เปิดสถิติคนไทย ฆ่าตัวตาย ชั่วโมงละ 2 คน เผยสัญญาณเตือนที่ควรใส่ใจ


          สถิติเผย คนไทยฆ่าตัวตาย กว่าปีละ 4 พันคน เฉลี่ยชั่วโมงละ 2 คน เหตุคุ้นชินการใช้ชีวิตแบบเร่งด่วน เผยสัญญาณเตือนที่คนรอบตัวควรใส่ใจ
สถิติฆ่าตัวตาย

          วันที่ 10 กันยายน 2561 ถือเป็นวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก (World Suicide Prevention Day) ซึ่งจากสถิติทั่วโลก มีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จปีละประมาณ 800,000 คน เฉลี่ย 1 คน ในทุก ๆ 40 วินาที มากกว่าตายจากสงครามและถูกฆ่าตายรวมกัน เกือบร้อยละ 80 อยู่ในประเทศรายได้ต่ำ-ปานกลาง องค์การอนามัยโลกตั้งเป้าจะลดอัตราการเสียชีวิตลงร้อยละ 10 ภายในปี พ.ศ. 2563

          สถานการณ์ของประเทศไทย ทีมวิชาการได้ประมาณการว่า แต่ละปีมีผู้พยายามทำร้ายตัวเองเพื่อฆ่าตัวตายประมาณ 53,000 คน เฉลี่ยชั่วโมงละ 6 คน กระจายอยู่ทุกชุมชน ส่วนใหญ่เป็นวัยแรงงาน โดยในปี 2559 มีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ 4,131 คน หรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 2 คน เป็นชายมากกว่าผู้หญิง 4 เท่าตัว อายุต่ำสุด 10 ปี สูงสุด 100 ปี ส่วนใหญ่เป็นโสด ประเทศต้องสูญเสียเศรษฐกิจปีละกว่า 400 ล้านบาท นอกจากนี้กระทบต่อความมั่นคงและปลอดภัยในจิตใจโดยเฉพาะกับคนใกล้ชิด

          ต้นเหตุ ฆ่าตัวตาย ที่พบบ่อยที่สุด มาจาก 5 เรื่อง คือ ความสัมพันธ์บุคคล, สุรา, ยาเสพติด, สังคม และเศรษฐกิจ ในผู้ชายมักมีปัจจัยความเสี่ยงจากปัญหาโรคทางจิต ดื่มสุรา ใช้ยาเสพติด โดยเฉพาะการดื่มสุรามากขึ้นจะมีโอกาสลงมือทำร้ายตัวเองมากกว่าผู้หญิงที่มีปัญหาถึง 2 เท่า ส่วนในผู้หญิงมักมีสาเหตุมาจากความสัมพันธ์ได้แก่ น้อยใจ ถูกตำหนิดุด่า ผิดหวังความรัก

สถิติฆ่าตัวตาย

          ด้าน นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ขณะนี้สภาพวิถีชีวิตของคนไทยน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะผู้ที่เริ่มคุ้นเคยกับการใช้ชีวิตแบบเร่งด่วน มักจะบอกว่าไม่มีเวลา ไม่อยากรับรู้ ไม่อยากไตร่ตรอง ไม่มีทางเลือกแล้ว เมื่อเผชิญกับแรงกดดันความเครียดต่าง ๆ อาจลงมือแก้ปัญหาแบบหุนหันพลันแล่น มีโอกาสผิดพลาดได้สูง ซึ่งกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ได้แก่ ผู้ที่มีปัญหาจากการดื่มสุราและเสพสารเสพติด ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ผู้ป่วยโรคจิตเภท ผู้ที่เคยฆ่าตัวตายมาแล้ว ผู้ที่มีปัญหาความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด ทั้งหมดนี้มีความเสี่ยงสูงกว่าประชาชนทั่วไปตั้งแต่ 4-100 เท่าตัว

           สำหรับ สัญญาณเตือนก่อนฆ่าตัวตาย ที่คนรอบตัวสามารถสังเกตได้ ประกอบด้วย

          1. ประสบปัญหาชีวิตบางอย่าง

          2. ใช้สุราหรือยาเสพติด

          3. มีประวัติคนในครอบครัวฆ่าตัวตาย

          4. แยกตัว ไม่พูดกับใคร

          5. นอนไม่หลับ

          6. หน้าตาเศร้าหมอง พูดจาด้วยน้ำเสียงวิตกกังวล

          7. ชอบพูดว่าอยากตาย

          8. มีอารมณ์แปรปรวน

          9. เคยพยายามฆ่าตัวตายมาก่อน

          10. มีการวางแผนการฆ่าตัวตายไว้ล่วงหน้า


          สัญญาณเตือนที่เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายในโลกโซเชียล ประกอบด้วย

          1. โพสต์ข้อความสั่งเสียเป็นนัย ๆ เช่น ขอบคุณ ขอโทษ ลาก่อน

          2. โพสต์ข้อความเกี่ยวกับความตาย หรือเขียนประมาณว่า ไม่อยากอยู่อีกต่อไปแล้ว

          3. โพสต์ข้อความเกี่ยวกับความเจ็บปวด ความทุกข์ทรมาน

          4. โพสต์ข้อความว่า รู้สึกผิด ล้มเหลว หมดหวังในชีวิต

          5. โพสต์ข้อความว่า เป็นภาระของผู้อื่น หรือข้อความที่บ่งบอกว่ารู้สึกไร้คุณค่า


          สิ่งที่ควรรีบทำ เมื่อเห็นสัญญาณเตือนเสี่ยงฆ่าตัวตายในโลกโซเชียล

          1. แสดงความช่วยเหลืออย่างเต็มใจ รับฟังปัญหาของเขาอย่างตั้งใจ หรือให้คำแนะนำอย่างจริงใจ

          2. ยอมรับว่าสิ่งที่เขาโพสต์นั้นเป็นปัญหาของเขาจริง ๆ ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น

          3. ให้กำลังใจ คอยอยู่เคียงข้างเขา และทำให้เขาเห็นว่าปัญหานั้นสามารถแก้ไขและผ่านไปได้

          4. พิมพ์ข้อความให้คำปรึกษา ปลอบใจให้เขามีสติ ค่อย ๆ คิดหาทางแก้ไขปัญหา

          5. ชักชวนให้เขาออกมาทำกิจกรรมข้างนอก พยายามอย่าปล่อยให้เขาอยู่คนเดียว

          6. ถ้าไม่ใช่คนในครอบครัว ให้บอกญาติเขาให้ดูแลอย่างใกล้ชิด และพยายามให้เขาอยู่ห่างจากอุปกรณ์ที่เขาอาจเตรียมไว้ทำร้ายตัวเอง

          7. แนะนำช่องทางการขอรับคำปรึกษา เช่น สายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือคลินิกให้การปรึกษา

          8. ติดต่อหาแหล่งช่วยเหลือในพื้นที่เท่าที่จะทำได้ เช่น ผู้นำชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือโรงพยาบาลที่มีจิตแพทย์

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
, เฟซบุ๊ก กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข, ประชาสัมพันธ์กรมสุขภาพจิต

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดสถิติคนไทย ฆ่าตัวตาย ชั่วโมงละ 2 คน เผยสัญญาณเตือนที่ควรใส่ใจ อัปเดตล่าสุด 16 เมษายน 2563 เวลา 11:47:42 14,661 อ่าน
TOP
x close