x close

กรมสุขภาพจิต เตือนผู้ปกครองอย่าเมินปัญหาลูกก้าวร้าว ชี้เสี่ยงโตเป็นอันธพาล

          กรมสุขภาพจิต เตือนผู้ปกครอง อย่าเมินปัญหา ก้าวร้าว ของลูก ชี้ร้อยละ 40 โตขึ้นอาจเสี่ยงเป็น นักเลงอันธพาล !
เด็กก้าวร้าว

          กรมสุขภาพจิต ย้ำเตือนผู้ปกครองอย่าเมินปัญหาลูกก้าวร้าว รังแกทำร้ายทั้งคนอื่น-ทรัพย์สิน-สิ่งมีชีวิตหรือพูดจาหยาบคาย ชี้ไม่ใช่ลักษณะเด็กที่มีความกล้าตามปกติ  แต่เป็นโรคทางพฤติกรรมที่ต้องรีบแก้ไข ปรับรูปแบบการเลี้ยงดูหรือพาไปบำบัดรักษาตั้งแต่เด็ก จะมีโอกาสดีขึ้น หากปล่อยไว้เมื่อโตขึ้นกว่าร้อยละ 40 อาจกลายเป็นนักเลงอันธพาล เผยผลสำรวจล่าสุดในปี 2559 พบวัยเรียนอายุ 13-17 ปี เป็นโรคพฤติกรรมเกเรก้าวร้าว 1.5 แสนคน ทั่วประเทศ 

          วันที่ 3 มิถุนายน 2561 นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ว่า ปัญหาใหญ่ที่พบได้บ่อยในเด็กวัยเรียนและวัยรุ่นขณะนี้คือความก้าวร้าว เกเรรุนแรง ซึ่งจัดเป็นโรคทางพฤติกรรมชนิดหนึ่งของเด็ก เรียกว่าโรคพฤติกรรมเกเรก้าวร้าว (conduct disorder) ต้องได้รับการกล่อมเกลาบำบัดรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่ยังเล็กจะช่วยให้ดีขึ้น แต่ที่ผ่านมาพ่อแม่ยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าความก้าวร้าวเป็นการพัฒนาความกล้าแสดงออกของเด็กปกติทั่ว ๆ ไป จึงไม่ห้ามปราม โรคนี้หากปล่อยไปเรื่อย ๆ เมื่อเด็กโตขึ้น กว่าร้อยละ 40 อาจทำให้เป็นนักเลงอันธพาลได้ และนำมาสู่ปัญหาอื่น ๆ ตามมา เช่น เกิดความขัดแย้งในครอบครัว ปัญหาการเรียน ปัญหายาเสพติด และพฤติกรรมทางเพศก่อนวัยอันควร

          จากผลสำรวจของกรมสุขภาพจิตในปี 2559 ในกลุ่มเด็กและเยาวชนอายุ13-17 ปีที่มีประมาณ 4 ล้านกว่าคน พบเป็นโรคพฤติกรรมเกเรก้าวร้าว ร้อยละ 3.8 คาดว่ามีประมาณ 1.5 แสนคนทั่วประเทศ ส่วนใหญ่เป็นชาย

          สาเหตุที่ทำให้เด็กก้าวร้าวมีหลายปัจจัย ส่วนหนึ่งมาจากพื้นฐานของเด็กที่เป็นเด็กเลี้ยงยาก เจ้าอารมณ์ ซึ่งมีประมาณร้อยละ 15 หรืออาจเกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมอง เช่นเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น โรคออทิสติก โรคซึมเศร้า และสมองพิการ  หรือมาจากสภาพสังคมสิ่งแวดล้อมซึ่งพบว่าเด็กที่ดูหนัง เล่นเกมที่มีเนื้อหาต่อสู้รุนแรงบ่อย ๆ จะมีผลให้เด็กมีจิตใจฮึกเหิม อยากเลียนแบบ แต่ปัจจัยที่เป็นสาเหตุสำคัญที่สุดก็คือครอบครัวและการเลี้ยงดู

          อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า การเลี้ยงดูที่ทำให้เด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าวมี 7 รูปแบบ ได้แก่

