12 คำถามวัคซีนหัดเยอรมัน ฉีดกี่ครั้ง ป้องกันได้กี่ปี

          โรคหัดเยอรมันป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน แล้ววัคซีนหัดเยอรมันราคาแพงไหม ฉีดกี่เข็ม เคยฉีดแล้วต้องฉีดกระตุ้นอีกหรือเปล่า สารพัดคำถามเกี่ยวกับโรคหัดเยอรมันที่เราหาคำตอบมาให้แล้ว
รวมคำถาม วัคซีนหัดเยอรมัน

        โรคหัดเยอรมันเป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจ ซึ่งสามารถติดต่อกันได้ง่าย เพียงสัมผัสไอ จาม หรือรับลมหายใจของผู้ที่ติดเชื้อไวรัสหัดเยอรมันเข้าไป และด้วยความที่โรคหัดเยอรมันสามารถแพร่กระจายได้ง่ายไม่ต่างจากโรคหวัดทั่วไป ดังนั้นจึงมีการคิดค้นวัคซีนหัดเยอรมันขึ้นมา เพื่อใช้ป้องกันการติดต่อของโรคนี้ ว่าแต่วัคซีนหัดเยอรมันมีรายละเอียดอย่างไร หลาย ๆ ข้อข้องใจเกี่ยวกับวัคซีนหัดเยอรมันจะถูกเปิดเผยอย่างกระจ่างแจ้ง ณ ตรงนี้

1. วัคซีนหัดเยอรมัน คืออะไร รู้จักกันหน่อย

        วัคซีนที่ใช้ป้องกันโรคหัดเยอรมันมีชื่อว่า MMR ซึ่งเป็นวัคซีนที่มีคุณสมบัติป้องกันได้ถึง 3 โรคด้วยกัน ได้แก่ โรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน โดยวัคซีน MMR จะถูกผสมรวมกันในอัตราที่เหมาะสมเพื่อนำมาฉีดป้องกันโรคหัด คางทูม และหัดเยอรมันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2. วัคซีนหัดเยอรมัน ฉีดตอนไหน

        กระทรวงสาธารณสุขมีการรณรงค์ให้ฉีดวัคซีนหัดเยอรมันมาหลายสิบปีแล้ว โดยถือเป็นวัคซีนพื้นฐานที่อย่างน้อยต้องได้ฉีด 2 ครั้ง โดยเข็มแรกควรฉีดตั้งแต่อายุ 9-12 เดือน ส่วนเข็มที่ 2 แนะนำให้ฉีดเมื่ออายุครบ 2 ขวบครึ่ง หรือในเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ก็ควรได้รับการฉีดวัคซีนหัดเยอรมันเข็มที่ 2 ให้ครบถ้วนด้วยเช่นเดียวกัน

        ทั้งนี้ในกรณีที่เด็กอายุ 9 เดือนไม่ได้รับการฉีดวัคซีนหัดเยอรมัน ควรให้เข้ารับการฉีดวัคซีนหัดเยอรมันให้เร็วที่สุด และควรได้รับการฉีดวัคซีนหัดเยอรมันเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรกอย่างน้อย 1 เดือน

        สำหรับผู้ใหญ่ที่ไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนหัดเยอรมัน ให้ฉีดวัคซีนหัดเยอรมันเข็มแรก หลังจากนั้น 1 เดือนผ่านไปให้ฉีดวัคซีนหัดเยอรมันเข็มที่ 2 อีกครั้ง

รวมคำถาม วัคซีนหัดเยอรมัน

3. วัคซีนหัดเยอรมัน ฉีดกี่ครั้งถึงป้องกันได้

        ตามเกณฑ์ที่ทางกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดไว้เพื่อความปลอดภัยต่อโรคหัดเยอรมัน เราควรได้รับการฉีดวัคซีนหัดเยอรมันทั้งหมด 2 เข็ม ตั้งแต่ในวัย 9 เดือนจนอายุไม่เกิน 7 ขวบ ทว่าในกรณีที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อนในวัยเด็ก โดยเฉพาะกับหญิงวัยเจริญพันธุ์ที่ร่างกายแข็งแรงดี ควรได้รับวัคซีนหัดเยอรมัน (MMR) อย่างน้อย 1 ครั้ง เพื่อป้องกันโรคหัดเยอรมัน และในส่วนบุคลากรทางการแพทย์ทุกคนที่ยังไม่เคยรับวัคซีน MMR มาก่อน ก็ควรได้รับวัคซีนหัดเยอรมันโดยเร็วที่สุด

