

รู้จักอาการชาที่ไม่ควรปล่อยให้ชิน
ก่อนอื่นเราทราบไหมคะว่า อาการชาตามร่างกายนั้นเกิดจากอะไร จริง ๆ แล้ว คือ อาการผิดปกติของระบบประสาทรับความรู้สึก ทำให้รับสัมผัสผิดเพี้ยนไป เนื่องจากปลายประสาทเกิดการอักเสบ ดังนั้นอาการชาจึงเกิดขึ้นได้กับทุกส่วนของร่างกายเลยค่ะ ที่พบบ่อย ๆ ก็คือ ปลายนิ้ว มือ แขน เท้า หรือขา ซึ่งถ้าปล่อยทิ้งไว้อาจมีอาการมากขึ้นและใช้เวลาในการรักษานานขึ้นค่ะ ดังนั้นอาการชาจึงนับเป็นสัญญาณผิดปกติของร่างกายที่ควรต้องหาสาเหตุและทำการรักษาก่อนจะเกิดอาการแทรกซ้อนที่อื่น ๆ ตามมาได้นะคะ ซึ่งลักษณะของอาการชาที่พบได้บ่อยจะมีอยู่ 6 ลักษณะคือ
1. อาการชาแบบไม่รู้สึกอะไร
2. อาการชายุบยิบเหมือนอะไรไต่
3. อาการชาแบบเสียวแปลบตามแนวเส้นประสาท
4. อาการชาแบบปวดแสบร้อน ๆ เย็น ๆ
5. อาการชาเหมือนเข็มทิ่ม
6. อาการชาหนา ๆ เหมือนใส่ถุงมือ ถุงเท้า

มีอยู่หลายสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการชาขึ้นได้ เช่น เลือดไม่ไหลเวียน จากการนั่ง-ยืน ในท่าเดิมเป็นเวลานาน ทำให้เลือดไหลเวียนไม่ทั่วถึง ก่อให้เกิดอาการเหน็บชา ซึ่งสามารถหายได้เมื่อเปลี่ยนอิริยาบถ อาการจากสาเหตุนี้ไม่ใช่ความผิดปกติค่ะ แต่ถ้าเกิดจากเส้นประสาทถูกกดทับ เพราะการใช้งานเยอะต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดการอักเสบของเส้นประสาทส่วนปลายและทำให้เกิดอาการชาและอาการผิดปกติต่าง ๆ ตามมาได้
นอกจากนี้ภาวะร่างกายมีระดับแร่ธาตุและวิตามินผิดปกติ เช่น การขาดโคบาลามินหรือวิตามินบี 12 หรือการรับประทานยาบางชนิด ก็สามารถก่อให้เกิดอาการชาบริเวณปลายประสาทได้ รวมไปถึงภาวะโรคบางโรค เช่น โรคเบาหวาน,โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท, พังผืดกดทับที่ข้อมือ, กระดูกและข้อเสื่อม ก็อาจเป็นเหตุให้เกิดอาการชาจากปลายประสาทอักเสบได้เช่นกัน

เช็กลิสต์กลุ่มเสี่ยงอาการชา
ไม่ว่าจะอยู่ในวัยไหนก็เกิดอาการชาขึ้นได้ แต่ถ้าพูดถึงกลุ่มเสี่ยงมากเห็นจะเป็นกลุ่มคนที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไปค่ะ โดยเฉพาะชาวออฟฟิศ เพราะคนกลุ่มนี้ต้องใช้ข้อมือทำงานต่อเนื่องยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือแม้แต่การเล่นโทรศัพท์มือถือนาน ๆ ทำให้นิ้ว มือ และแขน ก็มักจะอยู่ในท่าเดิม ๆ จนอาจก่อให้เกิดอาการชาที่มือและแขนได้บ่อยด้วยเช่นกัน
รวมไปถึงกลุ่มผู้สูงวัยที่มักมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน กระดูกข้อ หรือการขาดวิตามินบางอย่าง เช่น โคบาลามินหรือวิตามินบี 12 ก็จะพบอาการชาจากปลายประสาทอักเสบได้มากเช่นกัน1
ส่วนคนที่ทำงานบ้านก็อย่าเพิ่งชะล่าใจ คุณก็คือกลุ่มเสี่ยงอีกกลุ่ม เพราะการต้องใช้มือทำงานบ่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นซักผ้า กวาดบ้าน ถูบ้าน ทำกับข้าว ถือของหนักเป็นประจำ จะเสี่ยงต่อเส้นประสาทถูกกดทับทำให้เกิดอาการชาขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ อย่าง การพักผ่อนไม่เพียงพอ ความเครียด พฤติกรรมรับประทานอาหารไม่ครบ 5 หมู่ตามหลักโภชนาการที่ดี ก็อาจเป็นสาเหตุให้เกิดอาการชาจากปลายประสาทอักเสบได้บ่อย ซึ่งหากปล่อยให้ตัวเองชินกับอาการชา ไม่ยอมรักษาแต่เนิ่น ๆ อาการชาที่เป็นอยู่อาจจะมากขึ้น และส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้

อาการชา รักษาและป้องกันได้ ง่ายกว่าที่คิด
หากสังเกตว่ามีอาการชาเกิดขึ้นกับตัวเอง ควรรีบรักษาแต่เนิ่น ๆ นะคะ เพราะถ้าปล่อยทิ้งไว้นาน อาการชาอาจเป็นอันตรายจนส่งผลกระทบอย่างร้ายแรง แต่หากรักษาเร็วยังช่วยป้องกันการสูญเสียที่รุนแรงในระยะยาวไปในตัวด้วย ซึ่งวิธีรักษาอาการชา มีแนวทางดังต่อไปนี้ค่ะ
1. รักษาตามสาเหตุ
ในกรณีที่รู้สาเหตุของอาการชา ก็ควรรักษาตามสาเหตุนั้น ๆ เช่น
- อาการชาเพราะถูกกดทับ โดยเฉพาะหนุ่มสาวออฟฟิศที่ต้องทำงานต่อเนื่องยาวนาน หรือแม่บ้านที่ต้องใช้มือทำงานตลอด หรือยืนเดินมาก ๆ ควรต้องเปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ และลุกขึ้นมายืดเส้นยืดสาย คลายกล้ามเนื้อบ้าง

