x close

คิดให้รอบคอบ มองให้รอบด้าน การดื่มกับภาวะสมองเสื่อม

ผศ.ดร.นพ. อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว

ผู้เขียน ผศ. ดร.นพ. อุดมศักดิ์  แซ่โง้ว
นักวิชาการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยระบบสุขภาพและการแพทย์ (CE-HSMR) มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

          เป็นที่ฮือฮากันพอสมควรสำหรับรายงานข่าวเกี่ยวกับงานวิจัยที่ว่า การเลิกดื่มแอลกอฮอล์ในวัยกลางคนเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดภาวะสมองเสื่อม ซึ่งข่าวนี้นำเสนอผลการวิจัยจากเรื่อง "Alcohol consumption and risk of dementia: 23 year follow-up of Whitehall II cohort study" โดย ดร. Séverine Sabia และคณะ ที่ลงตีพิมพ์ในวารสาร BMJ (1) เนื่องด้วยการดื่มแอลกอฮอล์ยังถือเป็นปัจจัยเสี่ยงทางด้านสุขภาพที่สำคัญ ก่อให้เกิดโรคได้กว่า 200 โรค (2) การนำเสนอผลเพียงว่าการดื่มแอลกอฮอล์ในระดับปานกลางช่วยลดการเกิดสมองเสื่อมนั้น เป็นการนำเสนอข้อมูลที่อาจจะยังไม่ครบถ้วนรอบด้าน

          ในบทความงานวิจัยเดียวกันนั้น ทีมนักวิจัยเองยังได้เขียนย้ำไว้ว่า ผลงานวิจัยนี้ไม่ควรใช้ไปเพื่อการส่งเสริมให้คนดื่มแอลกอฮอล์เพื่อป้องกันโรคสมองเสื่อม เราลองมาดูกันว่ามีเหตุผลอะไรบ้าง ทีมนักวิจัยจึงได้เขียนย้ำไว้เช่นนั้น

          ประการแรก คือ พฤติกรรมการดื่มในงานวิจัยชิ้นนี้เป็นการใช้ข้อมูลการดื่มในวัยกลางคน (ค่าเฉลี่ยของอายุผู้ตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับการดื่ม คือ 50.3 ปี) จึงเป็นไปได้ว่าผู้ที่ไม่ได้ดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงวัยกลางคน อาจจะเป็นผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงวัยรุ่นจนมีปัญหาทางสุขภาพจึงเลิกดื่มไป และการมีภาวะสมองเสื่อมอาจเป็นจากพฤติกรรมการดื่มในช่วงวัยรุ่น ไม่ใช่ช่วงวัยกลางคนก็เป็นได้ ข้อมูลจากงานวิจัยชิ้นเดียวกัน (ซึ่งไม่ได้มีการพูดถึงในบทความตามสื่อต่างๆ) เกี่ยวกับประเด็นนี้ คือ ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์แล้วเกิดปัญหาสุขภาพจนต้องนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลจะมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะสมองเสื่อมถึง 3 เท่า !!!

          ประเด็นถัดมา คือ กลุ่มที่มีภาวะสมองเสื่อมในงานวิจัยชิ้นนี้เป็นกลุ่มผู้หญิงที่มาจากกลุ่มรายได้ต่ำ เศรษฐานะต่ำ ซึ่งอาจจะมีปัจจัยทางสภาพแวดล้อมอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อม นอกเหนือจากเรื่องพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์

          ในงานวิจัยชิ้นนี้ นักวิจัยยังได้ค้นพบว่าโรคทางหัวใจหลอดเลือดและระบบเมตาบอลิซึม เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ระดับไขมันในเส้นเลือดสูง ซึ่งพบในกลุ่มที่ไม่ได้ดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงวัยกลางคนในสัดส่วนที่สูงกว่า อาจจะเป็นปัจจัยที่แท้จริงที่ก่อให้เกิดภาวะสมองเสื่อม

