x close

พบครั้งแรก ! สารออกฤทธิ์หลอนประสาท ผสมอาหารเสริมชื่อดัง - ยังไร้กฎหมายคุม

อาหารเสริม

          กรมวิทย์ฯ ตรวจอาหารเสริมลดน้ำหนักชื่อดัง เจอสารกระตุ้นประสาทกลุ่มเดียวกับแอมเฟตามีน เผยยังไม่เคยมีรายงานตรวจพบในไทยมาก่อน และไม่มีกฎหมายควบคุม เร่งส่งต่อ อย. เฝ้าระวัง

          วันที่ 27 มีนาคม 2561 นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า เมื่อเดือนกันยายน 2560 ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 10 อุบลราชธานี ได้รับตัวอย่างผลิตภัณฑ์อาหารเสริม นำส่งทางไปรษณีย์จากผู้ใช้บริการภาคเอกชน จ.สมุทรสาคร จำนวน 1 ตัวอย่าง มีลักษณะเป็นผงละเอียดสีขาวบรรจุในแคปซูล สีเขียวอมฟ้าระบุอักษรและตัวเลข "Chô12" อยู่ในแผงบรรจุละ 10 แคปซูล บนแผงพิมพ์ข้อมูลระบุ "Chô12" รุ่นที่ผลิต 10061601 วันที่ผลิต 10.06.16 วันหมดอายุ 09.06.18
          ต่อมาจึงได้ทำการตรวจสอบ และพบสาร Desoxy-D2PM ที่มีสูตรโครงสร้างทางเคมีคล้ายกับสาร D2PM และ 2-DPMP ซึ่งเป็นสารที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการดูดกลับของสารสื่อประสาทในสมอง มีฤทธิ์กระตุ้นประสาท กดความอยากอาหาร และทำให้เคลิบเคลิ้ม ทั้งนี้ สาร Desoxy-D2PM ยังไม่มีการศึกษาด้านการออกฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่แน่ชัด แต่มีรายงานการได้รับสารนี้แล้วมีอาการประสาทหลอน หวาดระแวง หรือมีพฤติกรรมรุนแรง ม่านตาขยาย และเกิดภาวะหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ เช่นเดียวกับการได้รับสาร D2PM และ 2-DPMP

อาหารเสริม

          โดยสารกลุ่มนี้มักถูกนำมาใช้ในรูปแบบสารเสพติดสังเคราะห์ (designer drug) เพื่อทดแทน และหลีกเลี่ยงสารที่ถูกควบคุมโดยกฎหมาย มีชื่อเรียกอื่น เช่น Ivory Wave, A3A New Generation, A3A Methano และ Green Powder

          นพ.สุขุม กล่าวว่า ในประเทศสหราชอาณาจักรได้จัดให้สาร Desoxy-D2PM เป็นยาควบคุมภายในกลุ่มยาควบคุมเดียวกับแอมเฟตามีน แคนนาบินอล และอนุพันธ์ แคนนาบิส โคดีอีน และคีตามีน เนื่องจากพบว่ามีการออกฤทธิ์ผลข้างเคียง และมีความเสี่ยงเทียบเท่ากัน แต่ประเทศไทยยังไม่กำหนดให้สารดังกล่าวเป็นสารควบคุมตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท หรือประกาศตามกฎหมายอื่น จึงยังไม่มีมาตรการควบคุมแต่อย่างใด

อาหารเสริม

          อย่างไรก็ตาม การตรวจพบสาร Desoxy-D2PM ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มและความเสี่ยง ที่มีการนำสารออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ซึ่งยังไม่มีการควบคุมตามกฎหมายในประเทศไทย มาใช้ปลอมปนในผลิตภัณฑ์อาหารเสริมประเภทลดน้ำหนัก ทำให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ ดังนั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะส่งข้อมูลผลการตรวจวิเคราะห์ดังกล่าวให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์อาหารเสริมลดน้ำหนัก และพิจารณาทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการแจ้งเตือนภัยให้ประชาชนทราบถึงความเสี่ยงและอันตรายต่อไป

ภาพและข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
พบครั้งแรก ! สารออกฤทธิ์หลอนประสาท ผสมอาหารเสริมชื่อดัง - ยังไร้กฎหมายคุม โพสต์เมื่อ 27 มีนาคม 2561 เวลา 15:40:17 22,051 อ่าน
TOP