4. วัคซีนหัดเยอรมัน ฉีดซ้ำได้ไหม

        ในกรณีที่ไม่มั่นใจว่าเราเคยฉีดวัคซีนหัดเยอรมันไปแล้วหรือยัง สามารถไปฉีดวัคซีนหัดเยอรมันซ้ำได้โดยไม่มีอันตรายใด ๆ ค่ะ และปัจจุบันวัคซีนหัดเยอรมันก็เป็นวัคซีนรวมที่มีประสิทธิภาพป้องกันได้ถึง 3 โรค คือ โรคหัด คางทูม และหัดเยอรมันเลยล่ะ

5. วัคซีนหัดเยอรมัน อยู่ได้กี่ปี

        วัคซีนหัดเยอรมันเป็นเชื้อที่ไปกระตุ้นภูมิต้านทานในร่างกาย ซึ่งหากเคยฉีดแล้วร่างกายก็จะมีภูมิต้านทานต่อโรคหัดเยอรมันไปได้ตลอดชีวิต ไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิอีกรอบก็ได้

6. วัคซีนหัดเยอรมัน ป้องกันโรคเลยไหม

        ตัววัคซีนจะสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายหลังฉีดวัคซีนไปแล้ว 2 สัปดาห์ ดังนั้นหากมีแพลนจะไปเที่ยวไหนที่มีข่าวว่าโรคหัดเยอรมันกำลังระบาด ก็ควรวางแผนฉีดวัคซีนหัดเยอรมันก่อนออกเดินทางสัก 2 สัปดาห์ขึ้นไปนะคะ

รวมคำถาม วัคซีนหัดเยอรมัน

7. วัคซีนหัดเยอรมัน หญิงตั้งครรภ์ฉีดได้ไหม

        หญิงตั้งครรภ์ไม่ควรได้รับการฉีดวัคซีนหัดเยอรมันเนื่องจากอาจกระทบกับทารกในครรภ์ เสี่ยงให้เกิดภาวะพิการกับเด็กได้ ดังนั้นก่อนตั้งครรภ์ควรมีการวางแผนครอบครัวและควรได้รับการฉีดวัคซีนที่จำเป็นก่อนแต่งงานหรือมีบุตรอย่างน้อย 3 เดือนขึ้นไป

8. วัคซีนหัดเยอรมัน ตั้งครรภ์หลังฉีดอันตรายไหม

        ในกรณีที่พบว่าตัวเองตั้งครรภ์หลังจากฉีดวัคซีนไปแล้ว 28 วัน ทารกในครรภ์อาจมีความเสี่ยงได้รับเชื้อจากวัคซีน ทว่าก็ยังไม่เคยมีรายงานทางการแพทย์ถึงความผิดปกติแต่กำเนิดของทารกในครรภ์ที่เกิดจากการรับวัคซีนหัดเยอรมัน ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องทำแท้งนะคะ

9. วัคซีนหัดเยอรมัน ผลข้างเคียงเป็นอย่างไร

        หลังจากฉีดวัคซีนหัดเยอรมันแล้วอาจมีอาการปวด บวม แดง บริเวณที่ฉีด ในอัตราร้อยละ 10 ส่วนอาการมีไข้ ผื่นขึ้น หรือปวดข้อร่วมด้วยพบได้ร้อยละ 5 นอกจากนี้ยังพบอาการชักจากไข้สูง ภาวะเกล็ดเลือดต่ำภายหลังรับวัคซีน หรือภาวะสมองอักเสบภายหลังรับวัคซีนเพียง 1 รายใน 2 ล้านโดสเท่านั้น

รวมคำถาม วัคซีนหัดเยอรมัน

10. วัคซีนหัดเยอรมัน ใครไม่ควรฉีดบ้าง

        แม้จะเป็นวัคซีนพื้นฐานที่เด็กทุกคนควรได้รับตั้งแต่เยาว์วัย แต่กระนั้นก็มีข้อห้ามใช้ในบุคคลที่มีอาการหรือมีภาวะดังต่อไปนี้

