x close

7 แนวทางดูแลจิตใจ รับมือความโศกเศร้าในช่วงครบรอบการสูญเสีย

          ความโศกเศร้าจากการสูญเสียที่คิดว่าบรรเทาเบาบางลงไปบ้างแล้ว แต่เมื่อถึงวันครบรอบแห่งการสูญเสียนั้น ความรู้สึกเศร้าในแบบเดิม ๆ กลับมาอีกครั้ง จะรับมือยังไงดี
วิธีดูแลสภาพจิตใจ

          ทุก ๆ การสูญเสียนำมาซึ่งความโศกเศร้า และหลาย ๆ คนก็บอกว่าเวลาจะช่วยเยียวยาจิตใจเศร้า ๆ ให้กลับมามีชีวิตชีวาได้อีกครั้ง ทว่าในเมื่อโลกใบนี้ยังหมุนไป แน่นอนค่ะว่าวันครบรอบการสูญเสียจะวนกลับมาใหม่ พร้อมกับความรู้สึกเศร้าเสียใจเดิม ๆ เอ่อล้นขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งทางจิตวิทยาเราจะเรียกภาวะนี้ว่า Anniversary Grief หรือความเศร้าในช่วงครบรอบการสูญเสีย และใครที่กำลังมีอารมณ์สีเทากับวันครบรอบแห่งการสูญเสีย วันนี้กระปุกดอทคอมมีวิธีเยียวยาจิตใจที่น่าจะพอทุเลาความโศกเศร้าของทุกคนได้บ้างมาฝากค่ะ

วิธีดูแลสภาพจิตใจ

1. เตรียมใจรับความเศร้า


          เพื่อไม่ให้ความรู้สึกเศร้าจมลึกดิ่งลงไป เราเองก็ควรเตรียมใจรับความเศร้าไว้แต่เนิ่น ๆ เลย เพราะยังไงเรารู้ตัวดีอยู่แล้วว่าถึงวันนั้น ช่วงเวลานั้น จะต้องเกิดความรู้สึกเศร้าเสียใจแน่นอน ดังนั้นก็เตรียมใจไว้ก่อนเลยว่า ฉันจะเศร้า ฉันจะร้องไห้ ฉันจะรู้สึกโหวง ๆ ที่สำคัญต้องบอกตัวเองด้วยว่า พอผ่านไปแล้วเดี๋ยวฉันจะค่อย ๆ รู้สึกดีขึ้น

2. ตระหนักรู้ถึงความรู้สึกเศร้า

        ความเศร้าเกิดขึ้นได้ แต่เราเองก็ต้องรู้เท่าทันความรู้สึกเศร้า ๆ หนัก ๆ ในใจที่เป็นอยู่ด้วยว่า นี่คือความรู้สึกธรรมดา เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของชีวิตที่ได้พบกับความสูญเสีย และความเศร้าก็เป็นปฏิกิริยาปกติในสถานการณ์ที่ไม่ปกติเช่นนี้ ดังนั้นจึงต้องตระหนักและไม่คร่ำครวญ จนชวนให้จิตฟุ้งไปกับอารมณ์เศร้าที่เกิดขึ้น

3. พยายามอยู่ห่างจากสิ่งเร้า


          เพราะอารมณ์เป็นสิ่งที่อ่อนไหวง่ายค่ะ โดยเฉพาะในช่วงที่จิตใจเราไม่แข็งแรงเหมือนในสภาวะปกติ การย้อนกลับไปดูภาพเดิม ๆ ซ้ำ ๆ ย้อนคิดถึงแต่เรื่องเดิม ๆ ที่ยิ่งพาให้รู้สึกเศร้าใจ สิ่งเร้าเหล่านี้อาจเป็นชนวนให้เราจมลึกกับความเศร้าโศกกันไปใหญ่ ดังนั้นพยายามมีสติให้มาก หากรู้ตัวว่าอารมณ์จมดิ่งลงเพราะได้ยินเพลง ได้เห็นรูปภาพ หรือเห็นภาพเคลื่อนไหวในโทรทัศน์ ก็พยายามอยู่ห่างจากสิ่งเหล่านั้นสักครู่ เพื่อป้องกันไม่ให้จิตใจห่อเหี่ยวกว่าที่เป็นอยู่นั่นเอง

