วิธีทำแผลกดทับ ดูแลผู้ป่วยนอนติดเตียงด้วยตัวเอง

          ผู้ป่วยนอนติดเตียงที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ หรือเคลื่อนไหวร่างกายได้น้อยมาก ๆ อาจจะมีปัญหาแผลกดทับที่เป็นแผลติดเชื้อ พุพอง ทำให้ญาติจำเป็นต้องรู้วิธีทำแผลกดทับ เพื่อช่วยบรรเทาความเจ็บปวดให้คนไข้ ซึ่งหากทำไม่ถูกวิธี แผลกดทับอาจยิ่งแย่กันไปใหญ่
วิธีทำแผลกดทับ


          แผลกดทับ (Bed sore หรือ Pressure sore) มักจะเกิดในกลุ่มผู้ป่วยที่มีปัญหาการเคลื่อนไหว เช่น ผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ หรือผู้ประสบอุบัติเหตุที่ทำให้ต้องเข้าเฝือก อยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนาน ๆ โดยแผลกดทับสามารถเกิดขึ้นได้ในหลายจุด ทั้งด้านหลังศีรษะ ไหล่ กระดูกสันหลัง ข้อศอก สะโพก เข่า ส้นเท้า ขึ้นอยู่กับว่าถูกกดทับในอิริยาบถนั่ง นอนคว่ำ หรือนอนหงาย ซึ่งเมื่อเกิดแผลกดทับแล้วก็จำเป็นที่จะต้องทำแผลกดทับ หรือรักษาแผลกดทับให้แห้ง ให้หาย เพื่อลดความทรมานกายของผู้ป่วย

          และวันนี้เราจะพามาดูวิธีทำแผลกดทับที่ถูกต้อง ช่วยลดโอกาสติดเชื้อที่แผลกดทับ พร้อมวิธีป้องกันการเกิดแผลกดทับกันค่ะ

วิธีทำแผลกดทับ

แผลกดทับ ระดับต่าง ๆ

          แผลกดทับแบ่งออกเป็น 4 ระดับ ดังนี้

แผลกดทับระดับที่ 1

          ผิวเป็นรอยแดง มีรอยช้ำเล็กน้อย จะสังเกตอาการแผลกดทับเบื้องต้นได้ด้วยสายตา หากพลิกตะแคงตัวผู้ป่วยแล้วรอยแดงจ้ำที่เกิดขึ้นไม่จางหายภายใน 30 นาที นั่นแปลว่ารอยแดงนั้นจะเกิดเป็นแผลกดทับระยะเริ่มต้น

แผลกดทับระดับที่ 2

          แผลกดทับระดับนี้จะมีการทำลายของชั้นผิวหนังเกิดขึ้น ผิวหนังมีลักษณะฉีกขาด หรืออาจเห็นแผลตื้น ๆ ลงไปในชั้นผิว เรียกได้ว่าระยะแผลงอกขยาย

แผลกดทับระดับที่ 3

          มีการทำลายชั้นผิวหนังในระดับที่ลึกลงไปถึงผิวหนังชั้นใน แต่ยังไม่ลึกถึงกระดูก และแผลยังไม่กลายเป็นพังผืดหรือเอ็นยึดกล้ามเนื้อ

แผลกดทับระดับที่ 4

          เป็นระยะที่แผลกดทับมีระดับความรุนแรงค่อนข้างมาก แผลมีความลึกลงไปถึงชั้นกล้ามเนื้อ กระดูก หรือโครงสร้างต่าง ๆ ของร่างกาย

แผลกดทับ

วิธีทำความสะอาดแผลกดทับ รักษาอย่างไรดี

          หลักในการทำความสะอาดแผลกดทับคือต้องสะอาด อุปกรณ์ต้องปลอดเชื้อ รวมไปถึงควรล้างมือให้สะอาดทั้งก่อนและหลังทำความสะอาดแผลกดทับด้วยนะคะ โดยวิธีทำความสะอาดแผลกดทับ มีดังนี้

แผลกดทับระดับที่ 1

          หากสังเกตเห็นรอยแดงบนผิวหนัง โดยเฉพาะจุดที่มีกระดูก จุดที่ผู้ป่วยนอนกดทับนาน ๆ ให้พลิกตัวผู้ป่วยบ่อยทุก 2 ชั่วโมง และใช้น้ำเกลือล้างทำความสะอาดรอบ ๆ แผล รวมทั้งหาวิธีป้องกันโอกาสเสี่ยงเกิดแผลกดทับ ด้วยการหาห่วงยางรองนั่ง หรือหาที่นอนลมป้องกันแผลกดทับมาให้ผู้ป่วยนอน

