x close

โรคไทรอยด์-ไทรอยด์เป็นพิษ ห้ามกินอะไร เลี่ยงไว้เพื่อความปลอดภัย

          โรคไทรอยด์ โรคที่เกิดจากอาการผิดปกติของต่อมไทรอยด์ มีอาหารอะไรบ้างที่ควรเลี่ยง มีอาหารอะไรบ้างที่ควรทาน มาดูกันเลย
ไทรอยด์

          ไทรอยด์ ต่อมไร้ท่อที่มีความสำคัญอย่างมากต่อร่างกาย หากมีการทำงานผิดปกติอาจทำให้เกิดโรคไทรอยด์เป็นพิษ หรือโรคขาดไทรอยด์ได้ ซึ่งถ้าเป็นโรคเหล่านี้แล้ว ต้องเข้ารักษาด้วยการพบแพทย์ แต่นอกเหนือจากการพบแพทย์ การควบคุมหรือหลีกเลี่ยงอาหารต่าง ๆ ที่ไปทำให้โรคไทรอยด์แย่ลงก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่คนส่วนมากเลือกปฏิบัติ  วันนี้เราจึงนำอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงของผู้ป่วยโรคไทรอยด์เป็นพิษและโรคขาดไทรอยด์มาฝากกันค่ะ แต่ก่อนอื่นเรามารู้จักหน้าที่และการทำงานของต่อมไทรอยด์สักหน่อย

          ไทรอยด์ เป็นต่อมไร้ท่อขนาดใหญ่ที่สุดของร่างกาย อยู่บริเวณส่วนหน้าของลำคอ มีหน้าที่สร้างฮอร์โมน โดยใช้ไอโอดีนจากอาหารเราที่กินเข้าไป และยังทำหน้าที่หลั่งไทรอยด์ฮอร์โมนออกมาสู่กระแสเลือด เพื่อควบคุมการเผาผลาญของร่างกาย อุณหภูมิของร่างกาย ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ระดับไขมันในเลือด ควบคุมการเจริญเติบโตและพัฒนาการของสมอง รวมทั้งอารมณ์และความรู้สึก ให้เป็นไปอย่างเหมาะสมด้วย

          หากต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติสามารถส่งผลให้เป็นโรคไฮเปอร์ไทรอยด์หรือไทรอยด์เป็นพิษ และโรคไฮโปไทรอยด์หรือโรคขาดไทรอยด์ฮอร์โมนได้ ซึ่งหากป่วยขึ้นมา จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องควบคุมอาหารเพื่อไม่ให้อาการแย่ลง แต่โรคทั้งสองก็มีอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงต่างกัน ดังนี้

          * ป่วยไทรอยด์เป็นพิษ (ไฮเปอร์ไทรอยด์) ห้ามกินอะไร

          ไทรอยด์เป็นพิษหรือไฮเปอร์ไทรอยด์ เกิดจากความผิดปกติที่ทำให้เนื้อเยื่อไทรอยด์ทำงานมากเกินปกติ ทำให้มีการสร้างฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์มากขึ้น และทำให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานผิดปกติไปด้วย จะมีอาการผอมลง หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น ร้อนง่าย เหงื่ออกเยอะ อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย และนอนไม่ค่อยหลับ ซึ่งควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีส่วนไปกระตุ้นการทำงานของต่อมไทรอยด์เพิ่ม ดังนี้
 
1. อาหารที่มีไอโอดีน สังกะสี และซีลีเนียมสูง

โรคไทรอยด์

          ไอโอดีน สังกะสี ซีลีเนียมที่พบได้มากในอาหารทะเล ปลา เนื้อวัว เครื่องในสัตว์ กระเทียม เห็ด เมล็ดทานตะวัน ถั่วเหลือง และธัญพืชต่าง ๆ เป็นสารอาหารสำคัญที่ต่อมไทรอยด์จะนำไปใช้ผลิตฮอร์โมน ซึ่งผู้ป่วยไฮเปอร์ไทรอยด์ หรือไทรอยด์เป็นพิษเป็นผู้ป่วยที่มีฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายเกินความจำเป็นอยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่ควรบริโภคอาหารที่มีไอโอดีน สังกะสี และซีลีเนียมสูง เพราะจะยิ่งไปกระตุ้นให้ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนเพิ่มขึ้นอีก
            
2. นมและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม

โรคไทรอยด์

          นมและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมส่งผลกระทบต่อต่อมไทรอยด์คล้าย ๆ กับเกลือเสริมไอโอดีนเลยค่ะ เพราะนมก็สามารถกระตุ้นให้มีการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์เพิ่มขึ้นได้ เนื่องจากในนมเต็มไปด้วยไอโอดีนและซีลีเนียมที่เป็นส่วนสำคัญต่อการทำงานของต่อมไทรอยด์ หากทานเข้าไปมาก ๆ ก็จะไปกระตุ้นให้ต่อมไทรอยด์ทำงานเพิ่มขึ้น จนมีอาการแย่ลงได้
            
3. แอลกอฮอล์และคาเฟอีน
 
โรคไทรอยด์

         หลาย ๆ คนคงรู้อยู่แล้วว่าเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์อย่าง ชา กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง เหล้า และเบียร์เป็นสิ่งไม่ดีต่อร่างกาย โดยเฉพาะสำหรับผู้ป่วยไฮเปอร์ไทรอยด์ เพราะคาเฟอีนและแอลกอฮอล์สามารถทำให้การทำงานของต่อมไทรอยด์ไม่คงที่ได้ แถมแอลกอฮอล์และคาเฟอีนถือเป็นเครื่องดื่มที่เป็นสิ่งเร้า ซึ่งผู้ป่วยไฮเปอร์ไทรอยด์ไม่ควรได้รับอาหารที่ไปกระตุ้นการทำงานของต่อมไทรอยด์เพิ่ม เพราะมีฮอร์โมนไทรอยด์ที่มากเกินไปอยู่แล้ว ดังนั้นผู้ป่วยไฮเปอร์ไทรอยด์จึงควรงดแอลกอฮอล์และคาเฟอีน แล้วหันมาดื่มพวกน้ำสมุนไพร เช่น ตะไคร้ ขิง ดอกคำฝอย แทนค่ะ 
            
4. ไขมันที่ไม่ดีต่อสุขภาพ
 
โรคไทรอยด์

          ผู้ป่วยไทรอยด์ไม่ควรบริโภคไขมันต่าง ๆ ที่ไม่ดีต่อสุขภาพอย่าง ไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์ ที่สามารถพบได้มากในคุกกี้ เค้ก เฟรนช์ฟรายส์ เพราะไขมันพวกนี้สามารถทำให้ต่อมไทรอยด์มีอาการอักเสบเพิ่มขึ้นได้ ดังนั้นจึงควรหันมาบริโภคไขมันโอเมก้า 3 ซึ่งเป็นไขมันที่ดีต่อสุขภาพแทน ซึ่งพบมากในปลาทะเล และ ปลาน้ำจืดบางชนิด
            
5. อาหารที่กินแล้วแพ้

โรคไทรอยด์

          แน่นอนว่าหากบริโภคอาหารที่แพ้เข้าไปจะทำให้อาการไฮเปอร์ไทรอยด์แย่ลงได้ แต่ปัญหาใหญ่คือบางคนไม่ทราบว่าตัวเองแพ้อะไร ซึ่งส่วนมากอาหารที่คนแพ้มักจะเป็นนม ไข่ ข้าวสาลี ถั่ว ถั่วเหลือง ปลา สัตว์น้ำที่มีเปลือกหุ้มและหอย ทางที่ดีควรไปตรวจกับแพทย์ในแน่ชัด เพื่อจะได้ไม่ต้องเสี่ยงไปกระตุ้นโรคไฮเปอร์ไทรอยด์ค่ะ