- อาการชาจาการดื่มแอลกอฮอล์ ควรหลีกเลี่ยงหรืองดดื่ม
- อาการชาจากโรคที่เป็นอยู่ ควรรักษาโรคที่เป็นอยู่อย่างต่อเนื่อง เพื่อลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น อาการชา
2. รักษาด้วยวิธีอื่น ๆ
เนื่องจากพฤติกรรมบางอย่างของเราก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการชาได้ ดังนั้นถ้าไม่อยากชาจนชิน ก็ควรรักษาสุขภาพให้ดี โดยพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หรือหากมีอาการชาบ่อย ๆ จากความผิดปกติของกล้ามเนื้อและระบบประสาท จะบรรเทาอาการชาด้วยวิธีประคบร้อน ประคบเย็น กายภาพบำบัด หรือการนวดบ้างก็ได้

3. รักษาด้วยยา
อาการชาสามารถรักษาด้วยยาได้เช่นกัน โดยยาที่ใช้รักษาอาการชาจากปลายประสาทอักเสบ คือ มีโคบาลามิน ซึ่งเป็นวิตามินบี 12 ในรูป Active Form ที่ง่ายต่อการดูดซึมตัวยาเข้าสู่เส้นประสาทโดยไม่ต้องผ่านการแปรสภาพ ปริมาณยาจึงคงตัว ไม่ลดประสิทธิภาพลง ส่งผลการรักษาเส้นประสาทส่วนปลายอย่างตรงจุด จะช่วยซ่อมแซมส่วนสำคัญของเส้นประสาททำให้อาการชาลดลง พูดง่าย ๆ คือตัวยาจะถูกนำไปซ่อมแซมระบบเส้นประสาทได้รวดเร็วและเต็มเม็ดเต็มหน่วย ปลายประสาทที่สึกหรออันเป็นเหตุให้เกิดอาการชา ก็จะบรรเทาลง

นอกจากนี้ยังมีการศึกษาที่พบว่า ในระยะเวลาเท่ากัน การใช้มีโคบาลามินมีผลลดอาการชาในผู้ป่วยเบาหวานได้ดีกว่ากลุ่มที่กินวิตามิน B1-6-12 อย่างชัดเจน โดยมีโคบาลามินจะช่วยเพิ่มจำนวนเส้นใยประสาทได้มากกว่าวิตามินบีรวมดังกล่าว2 รวมถึงผลการศึกษาทางคลินิกในคนไข้เบาหวาน ที่มีอาการจากปลายประสาทอักเสบ 406 คนที่ได้รับมีโคบาลามิน 1 เม็ด 3 เวลาหลังอาหาร เป็นเวลานาน 2 เดือน พบว่า เปอร์เซ็นต์ของคนไข้ที่มีอาการชาลดลงมีมากถึง 70% และอาการปวดเรื้อรังดีขึ้นมากกว่า 50% เลยด้วย3
ที่สำคัญตัวยามีโคบาลามินยังสามารถละลายน้ำได้ และจะถูกขับออกทางปัสสาวะ ดังนั้นการตกค้างสะสมในร่างกายจะน้อยมากจึงไม่ต้องกลัวว่าตัวยาจะตกค้างในร่างกายเราเลยค่ะ

เช็กกันสักนิด สังเกตสักหน่อยว่าเรามีอาการชาหรือไม่
ได้เห็นอันตรายของอาการชากันไปแล้ว ทีนี้ลองมาเช็กตัวเองกันหน่อยว่าเรามีอาการดังต่อไปนี้หรือไม่
1. รู้สึกซ่าที่ปลายมือหรือปลายเท้า
2. รู้สึกเหมือนเข็มแทงที่ปลายมือหรือเท้า
3. รู้สึกปวดแสบปวดร้อนที่ปลายมือหรือเท้า
4. รู้สึกไวต่อความเจ็บปวด เช่น การแตะเบา ๆ ก็ทำให้เกิดความรู้สึกเจ็บได้
5. เจ็บปลายเท้าโดยเฉพาะเวลากลางคืน
6. ปลายมือ ปลายเท้าเย็น หรือร้อนผิดปกติ
7. ปลายมือหรือปลายเท้าชาและไม่รู้สึกเมื่อสัมผัส
8. มือและเท้าไม่รู้สึกถึงความรู้สึกร้อน-เย็น
9. ไม่รู้สึกเจ็บเมื่อมีแผลที่เท้า
10. กล้ามเนื้อที่ขาและเท้าอ่อนแรง
11. รู้สึกไม่ค่อยมั่นคงและรู้สึกอ่อนแรงเวลายืนหรือเดิน
12. เมื่อมีแผลมักเป็นเรื้อรัง
ถ้าคุณตอบ "ใช่" มากกว่า 2 ข้อ รีบหาสาเหตุของอาการที่เป็นแล้วแก้ไขให้ตรงจุดโดยด่วนเลยนะคะ เพราะเรื่องชาอย่าปล่อยให้ชิน ก่อนจะอาการชาจะบานปลายกลายเป็นปัญหาสุขภาพเรื้อรังอื่น ๆ ได้นะคะ
ข้อมูลจากเพจ เรื่องชาอย่าปล่อยให้ชิน