เป็นตุ่มที่อวัยวะเพศหญิง อาจเป็นฝีที่บ่งชี้ว่าต่อมบาร์โธลินอักเสบ อาการเริ่มแรกที่สาว ๆ ควรสำรวจตัวเองให้เป็น ก่อนฝีแตกแล้วจะอันตรายไปใหญ่
ต่อมบาร์โธลิน ต่อมนี้สำคัญไฉน
ต่อมบาร์โธลิน คือต่อมผลิตเมือกเพื่อช่วยในการหล่อลื่น โดยต่อมบาร์โธลินจะทำหน้าที่ผลิตเมือกออกมาเมื่อมีการกระตุ้นให้เกิดอารมณ์ทางเพศ ส่วนลักษณะของต่อมบาร์โธลินจะเป็นต่อมขนาดเล็กคล้ายเมล็ดถั่ว มีอยู่ด้วยกันสองข้างฝั่งซ้าย-ขวาในบริเวณแคมใหญ่ ในต่อมบาร์โธลินจะมีท่อยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ยื่นเข้าไปในบริเวณปากช่องคลอดเพื่อคอยส่งเมือกเข้าไปหล่อลื่นช่องคลอดนั่นเอง
ภาพจาก pcds.org.uk
ต่อมบาร์โธลินอักเสบ เพราะอะไร
ในภาวะปกติต่อมบาร์โธลินจะคลำหาไม่พบ แต่เมือกจะถูกสร้างออกมาจากต่อมและส่งไปตามท่อออกมาถึงปากช่องคลอดต่อไป แต่หากมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับต่อมบาร์โธลิน ก็อาจเป็นสาเหตุให้ต่อมบาร์โธลินอักเสบได้ ดังปัจจัยต่อไปนี้
* ต่อมบาร์โธลินอุดตัน
พบมากในสตรีวัยเจริญพันธุ์ โดยต่อมบาร์โธลินมักจะเกิดการอุดตันที่ข้างใดข้างหนึ่ง โดยอาจมีสาเหตุมาจากการสวมกางเกงในรัด กางเกงที่คับรัดรึงเป้าจนเกินไป หรืออาจเกิดจากการปั่นจักรยานบ่อย ๆ ก็เป็นได้ และเมื่อต่อมบาร์โธลินอุดตันไปข้างหนึ่งแล้ว เมือกที่ถูกสร้างออกมาจากต่อมก็จะสะสมและค้างอยู่ในท่อนั้น ก่อใ้ห้เกิดลักษณะคล้ายถุงน้ำเป็นก้อน ๆ สามารถคลำพบด้วยมือได้
* ต่อมบาร์โธลินอักเสบ เป็นหนองจากการติดเชื้อ
เมื่อเกิดภาวะต่อมบาร์โธลินอุดตันเป็นถุงน้ำ เชื้อโรคต่าง ๆ ก็อาจเข้าไปสะสมอยู่ในถุงน้ำนั้น ก่อให้เกิดภาวะต่อมบาร์โธลินอักเสบ บวม และเป็นหนองขึ้นมาได้ ซึ่งภาวะนี้ก็พบได้บ่อยในหญิงวัยเจริญพันธุ์
* ต่อมบาร์โธลินอักเสบจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธุ์
เชื้อโรคจากการติดต่อทางเพศสัมพันธุ์จำพวกหนองในแท้และหนองในเทียม และเชื้อแบคทีเรียในกลุ่ม Neisseria gonorrhoeae ก็อาจเป็นสาเหตุให้ต่อมบาร์โธลินอุดตันและติดเชื้อจนอักเสบขึ้นมาได้
สาว ๆ สามารถสังเกตอาการต่อมบาร์โธลินอักเสบได้ด้วยตัวเอง โดยสังเกตจากอาการเบื้องต้น ดังต่อไปนี้
- คลำพบก้อนที่ปากช่องคลอด ซึ่งอาจเป็นก้อนที่สร้างความเจ็บปวดหรือไม่ปวดก็ได้
- ก้อนมีขนาดใหญ่ขึ้น เกิดอาการระคายเคือง จะนั่ง จะนั่งเดินเหินก็ไม่สะดวก บางรายอาจรู้สึกเจ็บที่ปากช่องคลอดร่วมด้วย
- หากต่อมบาร์โธลินอักเสบรุนแรง ลักษณะก้อนถุงน้ำจะบวม แดง มีหนอง รู้สึกแสบร้อน และปวดอย่างรุนแรงที่ปากช่องคลอด ร่วมด้วยอาการไข้ขึ้น หนาวสั่น
อย่างไรก็ตามในระยะแรกที่ต่อมบาร์โธลินมีความผิดปกติ อาจไม่แสดงอาการอะไรมากนัก ทว่าหากคลำอวัยวะเพศแล้วพบก้อนติ่งบริเวณปากช่องคลอดที่ไม่เคยคลำพบมาก่อน ก็ควรไปตรวจกับสูตินรีแพทย์เพื่อวินิจฉัย โดยเฉพาะหากฝีไม่ยุบและมีขนาดก้อนใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ
ภาพจาก pcds.org.uk
ต่อมบาร์โธลินอักเสบ รักษาได้ไหม
เมื่อต่อมบาร์โธลินเกิดอาการอักเสบขึ้นมา หรือสามารถคลำพบก้อนที่บริเวณแคมใหญ่ ใกล้ ๆ ปากช่องคลอด แต่เป็นก้อนขนาดเล็ก และไม่มีอาการเจ็บปวด อาจลองรักษาด้วยตัวเองดูก่อนด้วยการนั่งแช่น้ำอุ่นวันละ 2 ครั้ง ครั้งละประมาณ 15-20 นาที 2-3 วัน ซึ่งความร้อนอาจทำให้ก้อนยุบลงไปได้
แต่ถ้าเป็นก้อนใหญ่ มีอาการเจ็บ ปวด หรือลองนั่งแช่น้ำอุ่นแล้วไม่หาย ให้รีบไปพบแพทย์อย่างที่เราแนะนำนะคะ ซึ่งแพทย์ก็จะตรวจวินิจฉัยว่าฝีที่เป็นนั่นก้อนใหญ่หรือเล็ก มีหนองไหม หากต่อมบาร์โธลินอักเสบมาก มีขนาดโตจนเป็นปัญหาต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน แพทย์ก็จะทำการกรีดผนังถุงน้ำและเย็บผนังถุงน้ำยึดติดกับผิวหนังอีกครั้งหนึ่งเพื่อช่วยเปิดปากแผลเพื่อให้เมือกที่คั่งอยู่ในถุงน้ำไหลออกมา ส่งผลให้ถุงน้ำยุบตัวลง
ทว่าหากมีอาการต่อมบาร์โธลินอักเสบซ้ำ เกิดฝีขึ้นที่น้องสาวอีกรอบ เคสนี้แพทย์อาจทำการผ่าตัดขูดหัวหนองหรือถุงน้ำในต่อมบาร์โธลิน ซึ่งจะช่วยลดโอกาสเกิดการอักเสบซ้ำได้
ต่อมบาร์โธลินอักเสบ แตกเอง อันตรายไหม
ในกรณีที่ถุงน้ำในต่อมบาร์โธลินแตกเอง โอกาสที่หนองจะแตกกระจายไปยังอวัยวะส่วนต่าง ๆ ก็มีมาก ซึ่งก็อาจส่งผลให้เสี่ยงการติดเชื้อในร่างกายเพิ่มมากขึ้นได้ โดยเฉพาะหากฝีแตกแล้วไม่รีบไปล้างแผลและรับยาที่ถูกอาการ อาการอักเสบติดเชื้ออาจลุกลามจนคาดไม่ถึงและนำมาซึ่งโรคที่อันตรายกว่าเดิมได้นะคะ ดังนั้นหากพบความผิดปกติของร่างกายตัวเอง ก็ไม่ควรละเลยหรือเพิกเฉยจนเรื่องบานปลาย
วิธีป้องกันต่อมบาร์โธลินอักเสบ สามารถป้องกันได้ง่าย ๆ เพียงปฏิบัติตัวตามนี้ค่ะ
- ดูแลสุขอนามัยของตัวเองให้ดี
- ไม่สวมกางเกงรัดรึง หรือเสื้อผ้าที่อึดอัด อากาศถ่ายเทได้ไม่สะดวกจนก่อให้เกิดอาการหมักหมม
- ไม่นั่งในท่าเดิมนาน ๆ
- ควรเปลี่ยนผ้าอนามัยทุก ๆ 3-4 ชั่วโมง และหลีกเลี่ยงการใส่ผ้าอนามัยชิ้นเดิมเป็นเวลานาน
- ควรป้องกันทุกครั้งก่อนมีเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะการใส่ถุงยางอนามัยจะช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้มาก
เรื่องภายในที่สาว ๆ ควรรู้และควรระวังอย่างต่อมบาร์โธลินอักเสบ หากเกิดกับตัวเองก็อย่าอายที่จะไปตรวจภายในเลยนะคะ เพราะหากพบความผิดปกติและรักษาได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็ย่อมดีกว่าปล่อยความผิดปกตินั้นไว้จนเป็นอันตรายต่อร่างกายและสุขภาพ
ขอบคุณข้อมูลจาก
- สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ
- รายการพบหมอรามา
- รายการชูรักชูรส
- โรงพยาบาลรามคำแหง