เผยพยาธิ 5 ชนิด มักปนเปื้อนในผัก-ของดิบ เตือนคันก้น ระวังพยาธิวางไข่

          อย. เผยชื่อพยาธิ 5 ชนิด ที่มักปนเปื้อนอยู่ในอาหาร แนะอาการเสี่ยงมีพยาธิในร่างกาย รอยบวมแดงเคลื่อนตำแหน่ง-คันก้น ระวังพยาธิวางไข่ ชี้ ความเชื่อบีบมะนาวฆ่าตัวอ่อน ไม่จริง
พยาธิ

          จากกรณีกระแสข่าวเรื่องของพยาธิที่ปนเปื้อนในอาหารมีมาให้เห็นอยู่เรื่อย ๆ แม้ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่ก็มีคนไม่น้อยที่ยังคงสงสัยและมีคำถามผุดขึ้นมาเกี่ยวกับพยาธิ อาทิ พยาธิมีกี่ชนิด พบในอาหารใดบ้าง หรือมีวิธีหลีกเลี่ยงป้องกันอย่างไร รวมถึงจำเป็นหรือไม่ที่ต้องถ่ายพยาธิเป็นประจำทุกปีนั้น

          เกี่ยวกับเรื่องนี้ (27 เมษายน 2561) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้เผยแพร่ข้อความไขข้อข้องใจเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ผ่านเพจเฟซบุ๊ก Fda Thai ว่า พยาธิจะมี 5 ชนิดที่มักพบในอาหารประเภทดังต่อไปนี้

พยาธิ

          1. พยาธิใบไม้ตับ มักพบในอาหารที่ทำจากปลาน้ำจืดที่ไม่สุก เช่น ปลาร้าดิบ ส้มปลา เป็นต้น

          2. พยาธิตัวตืด พบในเนื้อหมู-วัว ที่ปรุงไม่สุก และสามารถมองเห็นตัวอ่อนของพยาธิตัวตืดได้ด้วยตาเปล่า ซึ่งมีลักษณะเป็นเม็ดสาคู หรือแม้กระทั่งในผักสดที่ล้างไม่สะอาด ก็จะมีไข่พยาธิปนเปื้อนด้วย

          3. พยาธิไส้เดือนและพยาธิแส้ม้า พบในผักผลไม้ที่ล้างไม่สะอาด อาหารไม่สะอาดปนเปื้อนไข่พยาธิ มีแมลงวันตอม หรือหยิบของที่ตกบนพื้นดินเข้าปาก

          4. พยาธิตัวจี๊ด พบในเนื้อสัตว์ที่ปรุงไม่สุก เช่น ปลา ไก่ กบ เป็นต้น

          5. พยาธิอะนิซาคิส พบในอาหารประเภทปลาทะเลที่ไม่สุก ปลาดิบ เป็นต้น

          ส่วนวิธีหลีกเลี่ยงพยาธิเหล่านี้ไม่ให้เข้าสู่ร่างกาย ควรเลือกซื้ออาหารที่สดใหม่สะอาด หากเป็นเนื้อสัตว์ต้องสังเกตดูว่า มีตัวอ่อนพยาธิ ซึ่งมีลักษณะเป็นเม็ดสาคูปนเปื้อนหรือไม่ และไม่หยิบของที่ตกบนพื้นแล้วเข้าปาก อีกทั้งควรเลี่ยงการรับประทานอาหารดิบ หรือสุกด้วยความร้อนไม่เพียงพอ

พยาธิ

          สำหรับความเชื่อที่ว่า การบีบมะนาวเป็นการฆ่าตัวอ่อนพยาธินั้น เป็นความเชื่อที่ผิด ตามหลักความจริงแล้วแทบจะไม่มีผลเลย น้ำมะนาวแค่ทำให้เนื้อสัตว์เปลี่ยนสีเท่านั้น ส่วนผักสดหากจะรับประทานดิบ ๆ ควรจะล้างด้วยน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง ที่สำคัญล้างมือให้สะอาดก่อนทำอาหารและรับประทานอาหารด้วย

          ทั้งนี้ ไม่จำเป็นต้องใช้ยาถ่ายพยาธิประจำปี หากไม่ได้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคพยาธิ เช่น อยู่ในพื้นที่ชุกชุมของโรคสูง หรือมีพฤติกรรมเสี่ยงสูงต่อการได้รับพยาธิ อาทิ ชอบกินเนื้อสัตว์สุก ๆ ดิบ ๆ เป็นประจำ

          แต่อย่างไรก็ตาม หากมีอาการผิดปกติที่สงสัย เช่น ท้องอืด ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อ่อนเพลีย มีรอยบวมแดงบนผิวหนังที่เคลื่อนตำแหน่งไปเรื่อย ๆ หรืออาการคันก้น เนื่องจากพยาธิบางชนิดจะออกมาวางไข่รอบ ๆ ทวารหนักตอนกลางคืน เป็นต้น ควรไปพบแพทย์ตรวจวินิจฉัย และรักษาด้วยยาถ่ายพยาธิที่เหมาะสมกับชนิดพยาธิที่ได้รับนั้น ๆ

พยาธิ
​ภาพจาก saltandpepperthearth

ภาพและข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก Fda Thai, oryor.com

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เผยพยาธิ 5 ชนิด มักปนเปื้อนในผัก-ของดิบ เตือนคันก้น ระวังพยาธิวางไข่ โพสต์เมื่อ 27 เมษายน 2561 เวลา 16:00:07 54,255 อ่าน
TOP
x close