ชอบคิดว่าตัวเองไม่สวย เสพติดศัลยกรรมด้วย ระวังป่วยโรคไม่ชอบรูปร่างหน้าตาตัวเอง

          ไม่เคยพอใจในรูปร่างหน้าตาของตัวเองจนต้องหาทางทำศัลยกรรม แต่ทำกี่ครั้ง ผ่ากี่ทีก็ยังคิดว่าตัวเองไม่สวย ไม่หล่อ ส่อเค้าว่าป่วย Body Dysmorphia โรคไม่ชอบหน้าตาตัวเอง

ชอบคิดว่าตัวเองไม่สวย

          หลายคนมองหน้าตัวเองในกระจกแล้วไม่ค่อยจะชอบหน้าตัวเองเท่าไร คิดว่านั่นก็ไม่ดี นี่ก็ไม่เหมาะ มีตังค์เมื่อไรจะศัลยกรรมเปลี่ยนแปลงหน้าตาให้สมใจไปเลย ทว่าลองทำศัลยกรรมก็แล้ว ปรับ เปลี่ยน หน้าตาตัวเองไม่รู้กี่รอบต่อกี่รอบก็ยังชอบคิดว่าตัวเองไม่สวย ไม่หล่อ อยู่ดี แบบนี้ต้องเช็กอาการสักหน่อยแล้วล่ะค่ะว่าเราป่วยโรคไม่ชอบรูปร่างหน้าตาตัวเอง หรือโรค Body Dysmorphia โรคทางจิตเวชชนิดหนึ่งอยู่หรือเปล่า

Body Dysmorphia คืออะไร

          โรคไม่ชอบรูปร่างหน้าตาตัวเอง หรือศัพท์ทางการแพทย์เรียกว่า โรค Body Dysmorphia Disorder (BDD) คือ ภาวะที่ผู้ป่วยมีความคิดหมกมุ่นอยู่กับรูปลักษณ์ของตัวเอง คิดไปเองว่าไม่สวย ไม่หล่อ หรือหน้าตาน่าเกลียด ส่งผลให้ผู้ป่วยมีความวิตกกังวลเป็นอย่างมาก จนอาจกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันได้ ซึ่งทางจิตแพทย์ได้จัดโรคไม่ชอบรูปร่างหน้าตาตัวเองไว้ในกลุ่มโรคย้ำคิดย้ำทำ เนื่องจากผู้ป่วยจะย้ำคิดว่าตัวเองหน้าตาไม่ดีอยู่เรื่อย ๆ และย้ำทำบางอย่างเพื่อเปลี่ยนแปลงหน้าตาตัวเองให้เป็นที่พอใจ หรือบางคนอาจย้ำทำด้วยการส่องกระจกบ่อย ๆ หรือถามคนอื่นย้ำ ๆ ว่าสวยไหม หล่อไหม เป็นต้น

ชอบคิดว่าตัวเองไม่สวย

โรคไม่ชอบรูปร่างหน้าตาตัวเอง เกิดจากอะไร

          ทางจิตแพทย์ได้จำแนกสาเหตุของโรคไม่ชอบรูปร่างหน้าตาของตัวเอง ไว้ดังนี้

          1. พื้นฐานจิตใจของผู้ป่วย ที่ไม่มีความมั่นใจในตัวเองหรือรู้สึกไม่มีคุณค่าในตนเอง

          2. อาจเกิดจากค่านิยมของครอบครัว ที่ให้ความสำคัญกับรูปร่างหน้าตาเป็นอันดับต้น ๆ ส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดปมในใจ และผลักดันให้เขารู้สึกกังวลถึงหน้าตาตัวเองมากเป็นพิเศษ

          3. สังคมและสิ่งแวดล้อม อิทธิพลของการโฆษณาที่มีการเน้นย้ำถึงความสวยความงามก็เป็นสาเหตุหนึ่งได้เช่นกัน

          4. ปมจากการถูกล้อเลียนในวัยเด็ก อาจส่งผลให้ผู้ป่วยรู้สึกกังวลในรูปร่างหน้าตาตัวเองมากกว่าด้านอื่น ๆ

ชอบคิดว่าตัวเองไม่สวย

ชอบคิดว่าตัวเองไม่สวย ขั้นไหนเรียกว่าป่วยทางจิต

          โดยปกติคนเรามักจะมองเห็นความบกพร่องของตัวเอง และอาจมีการปรับเปลี่ยนหรือปกปิดความบกพร่องนั้นให้รู้สึกดีขึ้น อย่างการแต่งหน้าหรือทำศัลยกรรม ซึ่งก็เป็นสิ่งที่คนทำกันทั่วบ้านทั่วเมือง ดังนั้น อาการไหนล่ะที่จะบ่งชี้ถึงภาวะชอบคิดว่าตัวเองไม่สวย หรือภาวะของโรค BDD ได้ ลองเช็กสัญญาณเหล่านี้ดูค่ะ

