โรคชอบเปรียบเทียบ คิดว่าเราด้อยกว่าคนอื่น พลิกฟื้นตัวเองยังไงดี

          ชอบเปรียบเทียบกับคนอื่นจนรู้สึกว่าเราด้อยกว่าใคร  หรือคนไหนก็เจ๋งไม่เท่าเรา อยากเลิกเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น ควรทำยังไงดี

โรคชอบเปรียบเทียบ

          การเปรียบเทียบเป็นเรื่องปกติของมนุษย์เราก็จริง แต่บางคนก็หมกมุ่นครุ่นคิดถึงการเปรียบเทียบไม่ยอมจบ จนกระทบต่อการใช้ชีวิต บ้างก็คิดว่าทำไมใคร ๆ ก็เก่ง สวย รวย โชคดีกว่าเราเป็นไหน ๆ สุดท้ายก็มานั่งกลุ้มใจ ท้อแท้กับชีวิตของตัวเองจนจิตตกวุ่นวายไปหมด แต่สำหรับบางคนก็เลือกจะเปรียบเทียบกับคนที่ด้อยกว่า แล้วคิดว่าตัวเองนั้นอยู่เหนือกว่าใครทั้งปวง หน้ามืดตามัวอยู่กับความดีเด่นของตัวเองจนมองไม่เห็นข้อด้อย ข้อบกพร่อง และไม่สามารถพัฒนาตัวเองต่อไปได้อีก

          ใครรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนที่ชอบเปรียบเทียบอย่างที่ว่ามา แล้วคิดว่าอยากเลิกเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นให้ได้ ลองมาทำความเข้าใจโรคชอบเปรียบเทียบ แล้วมาเลิกนิสัยชอบเปรียบเทียบไปด้วยกัน

โรคชอบเปรียบเทียบ

โรคชอบเปรียบเทียบ คืออะไร

          ศ. นพ.มาโนช หล่อตระกูล จิตแพทย์จากภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคชอบเปรียบเทียบตัวเองไว้ว่า โรคชอบเปรียบเทียบไม่ใช่โรคที่ถูกบัญญัติไว้ในตำราจิตเวชศาสตร์ ทว่าภาวะนี่ก็จัดเป็นกลุ่มอาการที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดความทุกข์ใจจนกระทั่งใช้ชีวิตประจำวันติดขัด มีปัญหากับเพื่อน กับครอบครัว หรือคนรอบข้าง และจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือให้หลุดพ้นจากความคิดชอบเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น ทางจิตเวชจึงเรียกภาวะนี้ว่าโรค เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้นว่าผู้ป่วยควรได้รับการเยียวยารักษา

          อย่างไรก็ตาม โรคชอบเปรียบเทียบแบ่งออกได้ 2 แบบ คือ เปรียบเทียบกับคนที่เหนือกว่าเรา ทำให้เรารู้สึกด้อยกว่าคนอื่น และเปรียบเทียบกับคนที่ด้อยกว่าเราจนทำให้เรารู้สึกเหนือกว่า ทว่ามักจะพบภาวะเปรียบเทียบตัวเองกับคนที่เหนือกว่ามากกว่าภาวะเปรียบเทียบตัวเองในแบบที่ 2

โรคชอบเปรียบเทียบ

โรคชอบเปรียบเทียบ เกิดจากอะไร

          นอกจากสัญชาตญาณของมนุษย์และปัจจัย 4 แล้ว ยังมีความเชื่อว่าภาวะชอบเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นอาจมีผลมาจากสื่อสังคมออนไลน์ โซเชียลในยุคปัจจุบันที่เปิดโอกาสให้คนเราได้แชร์ชีวิตส่วนตัวของตัวเองมากขึ้น เช่น ไปไหน กินอะไร อยู่กับใคร ทำอะไรที่ไหน ทำอาชีพอะไร ตำแหน่งงานเป็นอย่างไร ขับรถยี่ห้ออะไร บ้านใหญ่โตแค่ไหน ฯลฯ ส่งผลให้เกิดการเปรียบเทียบได้ง่ายขึ้นกว่าเดิมค่อนข้างมาก อีกทั้งสังคมรอบข้างที่คอยกดดัน ผู้ปกครองมีพฤติกรรมชอบเปรียบเทียบลูกตัวเองกับลูกบ้านอื่น ปัจจัยนี้ก็เป็นสาเหตุให้บุคคลยึดติดกับการเปรียบเทียบจนคิดเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นอยู่เรื่อย ๆ ก็เป็นได้

