เผยเด็กไทยป่วยโรคออทิสติก 3 แสนคน เร่งวิจัยหายีนต้นเหตุ

โรคออทิสติก

          กรมสุขภาพจิต เผย เด็กไทยป่วยโรคออทิสติกราว 3 แสนคน พบเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง เร่งวิจัยหายีนต้นเหตุ เตือนพ่อแม่หากพบอาการเข้าข่าย ต้องพาไปพบหมอ รักษาเร็ว ได้ผลเร็ว

          เรียกได้ว่าได้รับเสียงชื่นชมจากผู้ชม รวมถึงบรรดาจิตแพทย์เด็กเป็นอย่างมาก สำหรับซีรีส์ "Side by Side พี่น้องลูกขนไก่" จากค่าย GDH ซึ่งเราก็ได้เห็นการพลิกบทบาทใหม่ของ ต่อ ธนภพ ลีรัตนขจร ที่สวมบทเป็น "พี่ยิม" เด็กออทิสติกที่มีพัฒนาการช้า ทั้งร่างกายและสมองราวกับเด็ก 6 ขวบ และมีความฝันว่า วันหนึ่งจะต้องเป็นนักกีฬาแบดมินตันประเภทคู่ที่เก่งที่สุดให้ได้ โดยละครได้นำเสนอเรื่องราวของเด็กพิเศษในมุมที่เป็นจริง และหลายคนยังเห็นตรงกันว่าละครเรื่องนี้ อาจสามารถปรับเปลี่ยนทัศนคติในแง่ลบของคนบางกลุ่ม ที่ยังมองเด็กพิเศษเป็นภาระและไม่สามารถรักษาได้
โรคออทิสติก

          เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2560 นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงโรคออทิสติก  ว่า เป็นโรคทางจิตเวชในเด็ก มักพบในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง พบได้ทั้งคนจนและคนรวย ในภาพรวมทั้งประเทศไทยพบอัตราป่วยโรคออทิสติกได้ 6 คน ในประชากรทุก ๆ 1,000 คน คาดว่าทั่วประเทศจะมีเด็กป่วยเป็นโรคนี้ประมาณ 300,000 คน ซึ่งแต่ละคนมีระดับความรุนแรงของโรคที่ไม่เท่ากัน โดยจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามพัฒนาการของเด็ก และจะเห็นเด่นชัดขึ้นเมื่อเด็กออทิสติกมีอายุมากขึ้น

          ทั้งนี้ เด็กออทิสติกมีความผิดปกติของพัฒนาการทางสมองที่ล่าช้า 3 ด้าน คือ ด้านสังคม ภาษา และพฤติกรรม โดยผู้ปกครองสามารถสังเกตอาการออทิสติกได้ก่อนที่เด็กจะมีอายุ 3 ขวบ สัญญาณเตือน ได้แก่ ไม่สบตา ไม่พาที ไม่ชี้นิ้ว ไม่ชอบเปลี่ยนแปลง กล่าวคือ ด้านสังคม เด็กจะไม่ยอมสบตา ไม่ชอบมองหน้าคนอื่น ไม่สนใจมองตามเมื่อเราเรียกชื่อ ไม่สนใจผู้อื่น ด้านภาษา เช่น เริ่มพูดได้ช้ากว่าเด็กปกติ หรือพูดได้แต่ไม่เป็นภาษา ฟังไม่รู้เรื่อง ชอบพูดคำเดิม ๆ ซ้ำ ๆ ทั้งวัน  ไม่ชี้นิ้วสั่ง หรือบอกเมื่อต้องการของที่อยากได้ และด้านพฤติกรรม เช่น ชอบอยู่ในโลกส่วนตัว มีพฤติกรรมซ้ำ ๆ ที่ไม่เหมาะสม ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ชอบมองวัตถุที่หมุนตลอดเวลา เช่น พัดลมหรือของเล่นที่หมุน ๆ เป็นต้น

โรคออทิสติก

          อย่างไรก็ตาม โรคนี้สามารถรักษาได้ พามาตรวจเร็ว ผลการรักษาก็จะดีขึ้นอย่างรวดเร็ว หากตรวจพบตั้งแต่ช่วง 2 ขวบปีแรก จะทำให้ผลการรักษาดีมาก แม้ไม่หายขาด แต่เด็กจะมีพัฒนาการด้านต่าง ๆ ดีขึ้น ช่วยเหลือตนเองได้ เข้าโรงเรียนได้ตามวัย รวมถึงการเปิดใจยอมรับของครอบครัวที่ไม่มองเด็กออทิสติกว่าเป็นส่วนเกินของครอบครัวและสังคม พร้อมจะทุ่มเท และสู้ไปด้วยกัน

          ขณะที่กรมสุขภาพจิตก็ได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยดำเนินการ 2 ประเด็น คือ เพิ่มการเข้าถึงบริการรักษาของเด็กที่ป่วยเป็นโรคนี้ให้เร็วที่สุด เพราะหากเด็กได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้องแล้ว ก็จะเติบโตสามารถทำงานมีอาชีพได้ ซึ่งพบว่าประเทศไทยเด็กที่ป่วยโรคนี้ ยังเข้าถึงการบริการน้อยมาก ประเด็นที่ 2 คือ การศึกษาวิจัยเพื่อแก้ไขและป้องกันที่ต้นเหตุ โดยโรคนี้ยังไม่รู้สาเหตุที่ชัดเจน แต่มีการพบว่าพันธุกรรมมีส่วนทำให้เกิดโรคนี้ได้ จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาเกี่ยวกับสารพันธุกรรม และยีนต้องสงสัยที่คาดว่ามีความเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคกลุ่มอาการออทิสติก หากรู้ความผิดปกติก็จะสามารถหาวิธีรักษา และช่วยให้การดูแลผู้ป่วยมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

โรคออทิสติก

ภาพจาก เฟซบุ๊ก Project S The Series

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เผยเด็กไทยป่วยโรคออทิสติก 3 แสนคน เร่งวิจัยหายีนต้นเหตุ อัปเดตล่าสุด 24 กรกฎาคม 2560 เวลา 16:20:10 11,826 อ่าน
TOP
x close