          นอกจากหลีกเลี่ยงอาหารต้องห้ามเหล่านี้แล้ว ผู้ป่วยไฮเปอร์ไทรอยด์ควรทานอาหารที่มีสารอาหารครบ 5 หมู่ ผ่านการปรุงแต่งน้อย อย่างข้าวกล้อง แป้งไม่ขัดขาว เพราะจะคงคุณค่าของสารอาหารไว้มาก ทานผักผลไม้เยอะ ๆ โดยเฉพาะกล้วย เพราะในกล้วยมีสารช่วยลดแลคติก เอซิด(Lactic Acid) ที่ช่วยลดอาการเครียด ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรคไทรอยด์ รวมทั้งยังควรเนื้อสัตว์ประเภทโปรตีนไขมันต่ำ เช่น อกไก่ เนื้อปลา เพื่อช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อ เพราะผู้ป่วยไทรอยด์เป็นพิษมักจะมีความรู้สึกอยากอาหาร แต่ทานเท่าไหร่น้ำหนักก็ไม่ค่อยขึ้น การทานโปรตีนไขมันต่ำจะช่วยให้อิ่มอยู่ท้องได้นานขึ้น

++++++++++++

          * ป่วยไฮโปไทรอยด์ ห้ามกินอะไร

          ไฮโปไทรอยด์ เป็นภาวะขาดฮอร์โมนต่อมไทรอยด์เนื่องจากมีการทำงานของไทรอยด์ต่ำ หรือไม่มีต่อมไทรอยด์ สาเหตุอาจเกิดจากการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ไป หรือมีอาการไทรอยด์อักเสบแบบ Hashimoto’s thyroiditis ซึ่งเป็นโรคแพ้ภูมิตัวเอง (autoimmune disorder) ชนิดหนึ่ง ทำให้ผลิตไทรอยด์ฮอร์โมนออกมาได้น้อย โดยจะมีอาการหนาวง่าย ท้องผูก ประจำเดือนมาผิดปกติ ปวดกล้ามเนื้อ เฉื่อย ช้า ผิวแห้ง และมีอาการซึมเศร้า ซึ่งคนที่ป่วยเป็นโรคไฮโปไทรอยด์ควรหลีกเลี่ยงอาหารเหล่านี้

1. ถั่วเหลือง

โรคไทรอยด์
  
          จริง ๆ แล้วประเด็นที่ว่าผู้ป่วยไฮโปไทรอยด์ทานถั่วเหลืองได้ไหมยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่พอสมควรค่ะ เพราะก่อนหน้านี้ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการแพทย์แบบองค์รวม เคยออกมาเตือนว่า ผู้ที่เป็นโรคไฮโปไทรอยด์ ไม่ควรรับประทานถั่วเหลืองหรืออาหารเสริมที่มีสารอาหารจากถั่วเหลืองเป็นส่วนประกอบ เพราะจะทำให้ร่างกายได้รับไอโซฟลาโวน (Isoflavones) ซึ่งอาจจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้ อาทิ ไทรอยด์ทำงานช้าลง

          แต่ทว่าก็มีงานวิจัยจากหลายแห่งพบว่า การทานถั่วเหลืองอาจไม่ได้กระทบต่อการทำงานของต่อมไทรอยด์ก็เป็นได้ เพราะยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดว่าสารในถั่วเหลืองส่งผลต่อโรคไทรอยด์ จึงทำให้ผู้ป่วยไฮโปไทรอยด์สามารถทานถั่วเหลืองได้ แต่อย่างไรก็ตามถ้าจะทานถั่วเหลืองจริง ๆ ควรทานในปริมาณที่เหมาะสมไม่มากเกินไปจะดีที่สุดค่ะ
        