          อย่างไรก็ตาม มักจะพบโรคชอบเปรียบเทียบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และมักจะพบโรคชอบเปรียบเทียบในวัยรุ่นตอนต้น วัยผู้ใหญ่ที่เพิ่งเริ่มทำงาน และวัยสูงอายุที่มักเปรียบเทียบตนเองกับความรุ่งเรืองในอดีต

โรคชอบเปรียบเทียบ

ชอบเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น แบบไหนเข้าข่ายเป็นโรค

          การเปรียบเทียบเป็นเรื่องปกติของมนุษย์เรา บางคนอาจจะถูกผู้อื่นเปรียบเทียบ หรือเราเองไปเปรียบเทียบคนนั้นกับคนนี้ก็มี ซึ่งในทางบวก การเปรียบเทียบอาจทำให้เราอยากพัฒนาตัวเอง ปรับปรุงตัวเองให้เป็นแบบเขาให้ได้

          ทว่าอาการของผู้ที่มีความคิดเปรียบเทียบจนเข้าข่ายเป็นโรคหรือภาวะทางจิตเวชที่ควรได้รับการรักษา ก็จะจำแนกโดยความถี่ของการคิดเปรียบเทียบ หากคิดวนเวียนซ้ำ ๆ คิดเปรียบเทียบกับทุกสิ่งทุกอย่างแล้วทำให้ใจเป็นทุกข์ เปรียบเทียบจนชีวิตไม่มีความสุข ยิ่งคิดยิ่งจิตตกไปเรื่อย ๆ หรือรู้สึกเจ็บปวด ยอมแพ้ เวลาไปเปรียบเทียบกับเขา อาจหาทางคิดทำลายคนอื่นแทนที่จะพยายามปรับปรุงตัวเอง หรือยอมทุ่มเททำทุกอย่างเพื่อให้มีอย่างคนอื่นเขา แบบนี้ต้องสงสัยว่าความคิดเปรียบเทียบของตัวเราเป็นพิษเข้าแล้วล่ะค่ะ

โรคชอบเปรียบเทียบ

ชอบเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น อาการเป็นอย่างไร

          - รู้สึกน้อยใจในโชคชะตา มีความท้อแท้เมื่อเห็นคนอื่นมีชีวิตดี ๆ โชคดี

          - รู้สึกโกรธผู้อื่นเพียงเพราะคิดว่าเขาเก่งกว่า ดีกว่าตัวเองในทุก ๆ ด้าน บ้างก็เลี่ยงการพบปะ ไม่ชอบหน้า เสียมิตรภาพอย่างไม่สมเหตุสมผล

          - คิดเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นจนจิตตก รู้สึกโศกเศร้า ไม่ค่อยพูดค่อยจากับใคร ไม่มีอารมณ์อยากทำอะไร และบางครั้งอาจมีความคิดที่จะทำร้ายตัวเอง

          - เริ่มมีอาการโรคซึมเศร้า

โรคชอบเปรียบเทียบ

โรคชอบเปรียบเทียบ แก้ยังไงดี

          ถ้าความคิดชอบเปรียบเทียบตัวเองเริ่มบั่นทอนความสุขในทุก ๆ วัน ลองเลิกเปรียบเทียบตัวเองด้วยวิธีเหล่านี้ก็ได้ค่ะ

          - ฝึกมองข้อดีของตัวเอง มองหาจุดแข็งของตัวเอง อาจจดบันทึกไว้ว่าเรามีความสามารถพิเศษอะไร มีข้อดีตรงไหน ผลงานเด่น ๆ ที่ประสบความสำเร็จคืออะไร มีเรื่องไหนที่สร้างความภาคภูมิใจให้เราได้บ้าง เวลาหยิบมาอ่านจะได้รู้สึกสบายใจ แล้วจะพบว่าเราไม่ได้ด้อยไปกว่าใคร

          - หากยังติดนิสัยชอบเปรียบเทียบ แนะนำให้เปรียบเทียบตัวเองกับสิ่งที่ใกล้เคียงความเป็นตัวเรา เช่น เปรียบเทียบผลการเรียนของตัวเองกับของเพื่อนในห้อง แทนที่จะเปรียบเทียบผลการเรียนของตัวเองกับนักเรียนที่ไปแข่งขันทางวิชาการระดับประเทศหรือระดับชาติ วิธีนี้จะช่วยลดความแตกต่างของตัวเองกับสิ่งที่เราเปรียบเทียบได้มาก

