สธ. ประกาศเตือน ไวรัสนิปาห์ เป็นโรคติดต่ออันตราย ยันไทยยังไม่พบผู้ป่วย


         กระทรวงสาธารณสุข ประกาศเตือน "ไวรัสนิปาห์" เป็นโรคติดต่ออันตราย เฝ้าระวัง-คัดกรองนักท่องเที่ยวเข้าไทย หลังแพร่ระบาดอินเดียมีคนเสียชีวิตแล้ว 14 ราย
ไวรัสนิปาห์

         เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2561 กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศให้โรคติดเชื้อ "ไวรัสนิปาห์" (Nipah) เป็น "โรคติดต่ออันตราย" ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เพื่อยกระดับให้มีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องและหากพบผู้ป่วยจะต้องรายงานโดยเร็วภายในเวลาไม่เกิน 3 ชั่วโมง และทำการสอบสวน พร้อมเฝ้าระวังและคัดกรองผู้ที่เดินทางเข้าประเทศโดยเฉพาะจากประเทศอินเดีย เพื่อเป็นการควบคุมโรคไม่ให้แพร่ระบาด

         ภายหลังไวรัสนิปาห์หรือโรคไข้สมองอักเสบนิปาห์ แพร่ระบาดในเมืองโคชิโคด ในรัฐเกรละ ทางภาคใต้ของประเทศอินเดีย ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 10 ราย โดยโรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์เป็นเชื้อที่ติดต่อกันผ่านสารคัดหลั่งและสามารถติดต่อจากสัตว์ไปสู่คน เมื่อติดเชื้อแล้วมีโอกาสเสียชีวิตสูงถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ปัจจุบันยังไม่มียารักษาหรือวัคซีนป้องกัน


         ด้านนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค เผยว่า กรมควบคุมโรค ขอให้ข้อมูลว่าในประเทศไทยยังคงต้องเฝ้าระวังการติดเชื้อไวรัสดังกล่าวอย่างต่อเนื่องทั้งประเทศที่มีการระบาดและภายในประเทศไทยด้วยเช่นกัน เนื่องจากโรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์มีพาหะนำโรคคือค้างคาวผลไม้ที่พบในไทย อย่างไรก็ตามขอให้ประชาชนตระหนักและป้องกันตนเอง แต่อย่าตระหนกตกใจ ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคดังกล่าวจากค้างคาวผลไม้ หรือสัตว์อื่น ๆ จะขึ้นอยู่กับการสัมผัสใกล้ชิดของพาหะนำโรค เช่น เลือด มูลของสัตว์ หรือน้ำลาย หากหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับเชื้อในสารคัดหลั่งต่าง ๆ จะสามารถลดโอกาสต่อการเกิดโรคได้มาก

         นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำผู้ที่ทำอาชีพเก็บน้ำตาลว่า การลดการปนเปื้อนจากสัตว์ที่จะมากินน้ำตาลด้วยการมีสิ่งปกคลุมที่ปากภาชนะและดอกมะพร้าว เช่น ผ้า หรือ แพไม้ไผ่ จะสามารถลดความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนเชื้อได้ ก่อนรับประทานต้องมีการต้มให้เดือดก่อน เพื่อเป็นการทำลายเชื้อโรคอื่น ๆ และขอยืนยันว่าขณะนี้ไทยยังไม่มีผู้ป่วยโรคดังกล่าว แต่ก็ยังคงมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคได้ เนื่องจากพบว่าค้างคาวผลไม้ที่พบในไทยมีความคล้ายคลึงกับที่อินเดีย ขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการสัมผัสในระยะใกล้ชิดกับค้างคาวและสารคัดหลั่งของสัตว์พาหะนำโรค ได้แก่ ค้างคาวผลไม้ สุกร ม้า แมว แพะ แกะ ที่รับเชื้อมาจากค้างคาวผลไม้ รวมถึงหลีกเลี่ยงการรับประทานผลไม้ที่อาจปนเปื้อนน้ำลาย มูลสัตว์ หรือปัสสาวะของค้างคาวกินผลไม้ ไม่รับประทานผลไม้ที่ตกอยู่กับพื้น โดยเฉพาะที่มีรอยกัดแทะ และห้ามรับประทานเนื้อค้างคาว

         ทั้งนี้สำหรับสถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ ล่าสุดพบผู้ป่วยยืนยันแล้ว 16 ราย ผู้ต้องสงสัยและรอผลยืนยันอีก 12 ราย รวม 28 ราย  มีผู้เสียชีวิตแล้ว 14 ราย โดยขณะนี้มีความเสี่ยงต่อการป่วยตายสูงถึง 80 เปอร์เซ็นต์ แต่ในประเทศไทยยังไม่พบผู้ป่วย สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

ไวรัสนิปาห์

ไวรัสนิปาห์

ไวรัสนิปาห์

ไวรัสนิปาห์

ไวรัสนิปาห์

ไวรัสนิปาห์

ไวรัสนิปาห์

ไวรัสนิปาห์

ไวรัสนิปาห์

ภาพและข้อมูลจาก เฟซบุ๊ก ศูนย์เอราวัณ กรุงเทพมหานคร
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สธ. ประกาศเตือน ไวรัสนิปาห์ เป็นโรคติดต่ออันตราย ยันไทยยังไม่พบผู้ป่วย อัปเดตล่าสุด 4 มิถุนายน 2561 เวลา 11:11:48 43,775 อ่าน
TOP
x close