          1. ส่องกระจกบ่อย ๆ โดยเฉลี่ยจะใช้เวลาในการส่องกระจกประมาณ 3-8 ชั่วโมงต่อวัน

          2. ถามคนรอบข้างถึงรูปร่างหน้าตาตัวเองซ้ำ ๆ ด้วยความกังวล

          3. มีความคิดอยากจะเปลี่ยนแปลงหน้าตาตัวเองตลอดเวลา

          4. ใช้เวลาในการแต่งหน้านานมาก ๆ และมักจะไม่กล้าออกไปไหนมาไหนหากไม่ได้แต่งหน้า แต่งตัว

          5. ทำศัลยกรรมบ่อย และแม้จะทำจนสวยแล้วก็ยังคิดว่าไม่พอ อยากทำศัลยกรรมเพิ่มอีก

          6.
คิดมากว่าตัวเองไม่สวย ไม่หล่อ ไม่มีความมั่นใจในหน้าตาตัวเองจนหลีกเลี่ยงการเข้าสังคม

          7. นอนไม่หลับ เพราะเครียดเรื่องหน้าตาตัวเองต่อเนื่องกว่า 6 เดือน

          ที่สำคัญอาการไม่มั่นใจในรูปร่างหน้าตาตัวเอง อาการคิดว่าตัวเองไม่สวย ไม่หล่อ ต้องเป็นอุปสรรคในการดำเนินชีวิต กล่าวคือ มีพฤติกรรมกังวลเกี่ยวกับหน้าตาตัวเองจนไม่เป็นอันทำอะไร ไม่กล้าออกไปไหนเพราะอายหน้าตาตัวเอง หรือบางคนต้องลางาน ลาเรียน เพื่อไปทำศัลยกรรมแบบไม่หยุดหย่อน ลักษณะนี้จึงจะเรียกว่าเข้าข่ายมีอาการทางจิตเวช

          แต่หากเป็นการทำศัลยกรรมเพื่อความสวยให้ตัวเองบ้างเล็กน้อย เมื่อสวยแล้วก็พอใจ ไม่ทำอีก ไม่รู้สึกกังวลถึงความบกพร่องนั้นอีก แบบนี้ก็ไม่จัดว่าเป็นโรคค่ะ

ชอบคิดว่าตัวเองไม่สวย

โรคคิดว่าตัวเองไม่สวย เกิดในวัยไหนมากที่สุด


          โรค Body Dysmorphia Disorder (BDD) พบผู้ป่วยเฉลี่ยร้อยละ 34 โดยพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ที่สำคัญยังพบโรค BDD มากในคนโสดอายุ 15-30 ปี ทั้งนี้ จะพบอาการของโรคไม่ชอบรูปร่างหน้าตาตัวเองได้ตั้งแต่อายุ 13-15 ปี เป็นต้นไป

          อย่างไรก็ตาม นพ.ธิติพันธ์ ธานีรัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครสวรรค์ราชนครินทร์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า จากสถิติปัจจุบันนี้จะพบผู้ป่วยโรค BDD ที่เป็นเพศชายเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าตัว คิดเป็นร้อยละ 20-25 ของผู้ป่วยโรค BDD เลยทีเดียว

ชอบคิดว่าตัวเองไม่สวย

โรคคิดว่าตัวเองไม่สวย รักษาได้ไหม

          โรคทางจิตเวชทุกโรคสามารถรักษาได้ โดยเบื้องต้นหากรู้สึกว่าตัวเองมีความผิดปกติ มีความกังวลในรูปร่างตัวเองมากจนเครียด และส่งผลต่อการดำเนินชีวิต ก็ควรไปปรึกษาจิตแพทย์ เพื่อให้จิตแพทย์ประเมินอาการและดำเนินการรักษาตามความเหมาะสม

          ทั้งนี้ การรักษาโรคไม่ชอบรูปร่างหน้าตาตัวเอง แพทย์อาจให้ยาในกลุ่มคลายความกังวล ยาต้านเศร้า และอาจรักษาร่วมกับการบำบัดพฤติกรรม ซึ่งแนวทางการรักษาในแต่ละเคสก็อาจจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยและความร่วมมือของผู้ป่วยเป็นสำคัญ

          หากเช็กอาการแล้วรู้สึกได้ถึงความไม่ปกติของจิตใจตัวเอง อย่าอายที่จะปรึกษาจิตแพทย์นะคะ และแม้จะมีอาการเพียงไม่กี่ข้อ แต่หากรู้สึกไม่สบายใจก็ลองปรึกษาจิตแพทย์เพื่อความสบายใจของตัวเองก็ได้ เพราะหากรู้ตัวว่าป่วยแต่ไม่ยอมไปรักษา อาการอาจลุกลามไปถึงโรคซึมเศร้า หรือรู้สึกอยากทำร้ายตัวเองได้เลย ดังนั้น อย่าให้ตัวเองไปไกลถึงจุดนั้นจะดีกว่า

ขอบคุณข้อมูลจาก
Thaipbs, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ชอบคิดว่าตัวเองไม่สวย เสพติดศัลยกรรมด้วย ระวังป่วยโรคไม่ชอบรูปร่างหน้าตาตัวเอง อัปเดตล่าสุด 1 ตุลาคม 2563 เวลา 17:42:34 13,347 อ่าน
TOP
x close