x close

อุทาหรณ์คลั่งผอม สาวลดความอ้วนจนป่วยอะนอเร็กเซีย ตัวเบาหวิว 33 กก.

โรคคลั่งผอม

          สาวแบ่งปันประสบการณ์สุดเลวร้าย ลดความอ้วนอย่างหนัก จนป่วยอะนอเร็กเซีย ตัวเบาหวิวน้ำหนักเหลือแค่ 33.3 เตือนอย่าหลวมตัวหลุดไปในวงจรอุบาทว์

          เชื่อเลยว่าสำหรับผู้หญิงแล้วหากเดินขึ้นเครื่องชั่งน้ำหนักแล้วหน้าจอที่แสดงน้ำหนักพุ่งพรวด อ้วนขึ้น คงจะเครียดเอามาก ๆ จนต้องคิดหาวิธีลดน้ำหนักให้เร็วที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการคุมอาหาร-ออกกำลังกาย แต่บางคนกลับเลือกวิธีการลดน้ำหนักแบบผิด ๆ จนก่อให้เกิดผลเสียต่อตัวเอง
โรคคลั่งผอม

          ดังเช่นเรื่องราวของผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Kultiwa Youdee ที่ได้ออกมาเปิดเผยเรื่องราวของเธอ ที่ป่วยเป็นโรค Anorexia nervosa หรือ โรคคลั่งผอม เอาไว้เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2560 ว่า เธอเป็นโรคนี้เพราะใช้วิธีลดความอ้วนผิดวิธี เช่น การออกกำลังกายอย่างหนัก และคุมอาหารจนกินเพียงวันละไม่เกิน 1,200-1,300 แคลอรี่ จนทำให้น้ำหนักลดลงมาอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว จาก 49 ไป 45 ไป 43 ไป 40 ตอนหนัก 40 เธอบอกว่า คิดว่าจะพอแต่สุดท้าย Anorexia nervosa ก็ครอบงำ จึงทำแบบเดิมมาซ้ำ ๆ ตลอดทุกวัน จนหนัก 34

โรคคลั่งผอม

          ผู้โพสต์ยังบอกอีกว่า ตอนนั้นพ่อแม่เธอบังคับให้เธอกินข้าว ซึ่งทุกครั้งที่กินข้าวเธอจะร้องไห้ บางทีกินเสร็จแล้วไปล้วงคออ้วกออกหมดในห้องน้ำ จนน้ำหนักลงมาอยู่ที่ 33.3 ซึ่งเธอก็ยังพยายามที่จะทำให้น้ำหนักลดลงมาอีก แต่สุดท้ายก็ทำไม่ได้ เพราะระบบเผาผลาญพังหมด


โรคคลั่งผอม

          เมื่อมีปัญหากับระบบการเผาผลาญ ทำให้เธอไม่สามารถกินอาหารได้ตามปกติ และทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ตามมา เช่น มีอารมณ์แปรปรวนมาก ประจำเดือนไม่มา ผมร่วง ป่วยเป็นโรคโลหิตจาง นั่งเก้าอี้แข็ง ๆ ไม่ได้ เหนื่อยง่าย สมองประมวลผลช้ากว่าปกติมาก มีอาการซึมเศร้า ทั้งยังกลัวการกินอาหารนอกบ้าน จากนั้นเธอก็ถูกส่งตัวไปรักษาอาการคลั่งผอมนี้จนหายขาด โดยเธอยังสัญญากับตัวเองว่าจะไม่กลับไปเป็นแบบนั้นอีก พร้อมทั้งฝากเตือนว่าถ้าสังเกตว่ามีใครก็ตามจะหลุดเข้าไปในวงจรอุบาทว์นี้ ให้หยุดเขาไว้ เพราะโรคนี้มันร้ายแรงกว่าที่คิด



          อนึ่ง ในปัจจุบันมีการสำรวจพบว่ามีผู้ป่วยโรคกลัวอ้วนเสียจนผอมเกินไปราวร้อยละ 0.5-1.8 ของประชากร มีผู้ป่วยรายใหม่เกิดขึ้นราว 5-10 รายต่อประชากร 1 แสนคน พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายหลายเท่า ในผู้ป่วยทั้งหมดจะเป็นผู้ชายไม่เกินร้อยละ 5-10 และอาการของโรคมักเริ่มตอนวัยรุ่น เฉลี่ยจะเริ่มเป็นเมื่ออายุ 17 ปี พบมากในประเทศอุตสาหกรรม หรือประเทศที่เจริญแล้ว มากกว่าในประเทศด้อยพัฒนา เนื่องจากคนในประเทศกลุ่มดังกล่าวมีความสนใจเรื่องรูปร่างมากกว่าปกติ และทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคดังกล่าวตามไปด้วย

ภาพและข้อมูลจาก
เฟซบุ๊ก Kultiwa Youdee,

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อุทาหรณ์คลั่งผอม สาวลดความอ้วนจนป่วยอะนอเร็กเซีย ตัวเบาหวิว 33 กก. โพสต์เมื่อ 7 กันยายน 2560 เวลา 16:37:46 26,952 อ่าน
TOP