        * ผู้ที่แพ้วัคซีนเข็มแรกอย่างรุนแรง โดยมีอาการหน้าซีด หัวใจเต้นเร็ว มึนงง หลอดลมตีบ หายใจลำบาก และอาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิต บุคคลที่มีอาการแพ้เช่นนี้ไม่ควรได้รับวัคซีนหัดเยอรมันเข็มที่ 2

        * ผู้มีประวัติแพ้ยาปฏิชีวนะบางชนิดอย่างรุนแรง เช่น นีโอมัยซิน หรือแพ้เจลาติน จำเป็นต้องแจ้งอาการแพ้ให้แพทย์ทราบ เพื่อที่แพทย์จะได้เลือกวัคซีนหัดเยอรมันที่ปราศจากสารก่อให้เกิดอาการแพ้ได้

        * ผู้ที่ได้รับยาสเตียรอยด์ขนาดมากกว่าหรือเท่ากับ 2 มก./กก./วัน หรือมากกว่าหรือเท่ากับ 20 มก./วัน ต่อเนื่องนานกว่า 14 วัน ผู้ป่วยเหล่านี้ควรงดรับวัคซีนหัดเยอรมันจนกว่าจะครบ 1 เดือนหลังหยุดยาสเตียรอยด์

        * สตรีตั้งครรภ์ ซึ่งอาจกระทบกับทารกในครรภ์ตามที่บอกไปเบื้องต้นได้

        * ผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยรุนแรง หรือผู้ที่กำลังมีไข้

        * ผู้ป่วยโรคระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง โดยเฉพาะโรคเอดส์ที่มีอาการเต็มขั้น หรือมีค่า CD4 ต่ำกว่าร้อยละ 15

        * คนไข้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกันเป็นเวลานาน

        * ผู้ที่ได้รับพลาสมา อิมมูโนโกลบูลิน หรือผลิตภัณฑ์เลือด ควรต้องเลื่อนการรับวัคซีนออกไป 3-11 เดือน ขึ้นอยู่กับชนิดและขนาดของผลิตภัณฑ์ที่ได้รับ

        * ผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวให้ฉีดวัคซีนในช่วง remission และหยุดทำคีโมมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน

หัดเยอรมัน

11. วัคซีนหัดเยอรมัน ราคาเท่าไร

        เนื่องจากวัคซีนหัดเยอรมันหรือ MMR เป็นวัคซีนขั้นพื้นฐาน ราคาวัคซีนหัดเยอรมันจึงค่อนข้างถูก โดยวัคซีนหัดเยอรมัน ราคาจะตกอยู่ที่ 400-1,500 บาทต่อเข็ม (ราคานี้รวมค่าบริการทางการแพทย์เรียบร้อยแล้ว) ขึ้นอยู่กับสถานพยาบาลที่เข้ารับบริการ ซึ่งหากเป็นโรงพยาบาลรัฐราคาก็จะถูกกว่าโรงพยาบาลเอกชน

12. วัคซีนหัดเยอรมัน ฉีดที่ไหนดี

        เราสามารถรับบริการฉีดวัคซีนหัดเยอรมันได้ทุกโรงพยาบาล เนื่องจากวัคซีนหัดเยอรมันเป็นวัคซีนพื้นฐานที่เด็กแรกเกิดควรได้รับ ซึ่งหากว่าสะดวกและใกล้โรงพยาบาลไหนก็สามารถโทร. ไปสอบถามค่าบริการการฉีดวัคซีนหัดเยอรมันได้เลยค่ะ

        ในเมื่อโรคหัดเยอรมันเป็นโรคที่ป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนหัดเยอรมัน ใครที่กำลังจะไปเที่ยวต่างแดน หรือไปยังพื้นที่ที่มีโรคหัดเยอรมันระบาดอยู่ก็ควรไปรับการฉีดวัคซีนหัดเยอรมันนะคะ เว้นเสียแต่ว่าในกรณีที่จำได้ว่าตอนเด็กเคยฉีดวัคซีนหัดเยอรมันไปแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องไปรับวัคซีนหัดเยอรมันอีก


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, คลินิกนักท่องเที่ยว โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, สถานเสาวภา สภากาชาดไทย

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
12 คำถามวัคซีนหัดเยอรมัน ฉีดกี่ครั้ง ป้องกันได้กี่ปี อัปเดตล่าสุด 6 พฤศจิกายน 2561 เวลา 14:40:20 74,180 อ่าน
TOP
x close