2. ผักตระกูลกะหล่ำ

โรคไทรอยด์

          ผู้ป่วยไฮโปไทรอยด์ไม่ควรรับประทานผักตระกูลกะหล่ำ ทั้ง กะหล่ำปลี ผักกาดขาว บรอกโคลี คะน้า และหัวไชเท้า  เนื่องจากพืชเหล่ามีสารกอยโตรเจน (goitrogen) ที่เป็นตัวไปขวางการจับไอโอดีนของต่อมไทรอยด์ เพื่อสร้างฮอร์โมนไทรอกซิน (thyroxin) ซึ่งจะทำให้เกิดคอหอยพอกนั่นเอง

          อย่างไรก็ตามผักกระกูลกะหล่ำก็ยังมีประโยชน์อื่น ๆ และสามารถช่วยยับยั้งมะเร็งได้ เราจึงมีความจำเป็นต้องกินผักตระกูลนี้อยู่บ้าง ซึ่งวิธีที่จะทำให้เรากินผักตระกูลนี้ได้อย่างปลอดภัยก็คือต้องนำไปต้มให้สุกค่ะ เพราะการต้มจะทำให้สารพิษต่าง ๆ หายไปได้ ดังนั้นหากจะกินควรต้มให้สุก และห้ามกินแบบดิบ ๆ เด็ดขาดนะคะ

3. ชาและกาแฟ

โรคไทรอยด์

            มีการศึกษาพบว่ายารักษาไทรอยด์จะไม่มีประสิทธิภาพ หากผู้ป่วยกินยาแล้วดื่มชาหรือกาแฟตามทันที เพราะในกาแฟมีคาเฟอีน ซึ่งคาเฟอีนมีฤิทธิ์ที่สามารถไปขัดขวางการดูดซึมของฮอร์โมนไทรอยด์ได้ แพทย์จึงแนะนำว่าหลังกินยารักษาไทรอยด์เสร็จ ควรรออย่างน้อยครึ่งชั่วโมง แล้วค่อยกินกาแฟ หรือทางที่ดีควรงดพวกชา กาแฟแล้วหันไปดื่มพวกน้ำสมุนไพรแทนจะดีที่สุด

4. แอลกอฮอล์

โรคไทรอยด์

          แอลกอฮอล์นอกจากจะไปกระตุ้นการการทำงานของต่อมไทรอยด์ ซึ่งไม่ดีต่อผู้ป่วยไทรอยด์เป็นพิษแล้ว ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ยังไม่ดีต่อผู้ป่วยโรคขาดไทรอยด์เช่นกันค่ะ เพราะแอลกอฮอล์สามารถไปยับยั้งการผลิตฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์ ทำให้มีอาการขาดฮอร์โมนไทรอยด์ และยังมีฤทธิ์ทำให้ฮอร์โมนไทรอยด์ไม่สมดุลกันด้วย ว่าแล้วผู้ป่วยที่เป็นโรคไทรอยด์จึงควรรับประทานแอลกอฮอล์ในปริมาณน้อย หรือถ้าเป็นไปได้ควรงดแอลกอฮอล์จะดีที่สุดค่ะ
  
5. กลูเตน

โรคไทรอยด์

          จริง ๆ แล้วผู้ป่วยไฮโปไทรอยด์สามารถทานอาหารที่มีกลูเตน อย่างเช่น ข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์ได้โดยไม่มีผลกระทบอะไรต่อสุขภาพ แต่ถ้าคุณเป็นคนที่แพ้กลูเตนอยู่แล้ว ก็ควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภทนี้ไว้ด้วยค่ะ เพราะกลูเตนสามารถไปทำลายระบบการทำงานของลำไส้เล็ก และขัดขวางการดูดซึมยารักษาต่อมไทรอยด์ อีกทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงโรคฮาชิโมโต ซึ่งเป็นภาวะที่ไทรอยด์ฮอร์โมนพร่องไป หรือแม้แต่อาจทำให้เกิดโรคคอพอกหรือไทรอยด์เป็นพิษที่ทำให้ไทรอยด์ฮอร์โมนผลิตออกมามากเกินไปได้อีก ฉะนั้นถ้าหากคุณแพ้กลูเตนควรหันมาบริโภคพวกอาหารที่ปราศจากกลูเตนแทนจะดีที่สุด

