ไข้มาลาเรีย หรือไข้ป่า โรคติดต่ออันตราย ป่วยได้เพราะยุง !

          ไม่อยากป่วยไข้มาลาเรีย หรือไข้ป่า บอกเลยว่าอย่าให้ยุงกัด โดยเฉพาะคนชอบเที่ยวป่า เที่ยวเขา !

มาลาเรีย

          ไข้มาลาเรีย อีกหนึ่งโรคติดต่อที่มียุงเป็นพาหะ และมีผู้ป่วยเป็นไข้มาลาเรียกันตั้งแต่สมัยโบราณกาล จวบจนปัจจุบันไข้มาลาเรียก็ยังมีผู้ป่วยกันทุกปี เพราะฉะนั้นในวันที่เรายังไม่ได้ป่วยไข้ด้วยโรคที่เกิดจากยุงเป็นพาหะเหล่านี้ อยากให้ทุกคนมาทำความรู้จักโรคไข้มาลาเรียว่าเกิดจากอะไร ไข้มาลาเรียอาการเป็นแบบไหน แล้วไข้มาลาเรียกับไข้เลือดออกต่างกันอย่างไร คำตอบอยู่บรรทัดล่าง เลื่อนไปอ่านกันเลย

ไข้มาลาเรีย รู้จักสักนิด พิชิตความเสี่ยง


          โรคมาลาเรีย ภาษาอังกฤษ คือ Malaria แต่ในไทยไข้มาลาเรียก็มีชื่อค่อนข้างหลากหลาย เช่น ไข้ป่า ไข้จับสั่น ไข้ร้อนเย็น หรือไข้ดอกสัก เป็นต้น อย่างไรก็ตาม โรคไข้มาลาเรียจัดเป็นโรคติดต่อชนิดหนึ่งซึ่งมียุงเป็นพาหะ โดยเชื้อมาลาเรียที่สามารถติดต่อสู่คนได้มีอยู่ทั้งหมด 5 ชนิดด้วยกัน คือ

          1. พลาสโมเดียม ฟัลซิพารัม (Plasmodium falciparum)

          2. พลาสโมเดียม ไวแว็กซ์ (P.vivax)

          3. พลาสโมเดียม มาลาริอี่ (P.malariae) 

          4. พลาสโมเดียม โอวาเล่ (P.ovale)

          5. พลาสโมเดียม โนวไซ (P. knowlesi)

          ทั้งนี้เชื้อมาลาเรียที่พบในประเทศไทยส่วนใหญ่จะเป็นชนิดพลาสโมเดียม ฟัลซิพารัม และ พลาสโมเดียม ไวแว็กซ์ นอกนั้นก็พบการติดเชื้อชนิดอื่น ๆ บ้าง แต่ก็ไม่บ่อยเท่า 2 ชนิดที่กล่าวมาข้างต้น

มาลาเรีย

ไข้มาลาเรีย สาเหตุของโรคนี้มาจากยุงชนิดไหน

 


          ไข้มาลาเรียเกิดจากเชื้อโปรโตซัวที่อยู่ในตัวยุงก้นปล่องเพศเมีย โดยหากโดนยุงก้นปล่องที่มีเชื้อมาลาเรียกัด ยุงจะปล่อยเชื้อมาลาเรียเข้ากระแสเลือด หลังจากนั้นตัวเชื้อมาลาเรียก็จะไปที่ตับและทำการแบ่งตัวมากขึ้น ก่อนจะปล่อยออกมาในกระแสเลือดอีกครั้ง ระยะนี้จึงเริ่มแสดงอาการโรคมาลาเรียออกมา ซึ่งการที่เชื้อบางส่วนยังคงอยู่ในเซลล์ตับจึงทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการไข้กลับซ้ำ (relapse) ได้

