โรคกลัวเข็ม (Needle Phobia) กลัวเข็มฉีดยาแค่ไหน ใช่ Phobia !

          กลัวเข็มจนลมจับ เห็นเข็มฉีดยาหรือเข็มเจาะเลือดแล้วหน้าซีด อาการนี้จะหนักถึงโรคกลัวเข็มหรือเปล่า ลองเช็กให้เคลียร์

โรคกลัวเข็ม

          เรามักจะเห็นเด็ก ๆ ร้องไห้จ้าเวลาจะถูกฉีดยา หรือบ้างก็เห็นผู้ใหญ่ตัวล่ำบึ้กหน้าซีดคล้ายจะเป็นลมตอนเห็นเข็มฉีดยาได้เหมือนกัน แล้วแบบนี้จะใช่อาการกลัวเข็มไหม หรือต้องกลัวเข็มแบบไหนถึงจะเข้าข่ายป่วยทางจิตเวช คนกลัวเข็มลองเช็กอาการดู

โรคกลัวเข็ม

          โรคกลัวเข็ม หรือภาษาอังกฤษ คือ Trypanophobia หรือ Needle Phobia จัดเป็นโรคกลัวชนิดเฉพาะเจาะจง โดยถูกบันทึกเป็นอาการทางจิตตั้งแต่ปี ค.ศ. 1994 ทั้งนี้ทางจิตแพทย์ระบุไว้ว่า โรคกลัวเข็มเป็นกลุ่มอาการกลัวหัตถการทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นการฉีดยา เจาะเลือด หรือทุกอย่างที่มีเข็มแหลม ๆ มาเกี่ยวข้อง

โรคกลัวเข็ม

โรคกลัวเข็ม เกิดจากอะไร

          ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าโรคกลัวเข็มเกิดจากอะไรกันแน่ แต่จิตแพทย์ก็ได้สันนิษฐานสาเหตุของโรคกลัวเข็มไว้ ดังนี้

          - เหตุการณ์ในอดีตที่ฝังใจ ซึ่งมักจะเป็นเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบทางจิตใจค่อนข้างมากจนทำให้กลัวเข็ม โดยมักจะเป็นอาการกลัวเข็มตั้งแต่ในวัยเด็ก ลากยาวมาจนโต

          - คนในครอบครัวมีอาการกลัวเข็มให้เห็น จนทำให้รู้สึกกลัวเข็มตามไปด้วย

          - มีความคิดในแง่ลบต่อแพทย์ พยาบาล หรือการทำหัตถการทางการแพทย์

          - การเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมอง

          อย่างไรก็ตาม อาการกลัวเข็มส่วนใหญ่มักจะพบว่าเป็นอาการกลัวที่ฝังใจมาตั้งแต่วัยเด็ก โดยอาจเกิดจากประสบการณ์แย่ ๆ เกี่ยวกับเข็มฉีดยา เพราะส่วนมากอาการกลัวเข็มจะพบได้บ่อยในเด็กอายุ 10 ขวบขึ้นไป ซึ่งเมื่อโตและมีประสบการณ์มาประมาณหนึ่งอาการกลัวเข็มจะหาย แต่ก็เป็นไปได้ที่บางคนจะยังคงกลัวเข็มมาจนปัจจุบัน

โรคกลัวเข็ม อาการเป็นอย่างไร

          ความกลัวเข็มเป็นความกลัวปกติที่ทุกคนมี แต่อาการกลัวเข็มที่หนักขนาดไหนถึงจะเข้าข่ายโฟเบีย ลองเช็กกันเลย

          - เห็นเข็มแล้วเวียนศีรษะ

          - เป็นลม

          - ใจสั่น รู้สึกกระวนกระวายมากเป็นพิเศษ

          - หากทราบล่วงหน้าว่าจะต้องฉีดยาก็จะกังวลใจจนนอนไม่หลับ

          - ความดันโลหิตสูงขึ้นเมื่อเห็นเข็ม และต่อมาความดันโลหิตจะตกจนหน้ามืด เป็นลม

          - มีอาการแพนิกเมื่อเห็นเข็มฉีดยา เช่น มือสั่น ปากสั่น ร้องโวยวาย หรือวิ่งหนี

          สำหรับคนที่มีอาการข้างต้นทุกครั้งที่จะต้องฉีดยา หรือเห็นเข็มฉีดยา เข็มเจาะเลือด ก็ค่อนข้างจะแน่ใจได้ว่า ตัวเองมีภาวะโรคกลัวเข็มที่จัดเป็นโฟเบียชนิดหนึ่งอยู่นะคะ

โรคกลัวเข็ม

วิธีทำให้หายกลัวเข็ม


          อาการกลัวเข็มที่เป็นโรคกลัวชนิดเฉพาะเจาะจง มีวิธีทำให้หายกลัวเข็มตามหลักทางจิตวิทยาอยู่ 2 แนวทางด้วยกัน ดังนี้

    1. การบำบัดจิต ความคิด และพฤติกรรม

          การรักษาโรคกลัวเข็มด้วยวิธีบำบัดจิตนับเป็นการรักษาที่ได้ผลสำหรับโรคกลัวเฉพาะอย่าง โดยวิธีการบำบัดจะช่วยให้ผู้ป่วยปรับความคิด ปรับทัศนคติที่มีต่อสิ่งที่กลัว เพื่อกำจัดความกลัวอย่างไร้เหตุผล

          ทั้งนี้วิธีการบำบัดอาจต้องให้ผู้ป่วยเผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เช่น ไปนั่งดูคนอื่นฉีดวัคซีน ซึ่งจะทำให้เห็นว่าเขายังผ่านการฉีดยามาได้อย่างไม่มีใครเจ็บหรือตายไป หรือไปนั่งดูการหลอกล่อเด็กให้ฉีดยา ซึ่งจะช่วยลดความกลัวเข็มฉีดยาในตัวเองไปด้วย ทว่าการบำบัดจิตจำเป็นต้องใช้เวลาในการบำบัดและฝึกให้ผู้ป่วยคุ้นเคยกับสิ่งที่กลัวอย่างซ้ำ ๆ ดังนั้นผู้ป่วยควรต้องให้ความร่วมมือในการรักษาเป็นอย่างดีด้วยนะคะ

    2. รักษาด้วยยา

          ในรายที่มีอาการกลัวเข็มมาก หรือมีโรคจิตเวชอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกจริต หรือมีการใช้สารเสพติด จิตแพทย์ก็จะให้ยาทางจิตเวชควบคู่ไปกับการบำบัดจิต ความคิด และพฤติกรรม

          หากคุณเป็นโรคกลัวเข็มอย่างจริงจังก็ควรเข้ารับการรักษาโดยจิตแพทย์นะคะ เพราะความกลัวเข็มเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งในการใช้ชีวิต โดยเฉพาะหากเจ็บป่วยขึ้นมาและต้องได้รับการฉีดยา การให้น้ำเกลือ หรือทำหัตถการใด ๆ เพื่อช่วยชีวิต จะได้ไม่มีปัญหาในภายหลัง และทำให้เราดำเนินชีวิตตามปกติได้


ขอบคุณข้อมูลจาก
healthline, verywellmind


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรคกลัวเข็ม (Needle Phobia) กลัวเข็มฉีดยาแค่ไหน ใช่ Phobia ! อัปเดตล่าสุด 19 พฤษภาคม 2564 เวลา 16:09:11 50,070 อ่าน
TOP
x close