วิธีปฐมพยาบาลเมื่อถูกสุนัขกัดหรือแมวข่วนในเบื้องต้น พร้อมการฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า

        ถ้าถูกมะหมากัดหรือแมวสุดที่รักข่วน ควรต้องปฐมพยาบาลบาดแผลอย่างไรไม่ให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ หรือเสี่ยงต่อโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งกระปุกดอทคอมว่า ประเด็นนี้ทุกคนต้องรู้วิธีดูแลและป้องกันตัวเองให้ครบเพื่อความปลอดภัยของตัวเองและคนรอบข้าง
พิษสุนัขบ้า

          อาจเพราะเวลาที่ถูกสุนัขกัดหรือแมวข่วน หลายคนจะมองว่าเรื่องแค่นี้ไม่น่าเป็นอะไร เพราะสุนัขหรือแมวที่กัดเรานั้นก็เป็นสัตว์เลี้ยงของเราเองหรือของบ้านใกล้เคียง คุ้นหน้าคุ้นตากันอยู่ แถมหน้าตาบ้องแบ๊วของน้องหมาน้องแมวก็อาจทำให้หลายคนชะล่าใจ หมากัด แมวข่วน เลยกลายเป็นเรื่องเล็ก ๆ ที่มองข้ามไป ไม่ใส่ใจจะปฐมพยาบาลแผลที่ถูกหมากัดอย่างถูกวิธี

          ทว่านับจากมีการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าหนาหูขึ้นเรื่อย ๆ การถูกหมากัด แมวข่วนคงไม่ใช่เรื่องสิว ๆ อีกต่อไป ดังนั้นวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อถูกสุนัขกัดหรือแมวข่วนจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนควรมีความรู้ติดตัวไว้ พร้อมกันนั้นเรายังมีข้อมูลเรื่องการฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้ามาให้ศึกษากันด้วยค่ะ

วิธีปฐมพยาบาลเมื่อถูกสุนัขกัด หรือแมวข่วน

          หากโดนสุนัขกัด แมวข่วน หรือถูกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด (หนู กระต่าย วัว ฯลฯ) ทำร้ายให้เกิดแผลใด ๆ ก็ตามที่ร่างกาย หลังตั้งสติได้แล้วควรปฏิบัติตัวดังต่อไปนี้เลยค่ะ

          1. ล้างแผลทันทีด้วยน้ำสะอาดในปริมาณมาก ๆ ฟอกสบู่ให้ทั่วบาดแผล หรือถ้าแผลลึกให้ฟอกสบู่ไปถึงก้นแผลอย่างน้อย 15 นาที และล้างสบู่ออกให้หมดจด

          * ข้อควรระวัง : ควรทำอย่างเบามือ พยายามอย่าให้แผลช้ำ และไม่ควรทาครีมใด ๆ ที่ผิวบริเวณที่มีบาดแผล

พิษสุนัขบ้า

          2. ถ้ามีเลือดออก ควรปล่อยให้เลือดไหลออก อย่าบีบหรือเค้นแผล เพราะจะทำให้เชื้อแพร่กระจายไปส่วนอื่น

          3. เมื่อล้างแผลและใช้ผ้าก๊อซซับให้แห้งแล้ว ให้เช็ดแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ โดยควรใช้โพวิโดนไอโอดีน (Povidone iodine) หรือฮิบิเทนในน้ำ (Hibitane in water) แต่ถ้าไม่มียาฆ่าเชื้อเหล่านี้ สามารถใช้แอลกอฮอล์ 70% หรือทิงเจอร์ไอโอดีน เช็ดเพื่อฆ่าเชื้อโรคที่แผลได้

          *ข้อควรระวัง : อย่าใส่สิ่งอื่น เช่น เกลือ ยาฉุน ลงในแผล ไม่ควรเย็บแผล และไม่ควรใช้รองเท้าตบแผล เพราะอาจทำให้เชื้อกระจายไปรอบบริเวณที่เกิดแผลได้ง่าย และอาจมีเชื้อโรคอื่นเข้าไปด้วย ทำให้แผลอักเสบได้ ยกเว้นในกรณีที่แผลใหญ่มาก เลือดออกมาก สามารถปิดปากแผลเพื่อห้ามเลือดได้

พิษสุนัขบ้า

          4.
ไปโรงพยาบาลหรือสถานีอนามัยที่ใกล้ที่สุดในทันทีเพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก ยาปฏิชีวนะ รวมทั้งยาแก้ปวดตามอาการ นอกจากนี้หากโดนกัดที่อวัยวะสำคัญซึ่งมีเส้นประสาทไปเลี้ยงมาก เช่น บริเวณศีรษะ ใบหน้า ฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรืออวัยวะเพศ มีบาดแผลฉกรรจ์เป็นแผลลึกและมีขนาดใหญ่ ควรต้องได้รับวัคซีนอิมมูโนโกลบูลิน (Immunoglobulin) ซึ่งเป็นวัคซีนที่มีภูมิคุ้มกันทันทีโดยไม่ต้องใช้เวลาในการกระตุ้น