มาลาเรีย

          กล่าวคือ ในบางรายแม้จะรักษาไข้มาลาเรียหายดีแล้ว และไม่ได้รับเชื้อใหม่อีก แต่ก็มีโอกาสกลับมาป่วยได้อีกแม้เวลาผ่านไปหลายปี เพราะยังคงมีเชื้ออยู่ในตับนี่เอง โดยจะพบอาการไข้กลับซ้ำได้ในผู้ที่ติดเชื้อมาลาเรียพลาสโมเดียม ไวแว็กซ์ และพลาสโมเดียม โอวาเล่ ซึ่งมีระยะพักตัวที่เรียกว่า ฮิบโนซอยต์ (hypnozoite) อยู่ในตับได้นานตั้งแต่ 6-12 เดือน ไปจนถึง 8 ปี แล้วจึงแบ่งตัวเข้าสู่กระแสเลือดทำให้ป่วยได้อีกครั้ง

          ทั้งนี้แหล่งที่พบเชื้อมาลาเรียส่วนใหญ่จะพบในประเทศเขตร้อน โดยในไทยมักจะพบการติดเชื้อมาลาเรียตามเขตป่า-เขา หรือตามขอบชายแดนบริเวณที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ชายแดนไทย-พม่า, ชายแดนไทย-กัมพูชา และจังหวัดที่มีรายงานผู้ป่วยมาลาเรียเป็นจำนวนมาก ได้แก่ จังหวัดตาก กาญจนบุรี ตราด ราชบุรี และจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยพบการติดเชื้อในเขตป่า-เขา ทั้งหมด ไม่พบการติดเชื้อมาลาเรียในตัวเมืองเท่าไรนัก

          ส่วนในต่างประเทศพบการระบาดในแถบทวีปแอฟริกา อเมริกากลาง อเมริกาใต้ ซึ่งเป็นเขตร้อน

มาลาเรีย

ไข้มาลาเรีย ติดต่อกันได้อย่างไร ทางไหนบ้าง


          ไข้มาลาเรียเป็นโรคที่ติดต่อกันได้หลายทาง ที่พบบ่อยคือจากการถูกยุงก้นปล่องที่มีเชื้อมากัด หรือหากยุงก้นปล่องที่ไม่มีเชื้อมาลาเรียอยู่ก่อน มากัดคนที่ได้รับเชื้อมาลาเรียจากยุงก้นปล่องตัวอื่น ยุงก้นปล่องที่ปลอดเชื้อ ก็สามารถนำเชื้อไปแพร่สู่ผู้อื่นด้วยการกัดได้อีกด้วยนะคะ

          อย่างไรก็ตาม เชื้อมาลาเรียยังสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ เนื่องจากเชื้อมาลาเรียจะอยู่ในกระแสเลือดของผู้ป่วย ดังนั้นการรับเลือดจากผู้ติดเชื้อมาลาเรีย หรือการใช้เข็มฉีดยาร่วมกับคนที่มีเชื้อมาลาเรีย หรือการปลูกถ่ายอวัยวะ ก็อาจทำให้ติดเชื้อมาลาเรียได้เช่นกัน รวมทั้งการติดต่อจากมารดาไปสู่ทารกในครรภ์

ไข้มาลาเรีย อาการเป็นอย่างไร


        เชื้อมาลาเรียจะมีระยะฟักตัวประมาณ 10-14 วัน กล่าวคือ หลังจากถูกยุงก้นปล่องที่มีเชื้อมาลาเรียกัด ผ่านไปสัก 10-14 วัน อาการไข้มาลาเรียจะเริ่มแสดงตัว ดังนี้

          - มีไข้ต่ำ ๆ คล้ายไข้หวัด

          - ต่อมาจะมีไข้สูง ตัวร้อนจัด

          - ปวดศีรษะ

          - ปวดเมื่อยตามเนื้อตัวและกล้ามเนื้อ

          - หนาวสั่นสลับร้อนจนเหงื่อออก

          - อาจมีอาการคลื่นไส้

          - เบื่ออาหาร (ในบางราย)

          - หายไข้แล้วแต่กลับมาเป็นไข้ใหม่อีกครั้ง

          - อาการหลังจากเป็นมาลาเรียได้ระยะหนึ่ง จะตรวจพบว่าผู้ป่วยมีภาวะซีด บางคนมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง ตับและม้ามโตชนิดกดแล้วเจ็บ (ในบางราย) และหากเม็ดเลือดแดงแตกมาก ๆ มักพบภาวะปัสสาวะดำในผู้ป่วยได้

          อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงของโรคไข้มาลาเรียขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยด้วยกัน เช่น ระยะการฟักตัวของเชื้อ ชนิดของเชื้อ จำนวนของเชื้อที่ผู้ป่วยได้รับเข้าไป ภาวะภูมิคุ้มกันต่อเชื้อมาลาเรียของผู้ป่วย ภาวะที่ผู้ป่วยได้รับวัคซีนป้องกันไข้มาลาเรียมาก่อน หรือเคยได้รับยารักษามาลาเรียมาก่อนบ้างแล้ว เป็นต้น

มาลาเรีย

ไข้มาลาเรีย รักษาได้ไหม

 


วิธีรักษาไข้มาลาเรียมีอยู่ด้วยกัน 3 ลักษณะ ดังนี้


1. การรักษาจำเพาะ

        การรักษาด้วยการให้ยาฆ่าเชื้อมาลาเรียที่เป็นระยะไร้เพศในเม็ดเลือดแดง โดยแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยความรุนแรงของอาการในผู้ป่วยแต่ละรายในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้ยาที่ใช้รักษามีประสิทธิภาพเพียงพอในการฆ่าเชื้อมาลาเรีย ทั้งนี้ก็เพราะว่าเชื้อมาลาเรียในแต่ละพื้นที่มีภาวะดื้อยาแตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยเป็นไข้มาลาเรียจากการติดเชื้อพลาสโมเดียม ไวแว็กซ์ หรือพลาสโมเดียม โอวาเล่ จะต้องได้รับยาฆ่าระยะฮิบโนซอยต์ด้วย เพื่อรักษาให้หายขาด ไม่มีเชื้อหลงเหลืออยู่ในตับ

2. การบำบัดอาการและภาวะแทรกซ้อน

          ในระหว่างการรักษาไข้มาลาเรียให้หายขาด อาจพบอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ร่วมกับอาการไข้มาลาเรียได้ ดังนั้นแพทย์จึงจำเป็นต้องเฝ้าระวังและทำการรักษาภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด เนื่องจากการติดเชื้อมาลาเรียบางชนิดจะมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงและเสี่ยงเสียชีวิตได้มากหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

3. การป้องกันการแพร่โรค

          แพทย์จะใช้ยาฆ่าเชื้อมาลาเรียชนิดติดต่อไปสู่ยุง (ระยะแกมมีโตไซต์) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่อยู่ในเขตที่มียุงเป็นพาหะ ซึ่งจะช่วยลดโอกาสที่เพิ่มพาหะเชื้อมาลาเรียจากยุงไปสู่คนได้ในระดับหนึ่ง

          ย้ำอีกครั้งว่าไข้มาลาเรียสามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ผู้ต้องสงสัยว่าตัวเองจะป่วยเป็นไข้มาลาเรีย เช่น ไปเที่ยวป่ามา กลับมาแล้วเป็นไข้ ก็ควรพบแพทย์อย่างทันท่วงทีและควรเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องด้วยนะคะ ที่สำคัญไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง เนื่องจากอาจได้รับยาไม่ถูกโรค ทำให้เชื้อดื้อยา ซึ่งก็จะรักษาไข้มาลาเรียได้ยากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเสี่ยงอันตรายต่อตัวผู้ป่วยเองด้วย

มาลาเรีย

ไข้มาลาเรีย ป้องกันได้ไหม


          เนื่องจากไข้มาลาเรียมียุงก้นปล่องเป็นพาหะ ดังนั้นการป้องกันโรคไข้มาลาเรียก็แค่อย่าให้ยุงกัด โดยมีวิธีแนะนำดังนี้ค่ะ

          - ควรสวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาวอย่างมิดชิด เลือกสีอ่อน ๆ โดยเฉพาะเมื่อต้องเดินทางเข้าป่า หรือไปเที่ยวบนเขา บนดอย และสถานที่สุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อมาลาเรีย