6. อาหารแปรรูป

โรคไทรอยด์

          ผู้ป่วยไฮโปไทรอยด์ต้องการไอโอดีนมาช่วยเพิ่มฮอร์โมนไทรอยด์ให้เป็นปกติ แต่ในอาหารแปรรูป เช่น ไส้กรอก กุนเชียง อาหารกระป๋อง เป็นอาหารที่แทบจะไม่มีเกลือไอโอดีนเลย ส่วนมากจะมีแต่เกลือโซเดียมเท่านั้น จึงไม่เหมาะที่จะให้ผู้ป่วยไฮโปไทรอยด์ทานสักเท่าไหร่ อีกทั้งอาหารที่มีโซเดียมสูงยังสามารถทำให้เป็นโรคความดันโลหิตสูงได้ แล้วยิ่งผู้ป่วยไฮโปไทรอยด์ที่มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคความดันโลหิตสูงมากกว่าคนทั่วไปอยู่แล้ว ถ้าได้รับสารโซเดียมมาก ๆ ก็ยิ่งไปกระตุ้นทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงได้ง่ายค่ะ 
       
7. อาหารไขมันเยอะ

โรคไทรอยด์

          ผู้ป่วยไฮโปไทรอยด์ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง อาหารที่ทานแล้วอ้วน อย่างอาหารฟาสต์ฟู้ด เนย มาการีน เพราะสารในอาหารพวกนี้จะไปรบกวนการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ และขัดขวางการดูดซึมยารักษาไทรอยด์ของผู้ป่วยไฮโปไทรอยด์ได้

8. อาหารที่มีน้ำตาลสูง

โรคไทรอยด์

          โรคไฮโปไทรอยด์สามารถทำให้ระบบเมตาบอลิซึมหรือกระบวนการเผาผลาญของร่างกายทำงานช้าลงได้ ดังนั้นผู้ป่วยไทรอยด์จึงควรหลีกเลี่ยงการการทานอาหารที่มีน้ำตาลสูง เพราะในอาหารที่มีน้ำตาลสูงมีแคลอรีเยอะ ร่างกายจะเผาผลาญออกได้ช้าและจะสะสมเป็นไขมันในร่างกาย ก่อให้เกิดโรคอ้วนตามมาได้ง่ายกว่าคนปกติ นอกจากนี้หากผู้ป่วยไฮโปไทรอยด์ทานอาหารที่มีน้ำตาลสูงยังทำให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ยากขึ้น จนอาจส่งผลให้เป็นเบาหวานได้ด้วย
 
          ส่วนอาหารที่ผู้ป่วยไฮโปไทรอยด์ควรรับประทานคืออาหารที่มีไอโอดีนมาก ๆ เช่น ปลา อาหารทะเล สาหร่าย ไข่ และนม เพราะต่อมไทรอยด์จะผลิตฮอร์โมนจากไอโอดีนที่เรากินเข้าไป เมื่อเรามีไอโอดีนมากพอจึงช่วยทำให้ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนจนกลับมาสมดุลเป็นปกติได้

          อย่างไรก็ตามนอกจากหลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่ควรทาน และเลือกทานแต่อาหารที่ดีแล้ว อย่าลืมทานยาหรือเข้ารับการรักษาที่ถูกต้องจากแพทย์ด้วยนะคะ เพราะแค่ควบคุมอาหาร อาจไม่สามารถทำให้หายจากโรคไทรอยด์ได้ค่ะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรคไทรอยด์-ไทรอยด์เป็นพิษ ห้ามกินอะไร เลี่ยงไว้เพื่อความปลอดภัย อัปเดตล่าสุด 11 มิถุนายน 2561 เวลา 17:03:28 711,548 อ่าน
TOP