อ.จุฬาฯ พัฒนาแผ่นแปะฉีดวัคซีนแบบเข็มขนาดจิ๋ว ต้นทุนการผลิตต่ำ ไม่เจ็บเวลาใช้งาน ไม่ต้องให้แพทย์-พยาบาลเป็นผู้ฉีด
เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2561 เว็บไซต์ chula.ac.th รายงานข่าวสารเกี่ยวกับการศึกษาวิจัย
พัฒนานวัตกรรมแผ่นแปะฉีดวัคซีนในรูปแบบเข็มขนาดจิ๋วสำหรับกดลงบนผิวหนัง
ซึ่งทาง ผศ. ดร.วีระยุทธ ศรีธุระวานิช ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล
คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ใช้ระยะเวลาราว 4 ปี
พัฒนาขึ้นจนสำเร็จ จากตัวอย่างแผ่นแปะฉีดวัคซีนในต่างประเทศ
นวัตกรรมดังกล่าว มีข้อดีที่แตกต่างจากแผ่นแปะฉีดวัคซีนของต่างประเทศ คือ ใช้วัสดุที่มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า เนื่องจากทำมาจากสารละลายน้ำตาล สามารถขึ้นรูปในอุณหภูมิต่ำ เช่น อุณหภูมิห้อง น้ำตาลที่ใช้เป็นน้ำตาลมอลโตสที่หาได้ทั่วไป นอกจากนี้ยังสามารถละลายได้เร็ว มีความปลอดภัย และราคาถูก บุคคลทั่วไปสามารถใช้งานได้โดยไม่ต้องให้แพทย์ หรือพยาบาล เป็นผู้ฉีดวัคซีน นอกจากนี้ยังลดปริมาณของวัคซีนที่ใช้กว่า 30%
สำหรับจุดเด่นแผ่นแปะฉีดวัคซีนดังกล่าว ตอบโจทย์ผู้เป็นโรคกลัวเข็มฉีดยา โดยเวลาใช้นั้นจะไม่เจ็บเพราะเป็นเข็มขนาดไม่ถึง 1 มิลลิเมตร จึงไม่โดนเส้นประสาทรับความเจ็บปวด เพียงแปะเข้าไปบริเวณผิวหนังแล้วกดไว้ประมาณ 5 นาที นอกจากนี้ยังสามารถใช้ได้กับวัคซีนทุกชนิด และยังนำไปประยุกต์ใช้ทางด้านการแพทย์ได้หลากหลาย เช่น ใช้ฉีดยาชาสำหรับผู้ที่มีอาการนิ้วล็อก ก่อนที่แพทย์จะฉีดยารักษาโรคนิ้วล็อก รวมทั้งการพัฒนาตัวนำส่งวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้อยู่ในรูปแผ่นแปะขนาดจิ๋วเพื่อลดความเจ็บจากการฉีดยา เป็นต้น
เว็บไซต์ chula.ac.th