แผลกดทับระดับที่ 2

          ในกรณีที่แผลกดทับเป็นแผลลึกลงไปในชั้นผิวหนัง เป็นระยะแผลงอกขยาย ให้ล้างทำความสะอาดแผลด้วยน้ำเกลือ โดยต้องล้างมือให้สะอาดก่อนทำแผลให้ผู้ป่วย จากนั้นใช้น้ำเกลือทำความสะอาดรอบ ๆ แผลและภายในแผล ปิดแผลด้วยผ้าก๊อซหรือแผ่นแปะแผลกดทับ

วิธีทำแผลกดทับ

แผลกดทับระดับที่ 3

          แผลกดทับระดับที่ 3 มักจะเป็นแผลที่มีน้ำเหลือง หรือสารคัดหลั่งปนอยู่ในโพรงแผลด้วย ซึ่งควรใช้น้ำเกลือล้างแผลก่อน แล้วใช้น้ำยาฆ่าเชื้อล้างแผล โดยควรล้างให้ถึงโพรงแผลที่มีสารคัดหลั่งติดเชื้อปนอยู่ด้วย แล้วใช้ผ้าก๊อซหรือเจลปิดแผลกดทับปิดแผลอีกครั้ง

แผลกดทับ

แผลกดทับระยะที่ 4

          การดูแลแผลกดทับในระยะนี้อาจจำเป็นต้องล้างแผลทุกวัน วันละ 2 ครั้ง โดยล้างแผลด้วยน้ำเกลือ ตามด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ หรือหากแผลกดทับมีบริเวณกว้างและเป็นแผลลึกมาก ควรปรึกษาแพทย์หรือพยาบาลชำนาญการถึงแนวทางการดูแลแผลกดทับของผู้ป่วยเคสต่าง ๆ

          อย่างไรก็ตาม แผลกดทับจะมีความแตกต่าง รวมไปถึงข้อจำกัดที่ไม่เหมือนกันในแต่ละบุคคล ซึ่งก่อนจะมีการพาผู้ป่วยกลับมาพักฟื้นต่อที่บ้าน ทางโรงพยาบาลจะจัดเจ้าหน้าที่มาแนะแนวการดูแลและวิธีทำความสะอาดแผลกดทับให้ญาติผู้ป่วยอยู่แล้ว ดังนั้นจึงควรเก็บข้อมูล รายละเอียด และวิธีการทำแผลกดทับที่เหมาะสมกับตัวผู้ป่วยให้ได้มากที่สุดนะคะ

วิธีทำแผลกดทับ

วิธีดูแลผู้ป่วยแผลกดทับและป้องกันไม่ให้เป็นมากขึ้น

          นอกจากการทำความสะอาดแผลแล้ว การที่ผู้ป่วยจะหายได้เร็วขึ้น หรือป้องกันการเกิดแผลกดทับบริเวณใหม่ได้นั้น ผู้ดูแลอย่างเราต้องหมั่นใส่ใจผู้ป่วยในด้านอื่น ๆ ด้วยเช่นกันค่ะ โดยควรดูแลผู้ป่วยแผลกดทับ ดังนี้

          - พลิกตัวผู้ป่วยบ่อย ๆ อย่างน้อยทุก ๆ 2 ชั่วโมง โดยให้นอนตะแคง นอนหงาย นอนคว่ำกึ่งตะแคง สลับกันไปตามความเหมาะสม  เพื่อลดโอกาสเกิดแผลกดทับ เพราะการนอนท่าเดียวติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำให้เกิดแรงกดทับที่ปุ่มกระดูกนั้น ๆ และกลายเป็นแผลได้

วิธีทำแผลกดทับ

          - ใช้หมอน ฟองน้ำอย่างแข็ง หรือผ้านุ่ม ๆ มาสอดรองบริเวณหนังหุ้มกระดูก หรือปุ่มกระดูก เพื่อลดการเสียดสีและแรงกดทับ

วิธีทำแผลกดทับ



          - ควรมีผ้ารองยกเพื่อให้สามารถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยได้ง่าย

          - ดูแลผิวหนังของผู้ป่วยให้สะอาด ไม่อับชื้น เช็ดให้แห้ง โรยแป้งฝุ่น เพื่อไม่ให้เกิดแผลเปื่อย หรือผิวหนังถลอกง่าย ทั้งนี้หากพบว่าผู้ป่วยผิวแห้งแตก สามารถใช้โลชั่นทาผิวหนังได้