          - ควรใช้ยากันยุงที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน และใช้ยากันยุงชนิดโลชั่นหรือสเปรย์ฉีดผิวหนังทุก ๆ 3-4 ชั่วโมง โดยเฉพาะในช่วงเวลาตอนกลางคืน ซึ่งเป็นช่วงที่ยุงก้นปล่องออกหากิน

          - นอนในมุ้ง เพื่อป้องกันยุงกัด

กินยาป้องกันมาลาเรียช่วยได้ไหม


          หลายคนเข้าใจว่าหากจะไปเที่ยวป่าควรกินยาป้องกันไข้มาลาเรียดักไว้ก่อน แต่ในความเป็นจริงแล้ว การกินยาไม่ได้ช่วยป้องกันได้ 100% เพราะเชื้อมาลาเรียในประเทศไทยดื้อต่อยาค่อนข้างมาก การกินยาจึงทำได้แค่ช่วยกดอาการไว้เท่านั้น เมื่อหยุดกินยาเชื้อก็จะออกมาในกระแสเลือดและเกิดอาการของโรคได้อีก นอกจากนี้การกินยาอาจทำให้อาการของโรคมาลาเรียไม่ชัดเจน ทำให้เกิดปัญหาดื้อยามากในระยะยาวอีกต่างหาก 

มาลาเรีย

ไข้มาลาเรียกับไข้เลือดออกต่างกันอย่างไร


          ไข้มาลาเรียกับไข้เลือดออกอาจเป็นโรคที่เกิดจากยุง มียุงเป็นพาหะ และเป็นโรคติดต่อเช่นเดียวกัน ทว่าความแตกต่างระหว่างโรคไข้มาลาเรียและโรคไข้เลือดออก ก็คือมีพาหะเป็นยุงคนละชนิดกัน โดยไข้มาลาเรียมียุงก้นปล่องเป็นพาหะ พบได้มากบริเวณป่า-เขา พื้นที่ตะเข็บชายแดน ช่วงที่ต้องระวังยุงกัดคือช่วงกลางคืน

          ส่วนไข้เลือดออกเป็นโรคติดต่อที่มียุงลายเป็นพาหะ พบได้บ่อยในช่วงฤดูฝนที่มักจะมีแหล่งน้ำท่วมขัง ทำให้ยุงลายมีที่วางไข่ขยายเผ่าพันธุ์มากขึ้น ดังนั้นในทุกพื้นที่ที่มียุงลาย จึงเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อไข้เลือดออก ไม่ว่าจะเขตในเมือง ชุมชน หรือแม้แต่ในที่พักอาศัยของเราก็ตาม ที่สำคัญ ช่วงเวลาที่ควรระวังยุงลายกัดก็จะเป็นช่วงกลางวัน เพราะยุงลายตัวเมียจะออกหากินในช่วงเวลานั้น ต่างจากยุงก้นปล่องที่ออกหากินในช่วงกลางคืน

          อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะช่วงเวลาไหน เราก็ไม่ควรจะปล่อยให้ยุงซึ่งเป็นพาหะของโรคติดต่ออย่างไข้มาลาเรียและไข้เลือดออกมากัดเราได้ ดังนั้นป้องกันยุงกัดด้วยการสวมใส่เสื้อผ้ามิดชิด เปิดพัดลมช่วยปัดเป่ายุง หรือทาโลชั่นกันยุงเมื่อต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มียุงชุมจะดีกว่า ที่สำคัญหากไปเที่ยวป่า เที่ยวเขากลับมาแล้วไม่สบาย อย่านิ่งนอนใจ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างถูกวิธีโดยเร็วจะปลอดภัยกว่านะคะ




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไข้มาลาเรีย หรือไข้ป่า โรคติดต่ออันตราย ป่วยได้เพราะยุง ! อัปเดตล่าสุด 18 ธันวาคม 2566 เวลา 17:19:40 35,034 อ่าน
TOP
x close