ปวดกล้ามเนื้อ แต่กินยาคลายกล้ามเนื้อแล้วง่วง ควรทำอย่างไร ?


ปวดกล้ามเนื้อ

          อีกหนึ่งสาเหตุของอุบัติเหตุขณะขับขี่รถ ที่หลายคนคิดไม่ถึงก็คือการกินยาบางชนิดก่อนขับรถที่ส่งผลให้เกิดอาการง่วงนอน หลับใน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ "ยาคลายกล้ามเนื้อ" อาการปวดเมื่อยตัวเกิดขึ้นได้กับทุกคน

ปวดกล้ามเนื้อ ทำไมต้องกินยาคลายกล้ามเนื้อ ?

          อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะมนุษย์ออฟฟิศที่ต้องนั่งอยู่ในท่าเดิมทั้งวัน ทำให้กล้ามเนื้อเกิดอาการ ตึง ยึด หรือการก้มยกของที่ต้องออกแรงกล้ามเนื้อมากเกินไป จนเกิดอาการปวดกล้ามเนื้อได้ในที่สุด โดยหลายคนมักเลือกที่จะบรรเทาอาการปวดเหล่านี้ด้วย "ยาคลายกล้ามเนื้อ" เพื่อให้อาการปวดหายไปโดยเร็ว
ยาคลายกล้ามเนื้อชนิดกินต่างจากยาใช้ภายนอกอย่างไร

          ยาคลายกล้ามเนื้อชนิดกินจะทำให้ตัวยาถูกดูดซึมโดยตรงผ่านกระแสเลือดและออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางหรือสารสื่อประสาทบางชนิด ส่งผลให้ลดอาการอักเสบและคลายกล้ามเนื้อ ทำให้ลดอาการปวดได้อย่างรวดเร็ว

          แต่ควรใช้กับอาการปวดกล้ามเนื้อที่รุนแรงโดยหากเจ็บปวดเพียงเล็กน้อยแพทย์จะไม่แนะนำให้ใช้ เนื่องจากตัวยาดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดจึงอาจมีผลข้างเคียงจากการใช้ยาดังนั้นควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง

กินยาคลายกล้ามเนื้อแล้วง่วงเพราะอะไร ?

          ส่วนมากยาคลายกล้ามเนื้อชนิดกินมักออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทของเรา โดยมีรายชื่อยาชนิดกินที่ส่งผลให้ง่วงนอนดังนี้

1. ตัวยาที่มีส่วนผสมของออร์เฟเนดรีน (Orphenadrine)

          มีฤทธิ์ต่อการทำงานของสารสื่อประสาทบางชนิดในสมอง ส่งผลให้กล้ามเนื้อมีภาวะผ่อนคลาย ทำให้ลดภาวะเจ็บปวดของกล้ามเนื้อ หากใช้ยานี้ติดต่อกันอาจมีอาการ ง่วงซึม คลื่นไส้

2. ตัวยาที่มีส่วนผสมของโทลเพอริโซน (Tolperisone HCL) 

          ออกฤทธิ์ที่ระบบประสาทส่วนกลาง ช่วยบรรเทาอาการปวดจากการหดเกร็งของกล้ามเนื้อได้ดี ส่งผลให้มีอาการง่วงซึม

3. ตัวยาที่มีส่วนผสมของไดอะซีแพม (Diazepam)

          เป็นยาคลายกล้ามเนื้อที่มีฤทธิ์อ่อน โดยจะไม่มีผลโดยตรงต่อกล้ามเนื้อแต่ออกฤทธิ์ที่ระบบประสาทส่วนกลาง ช่วยให้ผู้ป่วยเกิดความรู้สึกผ่อนคลายความตึงเครียดของกล้ามเนื้อและทำให้ง่วงนอน

4. ตัวยาที่มีส่วนผสมของบาโคลเฟน (Baclofen)

          ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการตอบสนองในการส่งสัญญาณระหว่างเซลล์ประสาท หรือไขสันหลังที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ ส่งผลให้อาการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อทุเลาลง และด้วยตัวยามีฤทธิ์ตอบระบบประสาทจึงส่งผลให้ง่วงนอน วิงเวียนและปวดศีรษะ

ควรกินยาคลายกล้ามเนื้อต่อเมื่อมีอาการอย่างไร ?  

          การกินยาคลายกล้ามเนื้อเหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการปวดกล้ามเนื้อรุนแรงเฉียบพลันโดยใช้ร่วมกับยาแก้ปวดอื่น ๆ แต่สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการปวดกล้ามเนื้อไม่มาก เช่น เล่นกีฬา ยกของผิดท่า หรือมีอาการปวดจากการอักเสบของกล้ามเนื้อ ควรใช้ยาบรรเทาอาการปวดภายนอกที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น ตัวยาไดโคลฟีแนค (Diclofenac) และหากอาการปวดมีอาการกล้ามเนื้อฉีกขาดร่วมด้วยก็ไม่ควรนวดเด็ดขาดเพราะการนวดจะยิ่งทำให้ยิ่งมีอาการอักเสบมากขึ้น แต่ควรใช้ยาบรรเทาอาการปวดอักเสบที่ออกฤทธิ์เย็นชนิดสเปรย์รักษาแทน    

          ยาคลายกล้ามเนื้อควรต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์และเภสัชกรเท่านั้น ไม่ควรซื้อยามากินเอง หรือใช้ยาบรรเทาอาการปวดด้วยยาพร่ำเพรื่อเกินไป หากจำเป็นต้องกินยาควรหลีกเลี่ยงการขับรถหรือทำงานกับเครื่องจักร เพื่อความปลอดภัยของตัวเราเอง 

เรียบเรียงโดย
ดร.ชลชัย อานามนารถ
อาจารย์ประจำวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล

ขอบคุณข้อมูลจาก
https://goo.gl/TYx4ed
https://goo.gl/ewyt3M
https://goo.gl/ufdBAa
www.facebook.com/unirenspray

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ปวดกล้ามเนื้อ แต่กินยาคลายกล้ามเนื้อแล้วง่วง ควรทำอย่างไร ? อัปเดตล่าสุด 4 สิงหาคม 2560 เวลา 13:21:32 35,926 อ่าน
TOP
x close