          - ดูแลด้านโภชนาการให้ผู้ป่วยได้รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ และอาหารที่ส่งเสริมสุขภาพผู้ป่วยได้ดี โดยเฉพาะอาหารประเภทโปรตีน เนื้อ นม ไข่ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อใหม่ให้ผู้ป่วยได้ และผัก-ผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง เพื่อเสริมภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยให้มีความแข็งแรง สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคที่อาจมาวอแวกับแผลกดทับได้

          - ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำเปล่ามาก ๆ เพื่อเพิ่มการไหลเวียนเลือด พร้อมช่วยให้สารอาหารและออกซิเจนไหลเวียนไปเลี้ยงแผลได้ดี ทำให้แผลหายเร็วขึ้น อีกทั้งยังป้องกันปัญหาผิวแห้ง

วิธีทำแผลกดทับ

          - รักษาความสะอาดบริเวณสถานที่พักรักษาตัวให้ปลอดโปร่ง มีอากาศถ่ายเท

          - ควรเลือกที่นอนที่มีการถ่ายเทอากาศได้ดี เช่น ที่นอนลม ที่นอนน้ำ ที่นอนฟองน้ำ เพื่อช่วยลดแรงต้านเมื่อมีแรงกดทับ แต่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ที่นอนหุ้มพลาสติก เพราะระบายอากาศได้ไม่ดี

          - หมั่นทำความสะอาดที่นอนของผู้ป่วย รวมทั้งผ้าปูที่นอนต้องสะอาดและเรียบตึง

          - ให้ผู้ป่วยนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ คือ 6-8 ชั่วโมง เพื่อให้ร่างกายมีเวลาซ่อมแซมตัวเอง

วิธีทำแผลกดทับ

          - ผู้ป่วยสามารถออกกำลังกายได้ตามความเหมาะสม เพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรง เลือดไหลเวียน เช่น ให้กำมือ ยกแขน ยกขา หากสามารถทำได้

          - หมั่นสังเกตว่ามีผิวหนังบริเวณใดเริ่มมีสีแดง ม่วง หรือดำ เกิดขึ้นหรือไม่ หากมี ต้องคอยเปลี่ยนท่า เพื่อไม่ให้บริเวณนั้นถูกกดทับอีก เพราะอาจทำให้เกิดแผลกดทับระดับที่ลึกขึ้น จนยากต่อการรักษา

          - ผู้ป่วยมักเป็นแผลกดทับ หรือผิวหนังอักเสบจากการสัมผัสสิ่งขับถ่าย ดังนั้นผู้ดูแลจึงควรรักษาความสะอาดให้มาก โดยหากผู้ป่วยอยู่บ้าน ควรใช้แผ่นรองซับ เพราะจะช่วยระบายอากาศได้ดีกว่าผ้าอ้อม และหมั่นตรวจดูอยู่เสมอ หากมีการขับถ่าย ควรเปลี่ยนแผ่นรองซับ อย่าปล่อยทิ้งไว้นานจนเกินไป

          - ทำความสะอาดผิวหนังบริเวณที่สัมผัสสิ่งสกปรกหลังการขับถ่ายด้วยน้ำเปล่า จากนั้นใช้น้ำเกลือ (NSS Nacl 0.9%) เทใส่สำลีทำความสะอาดผิวหนังบริเวณนั้น และสามารถใช้ปิโตรเลียมเจล เช่น วาสลีน ทาเคลือบผิวบาง ๆ ก่อนปูแผ่นรองซับ หรือใส่ผ้าอ้อมให้ผู้ป่วยได้ เพื่อให้ผิวหนังชุ่มชื้น และลดการเสียดสี

          อ้อ ! และนอกจากจะดูแลรักษาความสะอาดตัวผู้ป่วยแล้ว อย่าลืมดูแลสุขอนามัยของตัวเอง โดยเฉพาะช่วงก่อนและหลังทำแผลด้วยนะคะ เพื่อลดโอกาสเสี่ยงติดเชื้อให้แผลกดทับของผู้ป่วยยิ่งเป็นหนักมากขึ้นไปอีก

ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิธีทำแผลกดทับ ดูแลผู้ป่วยนอนติดเตียงด้วยตัวเอง อัปเดตล่าสุด 2 สิงหาคม 2561 เวลา 16:31:05 127,303 อ่าน
TOP
x close