          5. กักสัตว์ที่กัดไว้ดูอาการอย่างน้อย 10-15 วัน โดยให้น้ำและอาหารตามปกติ อย่าฆ่าสัตว์ให้ตายทันที เว้นแต่สัตว์นั้นดุร้าย กัดคนหรือสัตว์อื่น หรือไม่สามารถกักสัตว์ไว้ได้ และถ้าสัตว์ตัวนั้นหนีหายไปให้ถือว่าสัตว์นั้นเป็นโรคพิษสุนัขบ้า ต้องไปรับวัคซีนพิษสุนัขบ้าทันที

          6. หากสุนัขตายให้นำซากมาตรวจหาเชื้อ หากสุนัขไม่ตายให้ขังไว้ดูอาการต่อไป จนครบระยะเวลาประมาณ 10-15 วัน ถ้าสุนัขไม่ตาย ผู้ที่ถูกกัดก็ไม่จำเป็นต้องรับวัคซีนพิษสุนัขบ้า

พิษสุนัขบ้า

อาการของสัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า เป็นอย่างไร

          ระหว่างที่กักสัตว์ไว้ดูอาการ ควรสังเกตด้วยว่าสัตว์ตัวนั้นมีอาการดังต่อไปนี้หรือไม่ เพราะนี่คืออาการของโรคพิษสุนัขบ้า โดยจะพบอาการ 3 ระยะคือ

          - ระยะเริ่มแรก สัตว์เลี้ยงจะแยกตัว ไม่เล่นกับเจ้าของเหมือนปกติ มีอาการหงุดหงิด ม่านตาขยาย ไม่ตอบสนองต่อแสงประมาณ 2–3 วัน ก่อนจะเข้าสู่ระยะที่ 2

          - ระยะที่ 2 คือ ระยะตื่นเต้น เพราะสัตว์เลี้ยงจะมีอาการกระวนกระวาย ลุกขึ้นเดินวนไปมา ดุร้าย กัดทุกสิ่งที่ขวางหน้า เห่าหอนผิดปกติ ลิ้นห้อย อ้าปากตลอดเวลา น้ำลายไหล จะมีอาการเช่นนี้ประมาณ 1-7 วัน

          - ระยะสุดท้าย คือ ระยะอัมพาต สัตว์เลี้ยงจะเป็นอัมพาตทั้งวัน ลุกไม่ขึ้น อ่อนแรง เดินโซเซ และตายในเวลาต่อมา

          อย่างไรก็ตาม หากสัตว์ที่กัดเราเป็นสัตว์ไม่มีเจ้าของ เป็นสัตว์จรจัด จึงไม่สามารถกักขังไว้ดูอาการได้ แนะนำให้ผู้ถูกกัดไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทันที

พิษสุนัขบ้า

วัคซีนพิษสุนัขบ้า (สำหรับคน) ราคาแพงไหม

          ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่ทำจากเซลล์เพาะเลี้ยง โดยฉีดทั้งหมดเพียง 4-5 เข็มเท่านั้น และไม่ต้องฉีดทุกวัน โดยมี 2 แบบคือ

          1. ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ

          2. ฉีดเข้าชั้นผิวหนัง

          กรณีฉีด 5 เข็ม จะฉีดในวันที่ 0 (วันที่เริ่มฉีด) วันที่ 3, 7, 14 และ 28 เมื่อครบปีฉีดซ้ำ 1 เข็ม

          ทั้งนี้เราสามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าล่วงหน้าได้ โดยฉีด 3 เข็ม ในระยะเวลา 1 เดือน และเมื่อครบ 1 ปีแล้วให้ฉีดวัคซีนกระตุ้นซ้ำอีก 1 เข็ม จากนั้นกระตุ้นซ้ำทุก ๆ 5 ปี วัคซีนนี้จะไม่ทำให้เกิดอาการแพ้ต่อระบบประสาท และสามารถฉีดได้ทุกวัย ทั้งในเด็กและสตรีมีครรภ์ ดังนั้นคนที่มีสัตว์เลี้ยง หรือต้องคลุกคลีอยู่กับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าด้วยนะคะ

