x close

สู้โรคได้สบาย ถ้าออกกำลังกายให้ครบสามหมู่

          หากเรามีความเข้าใจการออกกำลังกายแต่ละประเภทอย่างถูกต้อง เราก็จะสามารถเลือกวิธีการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับเป้าหมาย และความต้องการของตนเองได้

          ทุกคนคงเห็นพ้องต้องกันว่าการออกกำลังกายเป็นผลดีต่อสุขภาพ แต่อาจมีคนจำนวนไม่มากที่ทราบว่า การออกกำลังกายที่ทำให้เกิดความสมบูรณ์แข็งแรงของสุขภาพนั้น สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท โดยแต่ละประเภทส่งผลต่อร่างกายแตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ หากเรามีความเข้าใจการออกกำลังกายแต่ละประเภทอย่างถูกต้อง เราก็จะสามารถเลือกวิธีการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับเป้าหมาย และความต้องการของตนเองได้ โดยการออกกำลังกายทั้ง 3 ประเภทมีดังนี้

สสส.

1. การออกกำลังกายเพื่อความสมบูรณ์แข็งแรงของระบบหัวใจและหลอดเลือด (Cardiorespiratory Exercise)

          เป็นการออกกำลังกายที่มีการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ ๆ มีรูปแบบเป็นจังหวะซ้ำ ๆ เช่น การเดิน การวิ่งเหยาะ การปั่นจักรยาน เต้นแอโรบิก พายเรือ ว่ายน้ำ ฯลฯ การออกกำลังกายประเภทนี้จะทำให้ปอด หัวใจ และหลอดเลือดแข็งแรง เพราะระบบในร่างกายจะต้องส่งออกซิเจนไปสู่กล้ามเนื้อให้เพียงพอตลอดเวลา ด้วยเหตุดังกล่าว การออกกำลังกายประเภทนี้สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดตีบได้ ทำให้สมรรถภาพหัวใจดีขึ้น สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ได้มากขึ้น ทำให้ชีพจรเต้นช้าลง ร่างกายของผู้ที่ออกกำลังกายเพื่อความสมบูรณ์แข็งแรงของระบบหัวใจและหลอดเลือด จึงสามารถนำไขมันมาเผาผลาญได้ดีกว่าผู้ที่ไม่ออกกำลังกาย 
 
สสส.

2.  การออกกำลังกายเพื่อความแข็งแรงและความทนทานของกล้ามเนื้อ (Resistance Exercise)

          เป็นกิจกรรมที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของร่างกาย การออกกำลังกายประเภทนี้จะมีการเคลื่อนไหวร่างกายในลักษณะต่าง ๆ โดยอาศัยแรงต้านจากน้ำหนักร่างกายเราเอง เช่น ดันพื้น ดึงข้อ ลุกนั่ง เป็นต้น หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ เข้าช่วย เช่น ดัมเบล ยางยืด เป็นต้น ผู้ที่ออกกำลังกายประเภทนี้ จะมีมวลกล้ามเนื้อมากขึ้น ทำให้เกิดการใช้พลังงานและมีการเผาผลาญพลังงานมากขึ้น

          อย่างไรก็ตาม การออกกำลังกายเพื่อความแข็งแรงและความทนทานของกล้ามเนื้อ มีความเสี่ยงสำหรับผู้ที่มีโรคความดันโลหิตสูง ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์ และหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่มีการเกร็งค้าง เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายได้

สสส.

3. การออกกำลังกายเพื่อความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ (Flexibility Exercise)

          เป็นการเหยียดกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ เอ็น และตามข้อต่อต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างความยืดหยุ่น ทำให้ร่างกายสามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างสะดวก ช่วยลดการบาดเจ็บที่เกิดกับกล้ามเนื้อและข้อต่อ บรรเทาอาการปวดหลังปวดไหล่ บ่า คอ เพิ่มมุมของการเคลื่อนไหวให้ร่างกาย โดยโยคะเป็นรูปแบบที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน การออกกำลังกายเพื่อความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อนี้ ควรทำภายหลังการอบอุ่นร่างกายอย่างดีแล้ว และควรยืดเหยียดให้ถึงสภาวะที่กล้ามเนื้อตึงกำลังดี และไม่ควรกระทำหักโหมเกินไป 

          จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ยังคงต้องปฏิบัติร่วมกับการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ (อย่าลืมสูตร 2:1:1 ผัก 2 เนื้อ 1 แป้ง 1) เพื่อให้เกิดภาวะความสมดุลของพลังงานตามแนวคิด Eat = Burn  หรือถ้าไม่ค่อยแน่ใจว่าออกกำลังกายเท่าไรจึงจะพอ ก็จำสูตรสู้โรคแบบง่ายๆ ว่า อย่างน้อยขอให้ออกกำลังกายได้ความหนักในระดับปานกลางขึ้นไป (ทดสอบได้ด้วยตัวเองตามหลัก Talk Test คือ รู้สึกค่อนข้างเหนื่อย หายใจเร็วกระชั้นขึ้นกว่าปกติแต่ไม่ถึงกับหอบ และยังพอพูดโต้ตอบได้) ครั้งละ 10 นาทีต่อเนื่องกันขึ้นไป และทำให้ได้ยอดรวมอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ จบป่ะ !!
 
         ดูเคล็ดลับ ลดพุง ลดโรค เพิ่มเติมได้ที่ http://www.thaihealthlifestyle.com

สู้โรคได้สบาย ถ้าออกกำลังกายให้ครบสามหมู่ โพสต์เมื่อ 5 ตุลาคม 2561 เวลา 10:52:39 22,099 อ่าน
TOP