          นอกจากนี้ งานวิจัยชิ้นอื่น ๆ ที่ใช้กลุ่มตัวอย่างเดียวกันแต่ใช้เทคโนโลยีการวัดผลที่ล้ำหน้ากว่า เช่น การสุ่มตัวอย่างโดยใช้ข้อมูลทางพันธุกรรม (Mendelian randomization) หรือการตรวจสมองด้วยภาพถ่ายทางรังสีวิทยา (brain imaging) พบว่า ผู้ที่ไม่ดื่มเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงภาวะสมองเสื่อมต่ำที่สุด และยิ่งดื่มมากยิ่งเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้น ในขณะที่งานวิจัยชิ้นนี้ใช้เพียงข้อมูลจากแบบสอบถามและระบบทะเบียนการเจ็บป่วยเท่านั้น

          เหตุผลที่อาจกล่าวได้ว่าสำคัญที่สุดที่ไม่ควรนำผลงานวิจัยนี้ไปสนับสนุนให้ผู้คนดื่มแอลกอฮอล์นั้น ผู้อ่านจะเห็นได้ว่างานวิจัยชิ้นนี้ ได้นำเสนอข้อมูลภาวะสุขภาพเพียงภาวะเดียว คือ สมองเสื่อมเท่านั้น อย่างไรก็ตามมีผลจากงานวิจัยชิ้นอื่น ๆ ที่ทราบกันแน่ชัดแล้วว่า แอลกอฮอล์เพิ่มอัตราการเสียชีวิตในกลุ่มผู้ดื่มจากทุกสาเหตุการตาย (all-cause mortality) ภาวะความเสี่ยงทางสุขภาพที่สำคัญจากแอลกอฮอล์ คือ ภาวะตับแข็ง โรคทางจิตเวช และโรคมะเร็งในระบบอวัยวะต่าง ๆ (3) การดื่มแอลกอฮอล์เพื่อหวังว่าจะช่วยลดภาวะสมองเสื่อมจึงเพิ่มความเสี่ยงการเสียชีวิตจากโรคอื่น ๆ ไปพร้อม ๆ

          การใช้ผลการวิจัยมาเป็นข้อแนะนำในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางสุขภาพจึงจำเป็นต้องใช้ข้อมูลจากหลายงานวิจัยมาประกอบกัน จำเป็นต้องมีการนำเสนอข้อมูลที่รอบด้านและกระทำอย่างรอบคอบเพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด ๆ ในกลุ่มประชาชนทั่วไป การส่งเสริมให้ดื่มแอลกอฮอล์เพื่อหวังผลภาวะสุขภาพบางอย่างแต่เพิ่มความเสี่ยงในการเสียชีวิต เป็นการได้ที่ไม่คุ้มเสีย โดยเฉพาะในประเทศไทยที่ยังมีการดื่มแล้วขับจนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุกันทุกเทศกาลมีตัวเลขผู้เสียชีวิตสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก
 
          สนใจข้อมูลการเลิกเหล้า คลิกที่นี่  ศูนย์ปรึกษาปัญหาสุรา หรือ ปรึกษาเลิกเหล้า โทร. 1413

References

          1. Sabia S, Fayosse A, Dumurgier J, Dugravot A, Akbaraly T, Britton A, et al. Alcohol consumption and risk of dementia: 23 year follow-up of Whitehall II cohort study. Bmj. 2018;362:k2927. Epub 2018/08/03.

          2. World Health Organization. Global status report on alcohol and health, 2014: World Health Organization; 2014.

          3. Rehm J, Mathers C, Popova S, Thavorncharoensap M, Teerawattananon Y, Patra J. Global burden of disease and injury and economic cost attributable to alcohol use and alcohol-use disorders. Lancet. 2009;373(9682):2223-33. Epub 2009/06/30.



คิดให้รอบคอบ มองให้รอบด้าน การดื่มกับภาวะสมองเสื่อม โพสต์เมื่อ 28 สิงหาคม 2561 เวลา 10:31:40 6,067 อ่าน
TOP