังไม่ได้ติดเชื้อ แต่ต้องเฝ้าระวังเนื่องจากอยู่ในพื้นที่ใกล้กับผู้ติดเชื้อมีจำนวนไม่มาก ส่วนหนึ่งเป็นหญิงตั้งครรภ์จำนวน 18 ราย

          โดยขณะนี้ทางจังหวัดพิจิตรได้เร่งรณรงค์ให้ประชาชนทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายซึ่งเป็นพาหะของโรคแล้ว เชื่อว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ และไม่ใช่โรคระบาดที่น่ากลัวแต่อย่างใด เพราะผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสซิกาส่วนใหญ่จะมีอาการไม่รุนแรงและหายได้เอง อาการที่สังเกตได้คือ มีไข้ ออกผื่น ตาแดง ปวดข้อ ซึ่งจะทุเลาลงได้เองภายในเวลา 2-7 วัน แต่หากหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้ออาจทำให้ทารกในครรภ์มีภาวะศีรษะเล็กได้

ยุงลาย

          นพ.โอภาส ยังกล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทุกพื้นที่ ดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสซิกาอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ซึ่งการดำเนินงานที่ผ่านมาถือว่าสามารถควบคุมโรคได้ดีระดับหนึ่ง อย่างไรก็ดี ในช่วงฤดูฝนซึ่งเป็นฤดูที่มียุงลายเพิ่มขึ้นจำนวนมาก จึงขอความร่วมมือให้ทุกฝ่ายได้เร่งดำเนินการควบคุมลูกน้ำยุงลายให้ลดลง ตามมาตรการ "3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค" ได้แก่

          1. เก็บบ้านให้สะอาด โล่ง ไม่ให้มีมุมอับทึบ เป็นที่เกาะพักของยุง
          2. เก็บขยะ เศษภาชนะรอบบ้าน โดยทำต่อเนื่องสัปดาห์ละครั้ง ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
          3. เก็บน้ำ สำรวจภาชนะใส่น้ำ ต้องปิดฝาให้มิดชิด ป้องกันยุงลายไปวางไข่ เพื่อป้องกัน 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา รวมทั้งการกำจัดและควบคุมยุงตัวแก่ เช่น การพ่นสารเคมีกำจัดยุงลาย และการป้องกันไม่ให้ยุงลายกัด เช่น ทายากันยุง นอนในมุ้งหรือห้องที่มีมุ้งลวด กำจัดยุงโดยใช้ไม้ช็อตไฟฟ้า จุดสมุนไพรหรือยาจุดไล่ยุง หรือใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นต้น

          ทั้งนี้ขอให้ประชาชนเริ่มต้นดำเนินการที่บ้านของตนเองก่อน จากนั้นขยายไปสู่ชุมชน และสถานที่ส่วนรวม เช่น โรงเรียน วัด และสถานที่ทำงาน เป็นต้น

          ด้าน นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ตั้งแต่ต้นปี 2560 จนถึงปัจจุบัน พบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสซิกาแล้ว 81 ราย ใน 16 จังหวัด ซึ่งเกือบทั้งหมดหายเป็นปกติแล้ว และมีจังหวัดที่ยังอยู่ในระยะควบคุมโรค 28 วัน ได้แก่ เพชรบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นนทบุรี ระยอง หนองคาย ชัยภูมิ พิจิตร นครสวรรค์ และอุบลราชธานี

          สำหรับในจังหวัดพิจิตรที่เป็นข่าวนั้น ในสัปดาห์ที่ผ่านมาพบผู้ป่วยยืนยันโรคติดเชื้อไวรัสซิกา 11 ราย และได้ดำเนินการเฝ้าระวังโรคในประชาชน โดยเฉพาะในหญิงตั้งครรภ์อย่างใกล้ชิด จนถึงวันนี้ยังไม่พบหญิงตั้งครรภ์ที่มีอาการป่วยแต่อย่างใด


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
, กรมควบคุมโรค, สำนักข่าว INN 
 


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไวรัสซิกาโผล่พิจิตร ป่วยแล้ว 11 ราย เฝ้าระวังหญิงท้องอีก 18 ราย อัปเดตล่าสุด 7 กรกฎาคม 2560 เวลา 17:12:12 3,955 อ่าน
TOP
x close