          ส่วนราคาวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้านั้น ขึ้นอยู่กับสถานพยาบาลแต่ละแห่ง โดยในโรงพยาบาลรัฐ ราคาวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าจะอยู่ที่เข็มละประมาณ 120-1,000 บาท/เข็ม และควรฉีดให้ครบโดสตามที่แพทย์นัด เฉลี่ยแล้วค่าบริการวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในโรงพยาบาลรัฐจะมีค่าใช้จ่ายราว ๆ 2,000-4,000 บาท ส่วนราคาวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในโรงพยาบาลเอกชน อาจมีค่าใช้จ่ายประมาณ 2,000-7,000 บาท ขึ้นอยู่กับสถานที่ที่ให้บริการ

พิษสุนัขบ้า

          อย่างไรก็ตาม หากจำเป็นต้องได้รับการฉีดวัคซีนอิมมูโนโกลบูลิน (Immunoglobulin) เนื่องจากแผลที่ถูกสัตว์กัดอยู่ใกล้อวัยวะที่มีเส้นเส้นประสาทไปเลี้ยงมากดังที่กล่าวไว้ข้างต้น เช่น ใบหน้า หรือมีแผลฉกรรจ์มาก ผู้ป่วยควรต้องรับการฉีดเซรุ่มร่วมกับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าด้วย ซึ่งเซรุ่มตัวนี้ราคาจะค่อนข้างแพง โดยเฉลี่ยแล้วราคาวัคซีนและเซรุ่มที่ต้องฉีดอาจอยู่ที่ประมาณ 10,000-40,000 บาท เพราะการฉีดเซรุ่มจะคำนวณปริมาณเซรุ่มจากน้ำหนักตัวของผู้ป่วย ซึ่งค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ก็ขึ้นอยู่กับทางสถานพยาบาลที่เข้ารับการรักษาด้วยเช่นกัน

          ทั้งนี้ หากสนใจจะเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าก่อนที่จะถูกกัด ก็สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลใกล้บ้านเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนประกอบการตัดสินใจก็ได้ค่ะ

พิษสุนัขบ้า

วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ฉีดที่ไหนได้บ้าง

          โดยปกติแล้ว โรงพยาบาลทุกโรงพยาบาลหรือแม้แต่ในคลินิก อนามัย หรือสถานพยาบาลเกือบทุกแห่งจะมีวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าสำรองไว้ เนื่องจากโรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคฉุกเฉินที่ควรได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน และเป็นโรคที่มีการระบาดอย่างต่อเนื่องในทุกฤดูกาล ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยห่างไกลจากโรคพิษสุนัขบ้า เราควรดูแลและป้องกันตัวเองในเบื้องต้นให้ดี ไม่ว่าจะด้วยการหลีกเลี่ยงโอกาสที่จะถูกสัตว์กัดหรือทำร้าย รวมไปถึงการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้สัตว์เลี้ยงในบ้าน หรือการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้ตัวเอง เพราะโรคพิษสุนัขบ้าเป็นแล้วเสียชีวิตทุกราย

          - โรคพิษสุนัขบ้า โรคติดต่ออันตราย เสี่ยงตายอย่างทรมาน

ฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า ใช้สิทธิประกันสังคมได้ไหม ?

          ผู้ประกันตนสามารถใช้สิทธิประกันสังคมรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้หากถูกสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม โดยแบ่งออกเป็นกรณีคือ

          - หากรักษาในโรงพยาบาลที่ตนเองมีประกันสังคม สามารถรักษาได้เลยโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

          - หากไม่ได้รักษาในโรงพยาบาลที่ตนเองมีประกันสังคม สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลโดยฉีดวัคซีนเข็มแรก ณ โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดก่อน แล้วนำใบเสร็จรับเงินที่สำรองจ่ายไปก่อน พร้อมใบรับรองแพทย์มาเบิกคืนได้ที่สำนักงานประกันสังคมเขต/พื้นที่/จังหวัด/สาขาทุกแห่งที่สะดวก

          ทั้งนี้ หากเข้ารับบริการทางการแพทย์ ณ สถานพยาบาลของรัฐ ประเภทผู้ป่วยนอก จะเบิกค่าบริการได้เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น

          แต่หากเข้ารับบริการที่สถานพยาบาลเอกชน ประเภทผู้ป่วยนอก จะเบิกค่าบริการได้เท่าที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 1,000 บาท และจ่ายเพิ่มตามรายการรักษาที่กำหนดตามหลักเกณฑ์ของประกาศคณะกรรมการการแพทย์

          หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้สิทธิประกันสังคมสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคม โทร. 1506

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
สำนักโรคติดต่อทั่วไป กระทรวงสาธารณสุข
กลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดฉะเชิงเทรา
สำนักงานประกันสังคม

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิธีปฐมพยาบาลเมื่อถูกสุนัขกัดหรือแมวข่วนในเบื้องต้น พร้อมการฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า อัปเดตล่าสุด 21 กันยายน 2561 เวลา 14:24:40 69,164 อ่าน
TOP
x close