          1. เลี้ยงแบบทอดทิ้งไม่เอาใจใส่ดูแล
          2. ใช้วิธีลงโทษเด็กรุนแรง
          3. เลี้ยงแบบตามใจเด็ก เพราะกลัวเด็กไม่รัก 
          4. ครอบครัวมีการทะเลาะวิวาท ด่าทอ ตบตีกันให้เด็กเห็นบ่อย ๆ 
          5. ชอบแหย่เด็กหรือยั่วยุอารมณ์ให้เด็กโมโห 
          6. การเลี้ยงดูเด็กที่ขาดการจัดระเบียบวินัยความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน
          7. การให้ท้ายเด็กเมื่อทำผิด ทำให้เด็กคิดว่าเรื่องผิดเป็นเรื่องถูกต้อง
     
         ทางด้านแพทย์หญิงกุสุมาวดี คำเกลี้ยง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น กล่าวว่า  พฤติกรรมก้าวร้าว เช่นการโต้เถียงผู้ใหญ่พบในเด็กทั่วไปได้ เมื่อโตขึ้นพฤติกรรมจะลดลงเรื่อย ๆ แต่หากเด็กมีพฤติกรรมดังต่อไปนี้จะเข้าข่ายว่ามีพฤติกรรมเกเรก้าวร้าวรุนแรง ได้แก่ ทำร้ายคนอื่น ทำลายทรัพย์สิน ทำร้ายหรือทรมานสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ฉ้อโกงหรือขโมย ละเมิดกฎอย่างรุนแรงเช่นหนีออกจากบ้าน หนีโรงเรียน ซึ่งในเด็กผู้ชายมักเป็นในช่วงอายุ 10-12 ปี ผู้หญิงจะเป็นในช่วงอายุ  14-16 ปี

          การแก้ไขและป้องกันปัญหาเด็กก้าวร้าว จะต้องเริ่มตั้งแต่ในวัยเด็ก มีข้อแนะนำ 7 ประการ ดังนี้

          1. ผู้ใหญ่ควรควบคุมให้เด็กหยุดความก้าวร้าวด้วยความสงบ เช่น ใช้การกอดหรือจับให้เด็กหยุด หลังจากที่เด็กอารมณ์สงบแล้ว ควรพูดคุยถึงสาเหตุที่ทำให้เด็กไม่พอใจจนแสดงความก้าวร้าว เพื่อให้เด็กได้ระบายออกเป็นคำพูด 

          2. ต้องไม่ใช้ความรุนแรงเข้าไปเสริม การลงโทษอย่างรุนแรงในเด็กที่ก้าวร้าวไม่ช่วยให้ความก้าวร้าวดีขึ้น เด็กอาจหยุดพฤติกรรมชั่วครู่ แต่สุดท้ายก็จะกลับมาแสดงพฤติกรรมนั้นอีก อาจเรื้อรังไปจนโตเป็นผู้ใหญ่ได้ 

          3. ไม่ควรมีข้อต่อรองกันขณะเด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าว

          4. ควรเริ่มฝึกฝนเด็กตั้งแต่อายุ 3 ขวบให้รู้จักควบคุมอารมณ์ตัวเองเช่นฝึกให้แยกตัวเมื่อรู้สึกโกรธ  

          5. ฝึกให้เด็กรู้จักเห็นอกเห็นใจ มีจิตใจโอบอ้อมอารีแก่คน สัตว์ หรือสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ

          6. หลีกเลี่ยงการตำหนิว่ากล่าวเปรียบเทียบ เพราะจะทำให้เด็กมีปมด้อย รวมทั้งการข่มขู่หลอกให้กลัว หรือยั่วยุให้เด็กมีอารมณ์โกรธ เนื่องจากเด็กจะซึมซับพฤติกรรมและนำไปใช้กับคนอื่นต่อ

          7. ผู้ใหญ่ต้องเป็นตัวอย่างของความปรองดองเป็นมิตรต่อกัน และมีวินัย

          ทั้งนี้หากพฤติกรรมเด็กยังไม่ดีขึ้น ควรพาไปพบแพทย์ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อหาสาเหตุและแก้ไขปัญหาเหล่านี้ตั้งแต่ในระยะแรก ซึ่งมีความจำเป็นมาก เพราะจะช่วยลดความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคต และง่ายกว่ามาแก้ไขพฤติกรรมเมื่อโตเป็นวัยรุ่น หรือมีปัญหาเป็นคดีความแล้ว 


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กรมสุขภาพจิต เตือนผู้ปกครองอย่าเมินปัญหาลูกก้าวร้าว ชี้เสี่ยงโตเป็นอันธพาล อัปเดตล่าสุด 4 มิถุนายน 2561 เวลา 11:16:54 10,756 อ่าน
TOP