4. หากิจกรรมอื่นทำ

          หากรู้สึกเศร้าแบบฉุดไม่อยู่ อยู่เฉย ๆ ไม่ไหว มีแต่จะจมดิ่งลงไปทุกวินาที งั้นก็ออกไปหากิจกรรมที่ชอบทำเลยค่ะ ถ้าเป็นกิจกรรมอาสาจะยิ่งดี เพราะเราจะได้เห็นความรู้สึกของคนรอบข้าง ที่อาจมีความเดือดร้อน อาจเป็นทุกข์เหมือน ๆ กัน หรือหากไม่ไหวที่จะออกไปพบปะสังคม ลองเล่นกับสัตว์เลี้ยง หรือปลูกต้นไม้ อ่านหนังสือ หากิจกรรมอะไรก็ได้ที่คิดว่าน่าจะช่วยเบี่ยงเบนความรู้สึกของเราไม่ให้จมอยู่กับความเศร้าโศกอย่างเดียว

5. ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน

          หากเห็นคนรอบข้างมีความเศร้าโศก พูดน้อยลง ซึม พร้อมกับรู้สึกได้ถึงมวลแห่งความหดหู่รอบ ๆ กาย อยากให้ส่งยิ้มให้กัน ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน เพราะแม้จะไม่รู้จักกันเลยก็ตาม แต่บางกิริยาทำให้เรารับรู้ได้ว่าเขาเศร้า เราเองก็เศร้า แต่ยังไงเราจะผ่านความรู้สึกเศร้านี้ไปด้วยกัน

วิธีดูแลสภาพจิตใจ

6. แชร์ความรู้สึกกับคนรอบข้าง

          ในกรณีที่รู้สึกว่าตัวเองแบกรับความเศร้าไม่ไหว ทำอย่างไรก็ไม่หายเศร้า แนะนำให้แชร์ความรู้สึกนั้นกับคนรอบข้าง พูดให้เขาฟังว่าเรารู้สึกยังไง เศร้ายังไง ทนไม่ไหวยังไง การได้ระบายออกไปบ้างจะช่วยบรรเทาความรู้สึกหนักอึ้งที่อยู่ในใจเราได้ แล้วพอพูดจนเหนื่อย ร้องไห้จนหมดแรง เชื่อเถอะค่ะว่าตอนนั้นแหละเราจะรู้สึกดีขึ้น

7. ปรึกษาแพทย์


          สำหรับเคสที่มีอาการซึมเศร้ามาก่อนหน้านี้ หรือมีความกดดันบางอย่าง มีเรื่องรอบตัวที่ทำให้ไม่สบายใจ และรู้สึกว่าทุกสิ่งมันถาโถมเข้ามาจนเกินรับมือไหว จนกระทบกับการดำเนินชีวิตประจำวัน ลองปรึกษาจิตแพทย์ดูนะคะ หรือโทรสายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 ก็ได้เหมือนกัน

          7 วิธีดูแลจิตใจเบื้องต้นเป็นเพียงแนวทางการดูแลจิตใจในช่วงที่ต้องวนมาเจอกับความเศร้าเสียใจอีกครั้ง ซึ่งเราเองก็อยากให้ทุกคนก้าวผ่านความเศร้านี้ได้อย่างรอดปลอดภัย ไม่กระทบกับสุขภาพกายหรือสุขภาพใจใด ๆ ทั้งสิ้นนะคะ

ภาพจาก pixabay
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
เฟซบุ๊กเข็นเด็กขึ้นภูเขา
เฟซบุ๊กสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
7 แนวทางดูแลจิตใจ รับมือความโศกเศร้าในช่วงครบรอบการสูญเสีย อัปเดตล่าสุด 12 ตุลาคม 2561 เวลา 11:58:15 9,891 อ่าน
TOP