          - จำแนกความคิดของตัวเองด้วยตาราง 3 ช่อง ช่องแรกให้เขียนสิ่งที่เราเปรียบเทียบ ช่องที่สองให้เขียนเรื่องที่เราเปรียบเทียบ และช่องสุดท้ายให้เขียนความรู้สึกของตัวเองในขณะที่คิดเปรียบเทียบ วิธีทางจิตวิทยานี้จะช่วยให้เรามองเห็นความคิดของตัวเองได้ชัดเจนขึ้น ที่สำคัญอาจจะช่วยให้มองเห็นความเป็นจริงมากขึ้นด้วยว่า ความแตกต่างระหว่างเรากับสิ่งที่เราคิดเปรียบเทียบ ไม่ได้ด้อยหรือเด่นไปกว่ากันสักเท่าไร

          - ฝึกมองโลกในแง่ดี ฝึกวิธีคิดบวกกับตัวเอง

โรคชอบเปรียบเทียบ

          - พอใจกับสิ่งที่ตัวเองมี ตัวเองเป็น ไม่ต้องไปเปรียบเทียบกับคนอื่น จงรักและภูมิใจในสิ่งที่เราเป็นดีที่สุด

          - มั่นใจตัวเอง เชื่อมั่นตัวเองให้มากขึ้นว่าเราก็ทำได้ เราก็มีดี

          - พิจารณาความเป็นจริงว่าการที่คนอื่นดีกว่าเรา ไม่ได้ทำให้คุณค่าของเราลดลง เช่น คนอื่นรวยก็จริง แต่ก็ไม่ได้ทำให้เงินเราหดหายไป

          - อย่าคิดว่าสิ่งที่เห็นเป็นจริงทั้งหมด เพราะคนเรามีหลายด้าน เราอาจเห็นเพียงแค่ด้านเดียวของเขาเท่านั้น บางทีสิ่งที่คนอื่นมี อาจต้องแลกมาด้วยอะไรบางอย่างก็ได้ เช่น เพื่อนที่มีรายได้สูง แต่ต้องแลกกับการทำงานหามรุ่งหามค่ำจนล้มป่วยเป็นประจำ และอาจไม่มีเวลาได้อยู่กับครอบครัว ชีวิตเขาอาจจะไม่ได้มีความสุขอย่างที่เราเห็นก็เป็นได้ ดังนั้นเราไม่จำเป็นต้องเปรียบเทียบกับเขา จะได้ไม่ต้องจมอยู่กับความสิ้นหวังว่าทำไมเราถึงไม่เป็นอย่างเขา

โรคชอบเปรียบเทียบ

          - หากหมดกำลังใจหรือท้อแท้ คิดว่าตนเองแย่ที่สุดแล้ว ลองเปรียบเทียบตัวเองกับคนที่ด้อยกว่าเรา บางคนมีชีวิตที่ยากลำบาก ต้องปากกัดตีนถีบต่อสู้ชีวิต หรือเผชิญกับความทุกข์ทรมานมากมาย แต่เราอาจจะยังโชคดีกว่าเขาที่ยังมีงานทำ ยังหาเงินได้ หรือยังสามารถช่วยเหลือคนที่ลำบากกว่าเราได้ เพื่อที่จะได้มีกำลังใจสู้ต่อไป

          - ปรึกษาจิตแพทย์เพื่อรับคำแนะนำที่ตรงจุด ในกรณีที่ลองปรับความคิดแล้วยังไม่ช่วยให้รู้สึกดีขึ้นเลย ก็อาจจะต้องใช้วิธีบำบัดตามหลักจิตวิทยาอื่น ๆ ที่เหมาะสมกับอาการป่วยของแต่ละบุคคล

          อย่างไรก็ตาม วิธีเลิกคิดเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นที่ช่วยแก้ได้ดีที่สุดคือการมองสิ่งที่ดีของตัวเอง การรู้จักข้อดีของตัวเอง และความรู้สึกภาคภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองมีและตัวเองเป็น วิธีนี้จะช่วยให้เราสนใจตัวเองมากขึ้นและนึกถึงผู้อื่นน้อยลง ส่งผลให้เกิดความคิดเปรียบเทียบลดน้อยลงตามไปด้วยนั่นเองค่ะ และถ้ารู้ตัวว่าเป็นคนชอบคิดเปรียบเทียบจนเป็นทุกข์ ลองปรึกษาจิตแพทย์เพื่อหาคำแนะนำที่ดีด้วยก็นะ


ภาพจาก unsplash

ขอบคุณข้อมูลจาก
รายการ Rama Square
Rama Chanel
กรมสุขภาพจิต
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรคชอบเปรียบเทียบ คิดว่าเราด้อยกว่าคนอื่น พลิกฟื้นตัวเองยังไงดี อัปเดตล่าสุด 28 สิงหาคม 2563 เวลา 13:03:38 69,951 อ่าน
TOP
x close